ดราม่าเกิดจากอะไร?
ดราม่าส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณของผู้บริโภคหรือลุกค้าที่ได้ไปใช้บริการหรือมีประสบการณ์ของสินค้าหรือบริการของธุรกิจต่างๆ และอาจจะเกิด “ความไม่พอใจ” หรือ “ความสงสัย” ซึ่งเมื่อนำมาเล่าต่อ หรือบอกต่อในโลกออนไลน์ แล้วทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ต่อจากคนอื่นๆ ในโลกออนไลน์ จนกระจายออกทั่วในโลกออนไลน์ และบางครั้ง กระจายออกไปยังสื่ออื่นๆ ด้วย เช่นทางทีวี หนังสือพิมพ์ เพราะทุกวันนี้สื่อต่างๆ หาข้อมูลจากช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ส่วนใหญ่ “ดราม่าเกิดขึ้นอย่างรุนแรง มันจะเกิดจากการถูกพูดถึงและบอกต่อออกไปจำนวนมาก ทำให้ดราม่าเหตุการณ์นั้นๆ มีโอกาสจะออกไปยังสื่ออื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ซึ่งจะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อแบรนด์และธุรกิจอย่างมาก จนเกิดคาดเดาเลยทีเดียว ดังนั้น การจัดการ และบริหารดราม่า ควรจะทำตั้งแต่เราเห็นในตอนต้น ไม่ใช่ว่าปล่อยปะละเลยจนเหตุการณ์เลยเถิดไปกันใหญ่
- เมื่อเกิดดราม่าขึ้นแล้ว รีบรวบรวมข้อมูลทั้งหมด ในทุกช่องทางที่พูดถึง วิเคราะห์ปัญหา แยกประเด็น และตรวจสอบความรุนแรง ผลกระทบกับธุรกิจ รวมถึงการกระจายตัวของข้อมูลว่าออกไปที่ไหนแล้วบ้าง เข้าถึงกลุ่มคนกลุ่มไหนไปแล้วบ้าง และแยกให้เห็นว่า มีใครบ้างอยู่ในเรื่องราวนี้ เพื่อดูแนวทางแก้ไข ไปยังกลุ่มหรือคนที่ถูกต้อง นัดทีมงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาร่วมหาแนวทาง
- อย่าไปโต้ตอบ หรือตอบคำถามในโลกออนไลน์แบบไร้หลักการ การจะตอบหรือให้ข้อมูลอะไร ควรจะมีแผน และมีแนวทางที่ชัดเจนก่อน จะสื่อสารอะไรออกไป เพราะข้อมูลที่พูดไป อาจจะมีผลต่อไปในภายหลัง ดังนั้นวางแผนให้ดีก่อนจะสื่อสารอะไรออกไป แต่ในขณะเดียวกัน คนในโลกออนไลน์ก็ต้องการคำตอบและการตอบสนองอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราสามารถแจ้งไปก่อนได้ว่า ได้รับทราบข้อมูลแล้ว จะรีบกลับมาให้ข้อมูลเติมเร็วที่สุด คนที่ตอบควรจะมีไม่กี่คน และหากเป็นองค์กรที่มีคนหลายๆ ควรแจ้งให้ทุกคนระมัดระวังการให้ข้อมูลหรือพูดอะไรออกไปในช่องทางออนไลน์ของตน
- การตอบคำถามควรตอบให้ตรงประเด็นที่มีข้อสงสัย หรือมีปัญหา อย่างไปพูดเรื่องอะไรที่ไม่เกี่ยวข้อง และควรจะอธิบายเรื่องยากๆ ให้เป็นเรื่องง่ายๆ หากมีภาพ ข้อมูลประกอบ หรือหลักฐานควรเอามาประกอบ (อย่างสร้างหลักฐานปลอมขึ้นมาเป็นอันขาด) หรือจะใช้การให้คำถามผ่านทาง VDO หรือ Youtube ในการอธิบายเรื่องราวก็ได้
- หากพบว่าเราไม่ผิด และอาจจะเป็นการเข้าใจผิด : พยายามหาข้อมูล หลักฐานที่เกี่ยวข้อง นำมาประกอบการให้ข้อมูล หรือมีบุคคลที่ 3 ที่มีความน่าเชื่อถือมาให้ข้อมูลเพิ่ม เพื่อยืนยันได้ด้วยเช่นกัน
- หากพบว่าเราผิดจริง ขอให้ขอโทษจากใจจริง “ยอมรับผิด แจ้งว่าปัญหาเกิดจากอะไร และบอกวิธีการแก้ไขปัญหานี้ว่าว่าเราจะแก้ไขอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอีกในอนาคต” อย่าไปเถียงและแถต่อ เพราะมันจะทำให้ปัญหาไม่จบ หลายกรณีที่สามารถ “พลิกเกมส์” ได้ เปลี่ยนจากโดนด่า มาเป็นได้ใจจากจากคนอื่นไปเช่นกัน เพราะจากการยอมรับผิด จริงใจที่จะแก้ปัญหา มีหลายกรณีที่เกิดดราม่ายืดเยื้อ เพราะเราไม่ยอมรับผิด แถไปเรื่อย ยิ่งทำแบบนี้จะยิ่งทำให้ปัญหามันบานปลายออกไปอีก
- คนที่จะออกมาพูดควรจะเป็นคนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่หากปัญหาใหญ่มาก ควรจะเป็น ผู้นำสูงสุดของบริษัท หรือคนที่เป็นหน้าเป็นตาบริษัทออกมาสื่อสาร เพราะจะทำให้คนเข้าใจและยอมรับมากขึ้น
- การตอบคำถามหรือให้ความกระจ่างชัดควรจะทำที่สื่อของตัวเอง และติดตามไปตอบในทุกๆ แหล่งข้อมูลที่มีการพูดถึงเรื่องนี้ เพราะหากปล่อยไว้ อาจจะสร้างความเข้าใจผิดกับคนอื่นๆ ที่อ่านในภายหลังได้
- ระวังอย่าให้เกิดปัญหานี้ซ้ำ เพราะมันจะทำให้ครั้งที่สอง ปัญหามันจะหนักกว่าครั้งแรก และความน่าเชื่อถือของคุณจะหมดลงไปทันที
- ดราม่าส่วนใหญ่ ใช้เวลาไม่เกิน 1-2 อาทิตย์แล้วมันก็ซาไป แต่อย่าปล่อยปะละเลย ควรจะแก้ปัญหาอย่างเต็มที่
- วางแผนนโยบายให้ชัดเจนถึงแนวทางในการพูดคุยสื่อสาร และเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี อย่าไปเถียงหรือใช้อารมณ์
- มีทีมงานดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมกำหนดแนวทางคำตอบและระยะเวลาการตอบกลับคำถาม หรือข้อสงสัยให้เป็นมาตราฐาน
- สร้างตัวตนของแบรนด์เข้าไปอยู่ในคอมมูนิตี้ที่กลุ่มเป้าหมายอยู่ เพื่อคอยให้ข้อมูลและตอบคำถาม เช่นในเว็บไซต์ Pantip มีหลายธุรกิจเข้าไปสร้างตัวตนไว้แล้ว ได้แก่ AIS , Fuji , KFC , K888 (Kbank) เป็นต้น
- ใช้เครื่องมือในการมอนิเตอร์ และติดตามการพูดถึงแบรนด์อย่างใกล้ชิด เช่น ZocialEye.com , Google Alert หรืออื่นๆ เพื่อให้เห็นว่ามีคนพูดถึง แบรนด์หรือสินค้าเราอย่างไรบ้าง และเมื่่อเจอเราจะได้แก้ก่อนที่ปัญหาจะบานปลายไป
เพิ่มเติม เห็นข้อมูลนี้มาจาก ดร.เสรี วงศ์มณฑา เกี่ยวกับกรณีน้ำมันรั่ว ปตท. สามารถนำมาใช้กับการจัดการดราม่าได้เช่นกันครับ
ไม่น่าเชืีอว่าบริษัท world class อย่าง ปตท. ที่น่าจะมีฝ่ายประชาสัมพันธ์ที่เก่งกาจจะพลาดท่าในการบริการวิกฤตเรื่องน้ำมั่นรั่ว เพราะไม่ได้ทำตามหลักการแม้แต่น้อย
- ขั้นตอนแรกคือ acknowledge. คือการออกมาแสดงการรับรู้ว่ามีวิกฤติเกิดขึ้น
- ขั้นตอนที่สองคือ admit ต้องออกมายอมรับความผิดพลาดที่เกิดขี้นและแสดงความเสียใจ
- ขั้นตอนที่สามคือ apologize. กล่าวคำขอโทษด้วยความจริงใจที่ก่อให้เกิดปัญหา
- ขั้นตอนที่สี่คือ amend. แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ด้วยความจริงใจ จริงจัง รวดเร็ว
- ขั้นตอนที่ห้า allowance. พิจารณาแนวทางในการชดเชยผู้เสียหายอย่างน้อยตามบทกำหนดของกฎหมายและในบางครั้งอาจจะต้องมีการแสดงน้ำใจเพิ่มเติมให้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด
- ขั้นตอนที่หก alternate มีอะไรที่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีกต้องแจ้งให้ทราบ
- ขั้นตอนที่เจ็ด aftermath. มีอะไรที่ต้องทำหลังจากแก้วิกฤติเสร็จแล้ว เช่นต้องขอบคุณใครบ้าง ต้องออกมาแถลงอะไรบ้าง
สิ่งที่สำคัญ
1. เบอร์หนึ่งขององค์กรต้องปรากฎตัว
2. ต้องตั้งโฆษก
3. ต้องมีศูนย์ทำงานให้สื่อ
4. ต้องตั้ง war room เพื่อทำงานในภาวะวิกฤต
5. ต้องให้ข้อมูลแบบ update เป็นระยะๆว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง ตั้งใจจะทำอะไรเพื่ออะไร สิ่งที่แก้ไขไปได้แล้ว
6. พร้อมที่จะตอบคำถามสื่อมวลชนเพื่อไม่ให้เกิดข่าวลือ
7. อย่าปล่อยให้ความรู้อยากเห็นของประชาชนไร้คำตอบ เพราะถ้าหากไม่มีข้อเท็จจริงเป็นตำตอบจะก่อให้เกิดข่าวลือที่ไม่เป็นผลดีกับบริษัท
8. ต้องมีบุคคลภายนอกที่น่าเชื่อถือมาเป็นthird party endorsers. เพราะบางเรื่องพูดเองไม่น่าเชื่อถือ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้รักษากฎเข้ามาช่วยพูด
9. ทุกข่าวสารที่ออกมาจะต้องมีความคงเส้นคงวาปราศจากความขัดแย้ง
10. ตามหลักการสื่อสารในภาวะวิกฤตจะต้องhit first. Hit hard hit often