คุณรู้ไหมว่าปัจจุบันมูลค่าตลาดของสินค้าและบริการ (GDP) ประเทศไทยอยู่ที่ 11 ล้านๆ บาท หลายๆ คนอาจจะเข้าใจว่า เศรษฐกิจประเทศเราถูกขับเคลื่อนด้วยบริษัท หรือองค์กรขนาดใหญ่ คำตอบอาจถูกส่วนหนึ่ง แต่คุณรู้ไหมว่า 37% ของ GDP มาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดย 25% มาจากธุรกิจขนาดย่อม (S) ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านบาทเลยทีเดียวทีนี้คุณจะเข้าใจเลยว่า ธุรกิจขนาดเล็กๆ เช่น ขายข้าวแกง, ร้านขายกาแฟเล็กๆ หรือแม้แต่ธุรกิจในชุมชนห่างไกล ก็ล้วนแต่มีผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทยทั้งนั้น (ส่วนใหญ่จะคิดว่ามี แทบไม่มีผลเลย) แต่คุณเชื่อไหมว่าโอกาสที่บริษัทขนาดเล็กจะมีโอกาสอยู่รอดได้เพียงแค่ 5% เท่านั้นเอง นั้นหมายถึง 95% ของธุรกิจขนาดเล็กปิดตัว หรือไม่สามารถอยู่รอดได้ คุณรู้ไหมว่าสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจชุมชนล้มเหลวเกิดจาก 3 ส่วนใหญ่ๆ ด้วยกัน
3 สาเหตุที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจชุมชนล้มเหลว
1. สินค้าและบริการ (Product & Service)
สินค้าของธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจชุมชน มักเป็นสินค้าที่ซื้อมาขายไป หรือเป็นการแปรรูปสินค้าจากวัสดุในท้องถิ่นโดยที่หลายๆ ครั้งที่เรามักเห็นการก๊อปปิ้กันของบันดาของสินค้าในละแวกเดียวกัน เช่น ไปเพชรบุรี เราก็จะเจอขนมหม้อแกงเหมือนกันเต็มไปหมด และสินค้าหรือบริการต่างๆ เหล่านี้จะมีวิธีการตกทอดกันมาแต่ช้านาน จากรุ่นสู่รุ่น และมักไม่ได้มีการพัฒนา ต่อยอด หรือค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติม (Research & Development) ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรแตกต่างจากคนอื่น เมื่อคุณขายของเหมือนคนอื่น ทางเดียวที่แข่งขันได้คือการ “ลดราคา” ดังนั้นเมื่อแข่งกันลดราคา ก็ทำให้คนขายต่างเจ็บตัวไปพร้อมๆ กัน และนี้คือสาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการ ล้มเหลวเพราะไม่สามารถปรับตัวได้และสร้างความแตกต่างได้นั้นเอง
2. ด้านการขายและการตลาด (Sale & Marketing)
หลายครั้งที่เราพบกว่าหลายๆ ธุรกิจมีสินค้าที่ดี มีการจัดการที่ดี เจ้าของกิจการเป็นคนเก่งในด้านนั้นๆ แต่ก็ยังพบกับความล้มเหลวของธุรกิจ เพราะเก่งและดีทุกอย่าง แต่ไม่มีกลยุทธ์การขายและการตลาด จึงทำให้สินค้าที่มี ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือผู้บริโภคได้ เมื่อลูกค้าเราไม่รู้จัก ไม่เห็น เค้าไม่ซื้อ ดังนั้นการวางแผนกลยุทธ์การขาย และการทำการตลาดเพื่อให้คนรู้จักสินค้าของคุณจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากๆๆๆๆ เลยทีเดียว
3. การดำเนินธุรกิจ (Operation & Management)
การจัดการบริหารธุรกิจ เงินทุน การจัดการด้านต้นทุนต่างๆไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน เงินบริหารจัดการ (Operation Cost) หรือต้นทุนของสินค้า (Cost) และรวมถึง การวางกลยุทธ์ในการทำธุรกิจ (Strategy) การวางแผน (Planning) ในการทำธุรกิจว่า จะต้องทำอะไรบ้างในอนาคต หรือแม้แต่การจัดการเรื่องคน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ผู้ธุรกิจขนาดเล็กแทบไม่เคยมีการวางแผนสิ่งเหล่านี้เลย พอถึงเวลาลุยก็ลุยไปข้างหน้า และเมื่อไม่ได้วางแผนอะไรไว้ ก็ไม่รู้ว่า แต่วัน แต่ละอาทิตย์ เราต้องทำอะไรเท่าไร เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย นี้คือสาเหตุหลังที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถตเติบโตได้ เพราะทำไปเรื่อยๆ ขาดเป้าหมายหรือตัวชี้วัด (KPI) ซึ่งทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจที่เพิ่งเริ่มต้นไม่สามารถอยู่รอดได้ในช่วง 1-2 ปีแรกๆ และคำถามต่อไป “แล้วเราจะทำอย่างไรถึงจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจชุมชนต่างๆ สามารถอยู่รอดได้ ผมมีเทคนิคและวิธีการมาแบ่งปัน
3 ขั้นตอนที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต
1. สร้างสินค้า-บริการที่แตกต่างจากคนอื่นๆ (Differentiate)
หลายๆ คนมักจะขายสินค้าและบริการที่เหมือนๆ กันกับคนอื่นๆ เมื่อสินค้าของคุณไปเหมือนคนอื่น คู่แข่งก็เยอะเป็นเงาตามตัว ทำให้โอกาสการแข่งขันและการได้ลูกค้ามาซื้อสินค้าคุณน้อยลงไปด้วย ดังนั้น “การสร้างความแตกต่าง (Differentiate)” ของสินค้า-บริการ ของคุณให้แตกต่างจากคู่แข่ง จึงเป็นแนวทางที่สำคัญที่จะทำให้คุณโดดเด่นมากขึ้น การแตกต่างมีหลายวิธีเช่น
- ทำสินค้าที่แตกต่างออกไปเลย คิดใหม่ ทำใหม่ สร้างอะไรใหม่ๆ ออกมาเลย ซึ่งแบบนี้ จะแบบนี้จะต้องใช้เวลา มีความเสี่ยงระดับหนึ่ง เพราะมันคือสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน แต่หากคุณสามารถทำได้ และสินค้าของคุณ ตรงกับความต้องการของตลาด คุณจะกลายเป็นคนเดียวที่ขาย ทำให้โอกาสการขายมีมากกว่าคนอื่นๆ การทำวิธีนี้ การวิเคราะห์ตลาดและลูกค้ามีผลอย่างมาก เพราะหากคุณเข้าใจความต้องการลูกค้า คุณก็จะสามารถนำเสนอในสิ่งที่ลูกค้าต้องการได้ดี และตรงกับความต้องการ
- ปรับบางส่วนของสินค้าให้แตกต่างจากคู่แข่ง บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องคิดใหม่ทำใหม่ทั้งหมด แค่สร้างความแตกต่างในด้านต่างๆ เช่น แพ็กเกจที่แตกต่าง, รสชาติที่แตกต่าง, วิธีการขายที่แตกต่าง, การนำเสนอที่แตกต่าง ก็ทำให้คุณต่างจากคู่แข่งคุณได้แล้ว
2. การมีเป้าหมายและวางแผนที่ชัดเจน (Planning)
ก่อนจะดำเนินการอะไร คุณควรมีการวางเป้าหมาย (Goal) ที่ชัดเจน รวมถึงแผนการณ์และรายละเอียดไว้ก่อนว่าคุณจะทำอะไร (What) เมื่อไร (When) ทำไมถึงต้องทำ (Why) ใครจะเป็นคนลงมือทำ (Who) และเราจะทำอย่างไร (How) โดยการกำหนดแผน ควบคู่กันไปด้วย
- จำนวนคนในธุรกิจ (Resource Planning) คุณจะต้องใช้คนเท่าไรในธุรกิจใครบ้าง ตำแหน่งไหนบ้าง เงินเดือนเท่าไร เมื่อไรเราจะรับคนเพิ่มในแต่ละช่วงเวลาของปี กำหนดไว้ก่อนล่วงหน้า (ส่วนใหญ่การรับคนเข้ามาทำงาน จะแปรผันตรงกับการเติบโตของธุรกิจ)
- การวางแผนการเงิน (Financial Planning) เป็นการวางแผนว่าเงินจะเข้ามาเท่าไร จะมีค่าใช้จ่าย (Expense) ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่านู้นๆ นี่ๆ เท่าไร รวมถึง ต้นทุนสินค้า (Cost) ต่างๆ และกำไร-ขาดทุน (Profit & Loss) ที่จะเกิดขึ้น ให้ชัดเจนในแต่ละเดือน ไปจนถึงทั้งปี ทำให้คุณสามารถรู้ว่าช่วงไหนคุณจะมีเงินเข้ามา หรือเงินออกไป และกำหนดเป็นเป้าหมายและยอดขายให้กับธุรกิจของคุณได้อีกด้วย
- การวางแผนการตลาด (Marketing Plan) เป็นการวางเป้าหมายว่าธุรกิจของคุณจะมีกลยุทธ์การตลาดอย่างไรในการทำให้คนรู้จักสินค้าหรือบริการของคุณมากขึ้นโดยการตลาดมีหลายอย่างเช่น การทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ ทั้งสื่อออน์ไลน์และออฟไลน์, การจัดกิจกรรม หรือวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการรับรู้ในกลุ่มลูกค้าของคุณมากขึ้น
เมื่อคุณวางแผนตรงนี้ไว้ชัดเจน คุณก็จะมองเห็นแนวโน้มของธุรกิจของคุณเอง และหากคุณแชร์และแบ่งปันหมายนี้ให้กับคนในทีมของคุณ ทั้งองค์กรคุณก็จะมีเป้าหมายเดียวกัน และเดินไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน
ผมเองนั้นมีโอกาสให้คำปรึกษากับผู้ประกอบการมานาน และเห็นได้ชัดว่าหลายๆ คนขาดสิ่งนี้ ผมเลยทำเทมเพลทตัวอย่างการวางแผนธุรกิจ (Business Plan) ไว้เป็นไฟล์เอ๊กเซลง่ายๆ ที่คุณสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้เลย เพียงแค่ดาวน์โหลดไป แล้วกรอกข้อมูลตามธุรกิจที่คุณจะทำ ทั้งแผนจำนวนคนที่คุณต้องใช้, แผนการใช้เงินและได้เงิน รวมถึงแผนการตลาด สามารถนำไปใช้ได้เลยครับ โหลดฟรีได้ที่ http://www.pawoot.com/cashflow-template/

3. ประเมินและวัดผลอยู่ตลอดเวลา
เมื่อคุณมีเป้าหมายในแต่ละเดือนอยู่แล้ว ก็จงติดตามดูว่า สิ่งที่เราทำไปมันทำได้ถึงเป้าหมายหรือไม่ ที่แนะนำคือ ควรเช็กๆ ทุกๆ อาทิตย์และดูว่าสิ่งที่เราทำมา ทำถึงเป้า เกินเป้า หรือห่างจากเป้าเท่าไร หากผลลัพย์ของเราไม่ถึงเป้า ก็วางแผนในการทำอย่างไรให้ถึงเป้าหมาย ผมแนะนำให้มีประชุมประจำอาทิตย์ (Weekly Meeting) กันเพื่อติดตามข้อมูลในส่วนนี้ สำคัญมากๆ ในข้อนี้
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการที่องค์กรใหญ่ เค้ามีการทำกันอยู่ แต่ไม่ค่อยเห็นธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจชุมชนทำกันเท่าไร และไม่เคยตระหนักเรื่องพวกนี้เลย แต่หากสามารถเข้าใจและนำไปใช้ คุณจะเห็นภาพของธุรกิจตัวเองชัดเจนมากขึ้น และสามารถเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะหากคุณสามารถนำคำแนะนำเหล่านี้ไปใช้ ผมมั่นใจว่า มันจะให้ธุรกิจคุณอยู่มีโอกาสอยู่รอดและเติบโตได้มากขึ้น
และเมื่อธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็ก (SME) หรือธุรกิจชุมชน มีโอกาสอยู่รอดเพิ่มมากขึ้น เช่นจาก 5% ขึ้นมาเป็น 10% นั้นหมายถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย จะเติบโตขึ้นมาอีก 2 ล้านๆ บาท หรือเป็นเท่าตัวเลยทีเดียว ในแต่ละปีเลยทีเดียว คุณเห็นไหมครับ มันไม่ใช่ตัวเลขเล็กๆ เลยกับการเติบโตและโอกาสของธุรกิจเล็กๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทย หากคุณเห็นว่าข้อมูลเหล่านี้ดี คุณเองก็สามารถช่วยพัฒนาประเทศไทยได้ง่ายๆ โดยการแชร์บทความนี้ออกไป ให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ พ่อๆ แม่ๆ ญาติพี่น้องของคุณได้อ่านกัน เพราะเมื่อหลายๆ ธุรกิจนำสิ่งนี้ ไปใช้ ธุรกิจทั่วไปไทยก็พัฒนาไปข้างหน้ามากขึ้น เศรษฐกิจของไทยก็พัฒนาไปข้างหน้ามากขึ้นครับ
จะนำไปประยุกต์ใช้ครับ
ถูกใจถูกใจ