สำหรับใครที่เพิ่งมาอ่านบทความนี้ ผมขอกล่าวรายละเอียดสั้น ๆ ให้พอให้เข้าใจ ดังนี้ครับ “รู้ เห็น เป็น ใจ” เป็นกระบวนการที่ถูกประยุกต์มาจากแนวคิดของ โตโยต้าที่เรารู้จักกันดีอย่าง TPS – Toyota Production System และ Kaizen ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบริหารจัดการการผลิตในจำนวนที่เพียงพอและทันเวลา ลดการสูญเสียในกระบวนการผลิต

จากธุรกิจระดับโลกที่มีแนวคิดอยากช่วยพัฒนาธุรกิจชุมชน จึงได้ทำการดัดแปลงองค์ความรู้ของตนเอง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จไปแล้วทั่วโลก ให้เป็นระบบการจัดการที่ให้เข้าใจง่าย 4 ขั้นตอน หรือถ้าจะให้อธิบายกันง่ายๆ คือ

“รู้” คือ การเรียนรู้ปัญหา เพื่อระดมความเห็นจากพนักงานทุกระดับ และหาสาเหตุของปัญหา

“เห็น” คือการสร้างภาพรวมของปัญหาให้ทุกฝ่ายในองค์กร สามารถเห็นเป็นภาพเดียวกัน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างราบรื่น และมองเห็นปัญหาล่วงหน้าได้อย่างชัดเจนจากบอร์ดขนาดใหญ่หน้าโรงงาน

“เป็น” คือการพัฒนาให้พนักงานสามารถทำ (ไคเซน) เป็นได้ด้วยตัวเอง

“ใจ” คือ ความเข้าใจ ใส่ใจและทำให้ถูกใจ ทำให้ถูกใจในที่นี้หมายถึง ถูกใจทั้งตัวพนักงานและถูกใจลูกค้า เมื่อพนักงานเข้าใจเนื้องาน และรักงานที่ตนเองทำอยู่ ก็จะทำให้สามารถผลิตสินค้าออกมาได้อย่างดี จนก่อให้เกิดความพึงพอใจของลูกค้าในที่สุดนั่นเอง

นางรสวรรณ จงไมตรีพร เจ้าของธุรกิจชุมชน กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป อธิบายขั้นตอนการทำไคเซน
นางรสวรรณ จงไมตรีพร เจ้าของธุรกิจชุมชน กลุ่มตัดเย็บเสื้อโปโล ฮาร์ท โอทอป อธิบายขั้นตอนการทำไคเซน

 

เพราะอะไร ธุรกิจชุมชนภายใต้โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์จึงประสบความสำเร็จได้ด้วยดี?

         ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะยังสงสัยว่า แม้จะเข้าใจในความรู้ที่ได้รับจากโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์แล้ว ยังมีอะไรที่ทำให้การดำเนินการเหล่านั้นประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดีอีกหรือไม่ วันนี้ผมได้รู้ถึงปัจจัยในความสำเร็จจากการเข้าไปศึกษาโครงการของโตโยต้าที่เข้าช่วยเหลือ ธุรกิจชุมชน ฮาร์ท โอทอป จนประสบผลสำเร็จ ซึ่งประกอบไปด้วย 3 สิ่งง่าย ๆ ดังนี้ครับ

  1. ผู้ประกอบการ และพนักงาน เนื่องจากกระบวนการและความรู้ที่โตโยต้าให้นั้นจะก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ผมจะยกตัวอย่างถึงผู้บริหารและพนักงานของฮาร์ท โอทอป ที่ต้องเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโรงงาน การเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ เริ่มตั้งแต่การปรับความคิด และทัศคติในการทำงาน ที่โตโยต้าได้นำมาสอนและปรับให้เข้ากับวิถีการทำงานเดิมของผู้ประกอบการ และถ้าให้พูดกันตรงๆแล้ว ผมคิดว่าไม่มีอะไรยากไปกว่า การเปลี่ยนความคิดคน ผู้ประกอบการและพนักงานทุกคนหากไม่มีความเชื่อมั่นใจว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้มาจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ผลแห่งความสำเร็จนี้ก็คงไม่เกิดขึ้นแน่นอน

 

  1. ผู้สนับสนุน เนื่องจากโครงการนี้ เป็นโครงการที่มุ่งให้ความรู้เพื่อการพัฒนาธุรกิจชุมชน ซึ่งต้องการผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ฝ่ายสนับสนุน ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ ซึ่งก็คือ ตัวแทนจำหน่ายในชุมชนที่ช่วยเข้ามาดูแลหาผู้ประกอบการนั่นเอง ซึ่งการเข้ามาดูแลของผู้แทนจำหน่ายนั้นไม่ใช่การซื้อของหรือช่วยในด้านการลงทุน แต่เป็นการสอนและช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจระบบการทำงานได้ดีขึ้น เช่นการแนะแนวเรื่องของการจัดการบริหารสต็อก โดยนำรูปแบบที่ใช้ในดีลเลอร์มาอธิบายให้เข้าใจและเห็นภาพมากขึ้น โดยการเข้ามาของตัวแทนจำหน่ายนั้นจะไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ

 

  1. ผู้ให้ที่เอาใจใส่ เนื่องจากโครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เป็นโครงการที่ตั้งใจที่จะให้ความรู้และระบบการจัดการที่ดี ดังนั้นจึงต้องการความเอาใจใส่และทุ่มเทอย่างมาก สิ่งที่ทำให้เห็นถึงความตั้งใจของโตโยต้าได้ดีที่สุดคือ การส่งทีมงานเข้าไปดูแลธุรกิจชุมชนอย่างใกล้ชิด โดยมีพนักงานเพิ่งเกษียณไปประจำอยู่กับธุรกิจชุมชน เพื่อคอยให้คำแนะนำและติดตามผล นอกจากนี้ยังมีทีมที่เข้าไปเป็นครั้งคราวเพื่อพูดคุยกับพนักงานและเจ้าของธุรกิจอีกด้วย นี่ถือเป็นปัจจัยข้อสำคัญที่จะช่วยให้การประยุกต์ใช้กระบวนการนี้สามารถดำเนินไปได้ด้วยดี

 

         หากเราวิเคราะห์กระบวนการที่ธุรกิจชุมชนพัฒน์ได้นำมาใช้และปฏิบัติกับธุรกิจชุมชนแล้วจะเห็นได้ว่ากระบวนการนี้สามารถสร้างความยั่งยืนแก่ประเทศชาติในระยะยาวได้ จากการช่วยเหลือและถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อจากธุรกิจขนาดใหญ่ไปสู่ธุรกิจชุมชนขนาดเล็ก โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ธุรกิจชุมชน เมื่อธุรกิจชุมชนแข็งแรง เศรษฐกิจภาพรวมย่อมแข็งแรงตาม นี่ถือเป็นเรื่องดีดีที่เกิดขึ้นในยุคที่ผู้ที่อยู่เหนือห่วงโซ่อุปทานทางการตลาด มักทำตัวเป็น “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก“ แต่สำหรับโตโยต้ากับธุรกิจชุมชนแล้ว คงต้องขอใช้คำว่า “ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก” ก็ว่าได้…