หลังจากที่ผมได้เล่าเรื่อง “ธุรกิจชุมชนจะรอดและเติบโตได้ ต้องเรียนรู้จากธุรกิจขนาดใหญ่” ไปแล้ว วันนี้ผมจะมาลงรายละเอียดให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในหลักการ ของ นวัตกรรมสังคม ที่มาประยุกต์และพัฒนากับผู้ประกอบการ(ธุรกิจชุมชน) อย่างมืออาชีพ ที่ผมวงเล็บไว้ เพราะอยากมุ่งให้ความรู้แก่เหล่าผู้ประกอบธุรกิจชุมชนอย่างที่ได้เกริ่นให้ความสำคัญไว้ตั้งแต่บทความแรก (แนบลิงค์บทความแรก ) แต่สำหรับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ทั่วไปที่สนใจก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้โดยไม่มีข้อโต้แย้งครับ
ผมได้เล่าถึงตัวอย่างของ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่เป็นรูปแบบของ นวัตกรรมทางสังคมรูปแบบใหม่ของ ที่ได้รับการพัฒนาขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการตอบแทนสังคมอย่างยั่งยืน นอกเหนือจากการทำ CSR โดยการนําวิธีคิดมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจชุมชน และการลงไปร่วมลงมือทำเพื่อให้ผู้ประกอบการนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใต้แนวคิด “รู้ เห็น เป็น ใจ” ได้แก่
- การให้ “รู้” ถึงปัญหา
- “เห็น”แนวทางแก้ไข
- ทำ “เป็น” ด้วยตนเอง
- เข้า “ใจ” ใส่ใจในการดำเนินงาน
โดย Keyword สี่คำนี้จะช่วยให้เหล่าผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน หรือธุรกิจขนาดย่อม เข้าใจและสามารถประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่โรงงานหรือองค์กรได้ง่ายขึ้น ซึ่งบทความนี้เรามาทำความรู้จักในส่วน “รู้” และ “เห็น” กันก่อนครับ
รู้ และ เห็น คืออะไร?
.
“รู้” – รู้ปัญหาในทุกกระบวนการ
รู้ หมายถึง การรู้ปัญหา สำหรับธุรกิจแล้วไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ปัญหาย่อมเกิดได้เป็นปกติ หากแต่สิ่งสำคัญคือผู้ประกอบการต้อง “รู้” ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อจะนำปัญหาเหล่านั้นมาแก้ปัญหาให้ถูกวิธี โดยจะแนะนำให้เหล่าผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ซึ่งประกอบด้วย
- สำรวจภาพรวมธุรกิจ ก่อนอื่นผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ควรต้องทราบถึงภาพรวมธุรกิจที่ตนประกอบกิจการอยู่ ว่ามีรายละเอียดอย่างไร มุ่งตอบสนองลูกค้ากลุ่มไหน สินค้าที่มีมีอะไรบ้าง มีความโดดเด่นอย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความชัดเจนในการกำหนดทิศทางของธุรกิจ ซึ่งเมื่อทราบจุดยืนที่แน่ชัดของธุรกิจแล้ว จะทำให้การดำเนินงานในขั้นตอนต่อๆ ไปง่ายขึ้น
- สำรวจปัญหาอย่างละเอียด การสำรวจปัญหาอย่างละเอียด จะช่วยลดอุปสรรคในธุรกิจของคุณได้เป็นอย่างดี ซึ่งในขั้นตอนนี้ผู้ประกอบการควรระดมความเห็นจากพนักงานทุกคน รวมถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมปัญหาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งในสังคมไทยการแสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อบกพร่องของผู้อื่นอาจยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าไหร่นัก ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน ควรให้แนวคิดแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนเหมือนอย่างกรณีของ ธุรกิจชุมชนเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป จ.กาญจนบุรีว่า บอกว่า “เราร่วมกับหาปัญหาเพื่อมุ่งแก้ปัญหา ไม่ได้มุ่งหาคนผิด”แม้ว่าที่ผ่านมาความผิดพลาดที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากตัวบุคคล หรือแผนกใดแผนกหนึ่ง แต่นั่นก็ไม่ใช่ความผิดที่จะเอามาถือโทษหรือตำหนิ เพื่อให้ทุกคนช่วยกันหาปัญหาเพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ภาพรวมขององค์กร
- สรุปปัญหา และกำหนดเป้าหมาย หลังจากที่รวบรวมปัญหาจากพนักงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว การวางแผนเพื่อแก้ปัญหา และกำหนดเป้าหมายใหม่ที่จะบรรลุเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพคือเรื่องที่จำเป็น เพราะหากทราบปัญหาแล้วไม่วางแผนแก้ไข ก็เหมือนกับปล่อยรูรั่วไว้บนเรือ นานวันเข้าก็จะทำให้เรือล่มได้
ผมขออนุญาตยกตัวอย่างการประยุกต์ใช้จริงที่โตโยต้าเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งสำหรับการเข้ามาของโตโยต้าในฐานะพี่เลี้ยงเพื่อสร้างกระบวนการ “รู้” ให้แก่กลุ่มธุรกิจชุมชนเสื้อโปโลฮาร์ท โอทอป นั้นต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอนเหมือนกัน เริ่มแรกนั้นพนักงานที่นี่ค่อนข้างตื่นกลัวกับการเข้ามาของพี่เลี้ยง ว่าแท้จริงแล้วเราเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อะไร ซึ่งสำหรับการเริ่มขั้นตอน “รู้” นั้น จะเริ่มต้นจากการเข้าไปรู้พฤติกรรมการทำงาน รู้จักพนักงาน และหน้าที่ของแต่ละคน ผ่านกิจกรรมละลายพฤติกรรม นอกจากนี้ยังจัดกิจกรรมให้พนักงานเล่นเกมส์ เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันจากโจทย์เรื่องทั่วๆไป เช่น หากมีเพื่อนร่วมงานน้ำหนักเกินจะทำอย่างไร โดยแบ่งออกเป็นแต่ละทีมและให้ช่วยกันตอบคำถาม จนเมื่อในระดับหนึ่งที่พนักงานเริ่มเข้าใจกระบวนการหาปัญหาและแก้ปัญหาแล้ว ก็เริ่มให้แบ่งทีมและให้ช่วยกันหาปัญหาในโรงงาน โดยมีแนวคิดที่ว่า “การหาปัญหาในครั้งนี้ เราหาปัญหามาเพื่อแก้ไข ไม่ได้หาเพื่อหาคนผิด ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครถูกลงโทษหากปัญหาที่เสนอมานั้นอยู่ในหน้าที่รับผิดชอบของส่วนใด”
เห็น – เห็นแนวทางแก้ไขตามหลัก Kaizen (ไคเซน) และ ติดตามงาน
หลังจากที่ได้รู้ปัญหาและวางแผนแก้ไขพร้อมกำหนดเป้าหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาก็มาสู่ขั้นตอนการ “เห็น” ซึ่งการเห็นในที่นี้จะช่วยบริหารงานให้เกิดความราบรื่น และสะดวกต่อการติดตามงานซึ่งมีหลักปฏิบัติดังนี้
- Kaizen (ไคเซน) + Visualization board การเห็นตามหลัก Kaizen (ไคเซน) คือการเห็นปัญหาและพัฒนาต่อยอดเรื่อยๆ ให้ดีขึ้น ซึ่งการต่อยอดที่ดีนั้นต้องทำให้พนักงานทุกคนรวมถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน ได้มองเห็นภาพรวมเป็นภาพเดียวกัน โดยตัวช่วยที่ดีในการให้ทุกคนเห็นปัญหาเป็นภาพเดียวกันนั้นคือ Visualization board (ภาพประกอบ) ซึ่ง Visualization board นี้จะช่วยจัดแจงแบ่งงานที่แต่ละฝ่ายต้องรับผิดชอบดูแล พร้อมมีเวลากำหนดส่งที่ชัดเจนเพื่อให้พนักงานทำงานและจัดความสำคัญของงานได้ง่ายขึ้น
- พนักงานทุกระดับสามารถเห็นและเข้าใจ การเห็นที่ดี คือการที่คนทั้งบริษัท หรือ ทั้งโรงงาน สามารถเห็นเป็นภาพเดียวกัน แบบเดียวกัน และเข้าใจตรงกัน หากผู้ประกอบการใดสามารถสร้างการรับรู้ของทุกระดับให้เห็นและเข้าใจตรงกันได้ ธุรกิจนั้นจะเปรียบเสมือนเรือเดินสมุทรที่มีทิศทางการเดินที่แน่วแน่ชัดเจน ลูกเรือทุกคนพร้อมที่จะปฏิบัติงานตามคำสั่งของกัปตันอย่างเข้าใจ ซึ่งนี่ถือเป็นเคล็ดลับสำคัญเบื้องหลังความสำเร็จของธุรกิจที่มีเครือข่ายธุรกิจทั่วโลก
ซึ่งหลังจากเข้ามาศึกษาระบบผ่านขั้นตอน “รู้” ที่โรงงานฮาร์ท โอทอปแล้ว ก็ก้าวมาสู่ขั้นตอน “เห็น” โดยทีมที่ปรึกษาของทางโตโยต้าก็ให้พนักงานในโรงงานจัดทำแผนภูมิระบบการผลิตออกมาเป็นภาพขึ้นบอร์ดขนาดใหญ่ (Visualize board) เพื่อให้เห็นกระบวนการทั้งหมดและความเกี่ยวเนื่องกันของแผนกต่างๆ เพื่อให้ทุกคนในโรงงานเห็นกระบวนการผลิตของโรงงานทั้งระบบด้วยภาพเดียวกัน
หลังจากนั้นก็ให้ทางโรงงานจัดประชุมพนักงานทุกเช้าในทุกๆ วัน โดยให้ฝ่ายขายนำเสนอด้วยการตอบคำถาม 3 ข้อคือ 1.ตอนนี้รับงานมาเท่าไร 2. กำหนดส่งของเมื่อไร และ3. มีปัญหาอะไร ส่วนฝ่ายผลิตก็ต้องนำเสนอในกรอบด้วยการตอบคำถามที่คล้ายกันฝ่ายขาย
ซึ่งข้อดีของการประชุมร่วมกันที่ทุกฝ่ายในโรงงานเห็นภาพเดียวกัน มีเป้าหมายร่วมกันในการเพิ่มยอดขายและส่งงานให้ตรงเวลา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่ฝ่ายผลิตเป็นผู้นำองค์กร กลายมาเป็นฝ่ายขายและการตลาดซึ่งมีคนน้อยกว่าเป็นคนนำองค์กร เปลี่ยนระบบการจ่ายงานในการผลิตให้สอดคล้องกับการรับออเดอร์และกำหนดส่งสินค้า นอกจากฝ่ายขายและฝ่ายผลิตจะต้องนำเสนอเพื่อตอบคำถามเพียง 3 ข้อแล้ว เจ้าของโรงงานถูกกำหนดให้ถามคำถามพนักงานได้ไม่เกิน 3 ข้อคือ 1.ปัญหาเกิดขึ้นตรงไหน 2.จะแก้ไขอย่างไรและ 3.ใครจะเป็นคนแก้ปัญหาแล้วจะเสร็จเมื่อไร การนำเสนอและตอบคำถามซ้ำๆ ฝ่ายละ 3 คำถามในทุกวัน ช่วยให้การประชุมกระชับและจบลงในเวลาไม่เกิน 30 นาที ไม่เสียเวลาการทำงานไปกับการประชุมที่ไร้ประสิทธิภาพจนคนไม่อยากเสียเวลาเข้ามาประชุม
เป็นอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับหลักการรู้ และ เห็น สู่การเป็นผู้ประกอบการ (ธุรกิจชุมชน) มืออาชีพจากโตโยต้าอ่านจบแล้วพอได้แนวคิดอะไรเพิ่มเติมเพื่อนำไปเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจชุมชน หรือธุรกิจขนาดเล็กกันบ้างรึเปล่าครับ เอาเป็นว่าหากบทความนี้สามารถจุดไฟฝันให้แก่พวกท่านได้ก็อย่าลืมที่จะแชร์ และบอกต่อเพื่อนๆ นะครับ หลังจากบทความนี้ยังเหลือบทความที่ผมจะมากล่าวถึงอีก 2 หัวข้อที่เหลือคือ เป็น และใจ อีก 2 หัวใจสำคัญที่เป็นกุญแจให้ผู้ประกอบการ(ธุรกิจชุมชน) เรียนรู้เพื่อมุ่งสู่ความเป็น “มืออาชีพ”