จากบทความก่อนที่ผมได้พูดถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาธุรกิจชุมชนและธุรกิจขนาดเล็ก และการแบ่งปันความรู้จากองค์กรที่ มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มากกว่าธุรกิจของตนเอง แต่เป็นระดับสังคมและประเทศชาติ ในครั้งนี้ผมจึงจะมาพูดถึงทิศทางการทำเพื่อสังคมของบริษัทยักษ์ใหญ่ว่าเขาได้ทำอะไรบ้างเพื่อขับเคลื่อนภาคธุรกิจของประเทศชาติ

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility หรือที่แปลเป็นไทย   ตรงตัวก็คือ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร จะเห็นได้ว่าบริษัทข้ามชาติที่ต้องสร้างความเกี่ยวพันกับประเทศที่เข้าไปทำธุรกิจด้วยให้ความสำคัญกับการทำ CSR ในขณะที่บริษัทของไทยเพิ่งเริ่มให้ความสำคัญเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วนี้เอง และหลายบริษัทที่ทำ CSR ก็ทำเพราะความจำเป็น หรือเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะถูกกำหนดอยู่ในมาตรฐานการทำธุรกิจ การทำ CSR ในปัจจุบันจึงเห็นได้ทั่วไปแต่ค่อนข้างฉาบฉวย โดยทำเพื่อให้ได้ภาพข่าวพีอาร์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรมากกว่าเพื่อการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน

 

เมื่อไม่นานมานี้ จึงได้เกิดแนวคิดใหม่ คือ Creating Shared Value (CSV) โดยไมเคิล อี. พอตเตอร์ กูรูด้านกลยุทธ์การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Competitiveness) ได้นำกฎการแข่งขันมาเชื่อมโยงกับแนวคิด CSR เป็นแนวคิด CSV ซึ่งหมายถึงการพัฒนาสังคมในขณะเดียวกันก็สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจไปพร้อมๆ กัน ด้วยการใช้ทรัพยากรและความเชี่ยวชาญที่เป็นเอกลักษณ์ขององค์กรในการสร้างให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคม โดยช่วยเหลือให้คำแนะนำด้านการผลิต ควบคุมคุณภาพและประกันราคาสินค้า เกษตรกรได้รับความรู้ มีความมั่นคงทางรายได้เพราะองค์กรเป็นผู้รับซื้อสินค้า กรณีตัวอย่าง

  • ดั๊บเบิ้ลเอ (Double A) ที่ให้เกษตรกรนำต้นกระดาษดั๊บเบิ้ลเอไปปลูกตามแนวคันนาระหว่างแปลง เป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว โดยมีการรับประกันราคาซื้อคืน
  • นารายา (Naraya) ที่ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์จากฝีมือของชุมชนชาวบ้านในต่างจังหวัดไปสู่สากล จนกระทั่งสามารถขยายสาขามากมายทั้งในและต่างประเทศ  โดยส่งเสริมให้ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นชุมชนการผลิต พร้อมสนับสนุนด้านเครื่องมือจักรเย็บผ้า สอนการตัดเย็บ และรับซื้อสินค้าที่ผู้ประกอบการชุมชนผลิต มาติดแบรนด์นารายา ถือเป็นการช่วยสร้างเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นให้เติบโตอย่างยั่งยืน

CSV

อย่างไรก็ตาม การทำ CSV ยังถูกมองว่าเป็นการเกื้อกูลเฉพาะคู่ค้าเท่านั้น มีการผูกขาดทางการค้า แล้วเจ้าของตราสินค้าก็สามารถปฏิเสธสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดได้ บางกรณีก็จะเกิดการตั้งคำถามจากสังคมว่ามีเจตนาในการทำธุรกิจเพื่อหากำไรโดยใช้การให้บังหน้า แนวคิด CSV จึงเป็นการส่งเสริมสังคมที่ดูไม่จริงใจในมุมมองของใครหลายๆ คน ทั้งๆ ที่บางธุรกิจมีเจตนาดีจริงๆ ก็ตาม

จากข้อจำกัดของ CSR และ CSV ทำให้เกิดแนวคิดในการให้เพื่อสังคมแนวใหม่ล่าสุดนั่นคือ Corporate Social Innovation (C-SI) หรือ “นวัตกรรมสังคม” คือ การแบ่งปันองค์ความรู้ องค์ประกอบของความสำเร็จ ปรัชญาความคิดขององค์กรธุรกิจ และร่วมลงมือปฏิบัติด้วยกันทั้งภาคธุรกิจและชุมชนเพื่อวางรากฐานการพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน ด้วยการเข้าไปคลุกคลีและศึกษาวิถีชุมชน สอนวิธีการดำเนินงานธุรกิจเพื่อให้ชุมชนเลี้ยงชีพตนเองได้ตามวิถีท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งจะเป็นการร่วมกันพัฒนาระบบเศรษฐกิจทั้งระบบตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับธุรกิจท้องถิ่นนี้ ไม่จำกัดว่าชุมชนที่จะเข้าไปช่วยเหลือนั้นจะต้องเป็นธุรกิจเดียวกับองค์กร หรือเอื้อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นการตอบแทนแต่อย่างไร

C-SI จึงเป็นแนวคิดล่าสุดที่มีแนวโน้มพัฒนาต่อไปในอนาคต โดยเฉพาะกับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมที่จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่การทำความเข้าใจบริบทการดำเนินธุรกิจของชุมชนอย่างถ่องแท้ ร่วมดำเนินการวิเคราะห์ รับฟังมุมมองของคนในชุมชนและประสานร่วมมือกันเป็นสำคัญในการที่จะพัฒนาธุรกิจของชุมชน ปัจจุบันมีองค์กรขนาดใหญ่เริ่มหันมาสนใจการสร้างความมั่นคงให้แก่ชุมชนในระยะยาวโดยผ่านการแบ่งปันองค์ความรู้จากองค์กรสู่สังคม และเมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้ทราบข่าวความเคลื่อนไหวขององค์กรใหญ่ระดับโลกอย่าง โตโยต้า มีแนวคิดในการยกระดับการการดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืนเนื่องในโอกาสการดำเนินงานครบ 50 ปีในประเทศไทย ภายใต้สโลแกน “โตโยต้า ขับเคลื่อนความสุข” โดยหนึ่งในความมุ่งมั่นที่จะส่งความสุขให้คนไทย ภายใต้โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” โดยโตโยต้าได้นำองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญของธุรกิจ ได้แก่ “วิถีโตโยต้า” (Toyota Way) และ “ระบบการผลิตแบบโตโยต้า” (Toyota Production System) ซึ่งเป็นระบบการผลิตที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก   มาถ่ายทอดให้กับธุรกิจชุมชนในประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “รู้ เห็น เป็น ใจ” ได้แก่ การให้รู้ถึงปัญหา เห็นแนวทางแก้ไข ทำเป็นด้วยตนเอง และ เข้าใจใส่ใจในการดำเนินงาน  โดยไม่จำกัดว่าชุมชนที่จะเข้าไปช่วยเหลือนั้นจะต้องเป็นธุรกิจเดียวกับองค์กร หรือเอื้อผลประโยชน์ทางธุรกิจเป็นการตอบแทน  เพื่อเพิ่มอัตราการอยู่รอดและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางการตลาด อันจะช่วยกระจายรายได้แก่ประชาชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยให้คนไทยพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจชุมชนที่ได้เริ่มนำแนวคิดของโตโยต้ามาปรับใช้แล้ว 3 แห่ง ได้แก่ กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จ. กาญจนบุรี หัตถกรรมพื้นบ้านเตยปาหนัน บ้านวังหิน จ. กระบี่ และ แกงไตปลาแม่บ้านเกษตรกรท่าข้ามสัมพันธ์ จ. ตรัง โดยหลังจากที่กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป นำแนวคิดของโตโยต้ามาปรับใช้ครบทั้งกระบวนการ สามารถเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการผลิตได้อย่างเห็นได้ชัด สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตจาก 49 % เป็น 70% , ลดมูลค่าการสูญเสียของคุณภาพงานจาก 5.5 ล้านบาท เหลือเพียง 3 แสนบาท , ต้นทุนในกระบวการจากเดิม 2.5 ล้านบาท ลดลงเหลือ 1.4 ล้านบาท   ซึ่งถือว่าประสิทธิภาพการบริหารต้นทุนและเวลาดีขึ้น เมื่อพนักงานมีรายได้เพิ่มขึ้น ก็ส่งผลทำให้ธุรกิจในชุมชนแข็งแรงขึ้น จะเห็นได้ว่าระบบ TPS  สามารถปรับใช้กับธุรกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี นับเป็นการสร้างนวัตกรรมสังคมของโตโยต้า (Toyota Social Innovation) ที่เรียกได้ว่าจะเป็นตัวอย่างการตอบแทนให้สังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนอย่างแท้จริง

อ่านถึงตรงนี้แล้ว พอจะมีไอเดียสำหรับการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบแทนสังคมบ้างไหมครับ แล้วถ้าเป็นคุณจะเลือกทำอย่างไรเพื่อตอบแทนให้สังคมไทยเราบ้าง?