หลายคนอาจเคยมีคำถามว่า เหตุใดธุรกิจ SMEs ของไทยจึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควรนัก ทั้งที่แรงงานและผู้ประกอบของไทยล้วนต่างมีฝีมือและวัตถุดิบในการผลิตที่ดีไม่แพ้ต่างประเทศ โดยจากการสำรวจพบว่า มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการ (GDP) ประเทศไทยอยู่ที่ 11 ล้านล้านบาท และกว่า 37% ของ GDP มาจากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดย 25% มาจากธุรกิจขนาดย่อม (S) ซึ่งมีมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว (ผลสำรวจ จาก สำนักงานส่งเสริมส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี 2555)

แต่สิ่งที่น่าตกใจก็คือ มีธุรกิจชุมชนขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยเพียง 5%  เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดต่อไปได้ ซึ่งนั่นหมายความว่าในแต่ละปีประเทศไทยมีธุรกิจขนาดเล็กถึง 95% ที่ต้องดำเนินธุรกิจอยู่บนความไม่แน่นอนทางธุรกิจ เรียกได้ว่าตัวเลขนี้ทำให้เกิดคำถามที่น่าตกใจขึ้นมาว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจชุมชนจำนวนมากเหล่านี้ ไม่สามารถดำเนินธุรกิจไปให้ถึงให้ถึงฝั่งฝันที่ตั้งใจเอาไว้ได้

 

5 ปัญหาหลักของ ธุรกิจชุมชน

5 ปัญหาหลักที่ทำให้ธุรกิจชุมชนกว่า 95% ไม่สามารถอยู่รอดได้ มีดังนี้

  1. ความสามารถในการผลิต(Productivity) ที่ต่ำกว่ามาตรฐาน มีคอขวดในกระบวนการผลิตทำให้เกิดความล่าช้า หรือปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการผลิตที่ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตที่สูงจนแข่งขันกับคู่แข่งได้ยาก ทำให้สินค้าที่ทาง SME ที่ผลิตได้ไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร
  2. การส่งมอบงาน (Delivery) ที่เกิดปัญหารับงานแล้วส่งมอบล่าช้าจนสูญเสียความน่าเชื่อถือ เสียลูกค้าและเกิดความเสียหายต่อลูกค้าจากการไม่ได้รับสินค้าตามกำหนด หากเป็นกรณีเพราะสั่งน้อยๆ ดูจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่หากมีการสั่งจำนวนมากๆ จะทำให้ SME ไม่สามารถส่งมอบงานได้ทันเวลา
  3. การควบคุมคุณภาพ (Quality Control) ปัญหาของผู้ประกอบการขนาดเล็กที่ขาดระบบในการควบคุมคุณภาพสินค้าทำให้เกิดสินค้ามีตำหนิหรือตกมาตรฐาน ก่อให้เกิดของเสียจากการผลิตมาก กลายเป็นต้นทุนสูญเปล่าไป ซึ่งธุรกิจชุมชนส่วนใหญ่มักมองข้ามเรื่องนี้
  4. การบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory Management) ทั้งการเก็บวัตถุดิบ และสินค้าคงเหลือที่มากเกินไป นานเกินไป จนเงินทุนจมอยู่กับสินค้าคงคลัง นำไปสู่การขาดสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อผลิตสินค้ามาก แต่การจำหน่ายออกมีปริมาณไม่สมดุลกัน ทำให้เม็ดเงินที่จะเข้ามา กลายเป็นสินค้าจมที่อยู่ในสต็อก เมื่อเงินที่เป็นเหมือนสิ่งหล่อเลี้ยงธุรกิจเริ่มติดขัด สัญญาณของปัญหาทางธุรกิจก็มีวี่แววที่จะชัดเจนขึ้น
  5. การบริหารต้นทุนในกระบวนการผลิต (Work in Process Cost) ที่เป็นปัญหาต้นทุนการผลิตสูงเกินไปจากระบบการผลิตและการวางแผนการผลิตไม่เหมาะสม ด้วยความเป็นธุรกิจชุมชน ที่จะมีคำสั่งสินค้าเป็นรายย่อย จำนวนไม่มาก การคาดคะเนวัตถุดิบและวางแผนการผลิตเพื่อลดรายจ่าย อาจดูไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งแท้จริงแล้วปัญหานี้เปรียบเสมือน “รอบรั้วใหญ่ ในเรือเล็ก” ที่จะเป็นจุดชี้ขาดการอยู่รอดของธุรกิจ ก็ว่าได้

จะเห็นได้ว่า 5 ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัญหาพื้นฐานที่ธุรกิจทุกขนาดต้องดูแลจัดการ เพื่อประกอบกิจการที่ยั่งยืน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน

 

การเสียโอกาสทางการแข่งขันเมื่อเข้าร่วม AEC

           

            หากนำปัญหาทั้ง 5 มาเชื่อมโยงกับการแข่งขันทางธุรกิจ จะเห็นว่าหากธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ อาจส่งผลให้เกิดการสูญเสียโอกาสการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งด้านระยะเวลาในการทำงานของพนักงาน ต้นทุนการผลิตเงินทุนที่เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงความพึงพอใจของลูกค้าก็จะได้รับผลกระทบตามกันไปด้วย ซึ่งยิ่งในช่วงปลายปี 2558 ที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economics Community: AEC) จะมีการเปิดการค้าเสรีที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิกสามารถเข้ามาทำการค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันได้อย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งหากธุรกิจชุมชนไม่มีการเตรียมการที่ดี อาจต้องเสียหลักจากโอกาสในครั้งนี้

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านคงอยากจะทราบทางออกของปัญหาเหล่านี้ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร ทางออกที่ดีก็คือการสร้างระบบการจัดการที่จะเข้ามาช่วยควบคุมตัวแปรต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของปัญหา  ซึ่งมีกรณีศึกษาหนึ่งกรณีมาเล่าให้ฟังเพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

TPS & Kaizen จากระบบโรงงานใหญ่ มาปรับใช้กับธุรกิจชุมชน

ผมทำงานกับญี่ปุ่นมานานและพบว่าปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจในประเทศญี่ปุ่นคือ การปรับและพัฒนางานให้ดีขึ้นทีละนิดทีละนิดอย่างต่อเนื่อง ภาษาอังกฤษ เรียกว่า Continuous Improvement หรือเรียกว่าในภาษาญี่ปุ่น เรียกว่า ไคเซ็น (Kaizen) ซึ่งบริษัทที่ใช้ระบบนี้มาอย่างยาวนานและเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องนี้ คือ โตโยต้า

โตโยต้าถือเป็นหนึ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก ซึ่งเบื้องหลังความสำเร็จนั้นคือจุดแข็งด้านองค์ความรู้และระบบการทำงานที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็นระบบที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยาวนาน สำหรับในประเทศไทยโตโยต้าเองได้มีการนำแนวคิดนี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจกว่า 50 ปีซึ่งความสำเร็จที่เห็นเป็นเครื่องการันตีว่า  TPS  (Toyota Production System) หรือระบบการผลิตแบบโตโยต้า เป็นระบบที่มีความน่าเชื่อถือและสามารถวัดผลได้จากการใช้งานจริง

kaizen1

อาจมีคนสงสัยว่าระบบของผู้ผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่จะสามารถเอามาใช้กับธุรกิจชุมชนได้ด้วยหรือ? เทคโนโลยีก็ต่างกัน ประเภทธุรกิจก็ต่างกัน ที่สำคัญเงินทุนก็ต่างกันมหาศาลจะเป็นไปได้อย่างไร… ต้องขอบอกครับว่า TPS เป็นการจัดการระบบขั้นพื้นฐานที่โตโยต้านำเข้ามาช่วยผู้ประกอบการนั้น ซึ่งจะถูกประยุกต์ให้อยู่บนพื้นฐานการทำงานที่เข้าใจง่าย และเรียงลำดับการแก้ปัญหาออกมาเป็น 4 ส่วนอย่างชัดเจน คือ รู้ เห็น เป็น และใจ

 

  1. รู้ คือการรู้และเข้าใจทั้งระบบงานและปัญหาให้ถ่องแท้และชัดเจน สามารถวัดเป็นตัวเลขทางสถิติได้
  2. เห็น คือทำให้ทุกฝ่ายเห็นปัญหาและระบบงานที่ตรงกันโดยการใช้แผนภาพและข้อมูลที่ทันสมัยในแต่ละวันเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้ราบรื่นและมีเป้าหมายเดียวกัน
  3. เป็น คือการที่ทุกฝ่ายช่วยกันหาแนวทางแก้ปัญหาให้เป็นและทำได้ด้วยตัวเอง
  4. ใจ คือการร่วมกันทำงานด้วยใจ ใส่ใจในการทำงานและคุณภาพชีวิตของพนักงานในองค์กร คู่ค้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสังคมชุมชนเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ตัวอย่างที่ชัดเจนสามารถเห็นได้จากการที่โตโยต้าได้เลือกธุรกิจตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป เป็นธุรกิจชุมชนต้นแบบที่มีการนำระบบ TPS & Kaizen มาปรับปรุงธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานทั้ง 5 ประการและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจเมื่อเข้าร่วม AEC โดยรายละเอียดและอุปสรรคของแต่ละขั้นตอนนั้นจะกล่าวลงลึกในบทความต่อไปพร้อมกรณีตัวอย่างสนุกๆ เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้นครับ

 

ข้อตกลง และความร่วมมือระหว่าง Toyota และธุรกิจชุมชน
(
ธุรกิจชุมชน กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป)

นอกเหนือจากการนำเอาระบบมาสอนเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจและพนักงานแก้ไขปรับปรุงปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงงานได้แล้ว สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างทางโตโยต้าและธุรกิจชุมชนนั้นๆ เพราะแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจาก CSR, CSV และ CSI ได้อย่างชัดเจน โดยโตโยต้า ให้คำมั่นสัญญาว่า จะไม่ให้เงินหรือสิ่งของ  จะไม่ทำให้แต่จะสอนให้ทำให้เป็น เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “หากเราให้ปลาเขาทานเขาจะอิ่มมื้อเดียว หากแต่สอนเขาตกปลาเขาจะอิ่มไปตลอดชีวิต” ซึ่งหากธุรกิจเกิดประสบความสำเร็จ มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเช่น ผลประกอบการเพิ่มขึ้น ต้นทุนในการผลิตลดลง ส่งของลูกค้าได้ตรงเวลามากขึ้น สิ่งที่ธุรกิจชุมชนเหล่านั้นจะต้องตอบแทนคือการตอบแทนกลับสู่สังคมในรูปแบบใดก็ได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เช่น การสร้างสนามออกกำลัง การทำโครงการเพื่อชุมชน เป็นต้น

ที่สำคัญต้องเป็นพี่เลี้ยงในการช่วยสอนและเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ธุรกิจประเภทอื่น ๆ ได้เข้าใจในระบบการบริหารจัดการขององค์กรใหญ่ มาใช้เพื่อผลักดันให้ธุรกิจชุมชนของไทยมีเครือข่ายการที่เข้มแข็ง สามารถเป็นพลังในการพลักดันประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าได้ในอนาคต

นี้เป็นตัวอย่างให้เห็นได้ว่า การบริหารจัดการที่ดี สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจในขนาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เล็ก-กลาง-ใหญ่ ก็สามารถนำมาใช้บริหารจัดการให้ประสิทธิภาพการทำงานของธุรกิจดีขึ้น ดังนั้นคนที่ทำธุรกิจควรเปิดหูตาให้กว้างมากขึ้น ศึกษาและเปิดรับเอาการจัดการสมัยใหม่มาใช้กับธุรกิจให้มากขึ้น ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อตัวธุรกิจคุณเอง แต่เพื่อชุมชม และสังคมของเราให้แข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นครับ!