เห็นข่าวเกี่ยวกับสรรพากรแจง “แจ็ค หม่า” ได้ยกเว้นภาษี 13 ปีตามเงื่อนไขบีโอไอ ส่วนคนไทยต้องเสียภาษีตามกฎหมายเดิม เราต้องวิเคราะห์ข่าวนี้ให้ดีนะครับ Alibaba Group ได้อาศัยการสนับสนุนจากการเข้ามาลงทุนในประเทศในการยกเว้นภาษีนิติบุคคลผ่าน BOI ซึ่งมีหลายๆ บริษัทไอทีในไทยก็ได้รับเช่นกัน (ผมเองเมื่อตอนที่มี Rakuten จากญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนกับ TARAD.com ก็ได้ BOI โดยไม่เสียภาษีเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าไม่ได้ใช้สิทธิภาษีนี้เลยตลอด 6 ปีที่เขามาลงทุน เพราะอยู่ในช่วงการลงทุนหนัก และขาดทุนหนักโดยใช้เงินไปหลายร้อยล้านบาท ก็ถือเป็นการดึงต่างประเทศมาลงทุนกระตุ้น E-Commerce ในไทย แต่ถ้าจำไม่ผิด Rakuten TARAD ได้สิทธิ 7-8 ปี แต่ทำไมครั้งนี้ Alibaba Group ได้ถึง 13 ปี??? )

ดังนั้น การได้สิทธิพิเศษหลายๆ จาก BOI โดยเฉพาะการไม่เสียภาษีนิติบุคคลตอนสิ้นปีตลอดอายุการสนับสนุน จึงเป็นเรื่องปกติที่รัฐต้องการดึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในกลุ่มธุรกิจที่จะช่วยพัฒนาประเทศ “ซึ่งบริษัทคุณเองก็สามารถขอรับสิทธินี้ได้ครับ” ผมเคยเปิดบริษัท TARADb2b.com เป็นบริษัทที่พัฒนาระบบ B2B แบบ Alibaba เลยในช่วงปี 2007 ซึ่งก็ได้รับสิทธิพิเศษนี้จาก BOI เช่นกัน (สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก กลุ่มอุตสาหกรรมที่ BOI ให้สิทธิ http://www.boi.go.th/newboi/index.php?page=eligible_activities&language=th)

ถึงแม้ว่าจะได้ BOI ยกเว้นภาษีนิติบุคคล แต่ก็ไม่ได้ยกเว้นภาษี VAT ให้นะครับ ดังนั้น ในทุกรายการการขายของ Alibaba Group จะต้องถูกนำไปคิด VAT ด้วย แต่ที่ยังติดใจสงสัยอยู่ว่าแล้วเขาจะโดนตรงไหนบ้างล่ะ? เพราะรายการสินค้าที่นำเข้าจากจีนมาขายในไทยก็ได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่าง เช่น

  • การยกเว้นจากการได้ FTA ไทย-จีน (Free Trade Agreement) (อ่านเพิ่ม http://www.thaifta.com/ThaiFTA/Home/FTAbyCountry/tabid/53/ctl/detail/id/4/mid/480/usemastercontainer/true/Default.aspx)
  • การยกเว้นจากการนำสินค้าเข้ามาผ่านทางไปรษณีย์ หากสินค้ามีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท ไม่ต้องเสียภาษี (ซึ่งได้ยินข่าวมากว่ากลุ่ม Alibaba พยายามขอดันขึ้นไปเป็น 3,000 บาท)

*** สิทธิพิเศษที่ภาครัฐเตรียมไว้และนักธุรกิจไทยควรใช้สิทธิ์

ต้องบอกว่ารัฐไทยเตรียมการสนับสนุนเอกชนไทยไว้มากมายครับ แต่ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้น “เอกชนไทยส่วนใหญ่” มักไม่รู้ถึงสิทธิพิเศษตรงนี้

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผมแนะนำว่า คุณหรือบริษัทของคุณต้องกลับมามองดูตัวเองดีว่า เราจะขอสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ภาครัฐจัดเตรียมใว้ให้ยังไง เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทต่างชาติเท่านั้นถึงจะได้รับการสนับสนุน บริษัทไทยเองก็ได้เช่นกันครับ

  • ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ที่สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีสามารถของการสนับสนุนได้ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มีเงินให้เปล่ากับหลายๆ โครงการในการสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาอะไรใหม่ๆ ขึ้นมา ได้ในวงเงินหลักแสน จนไปถึงหลักหลายล้านบาทเลยครับ ลองไปดูเพิ่มได้ที่ http://www.nia.or.th หรือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล (DEPA) ก็มีเงินทุนช่วยเหลือเช่นเดียวกัน ลองเข้าไปดูได้ที่ http://www.depa.or.th/th/funds
  • หรือแม้แต่การออกไปดูงาน ออกแสดงสินค้าที่ต่างประเทศ ที่รัฐมีการสนับสนุนมาตลอด ทั้งค่าบูธในงานที่ไปออก หรืออาจจะมีค่าเดินทางไปด้วยแล้วแต่งานและโครงการ ลองดูได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ http://www.ditp.go.th

มีสิทธิพิเศษที่รัฐไทยเตรียมไว้ให้อีกมากมาย แต่ยังขาดการรับรู้จากธุรกิจเอกชนของไทยเอง ซึ่งผมว่าเราเองก็ต้องมาคอยดูและสอดส่องว่ารัฐมีอะไรดีๆ ให้บ้าง และเช่นเดียวกัน รัฐเองก็ต้องทำให้เอกชนที่คุณต้องสนับสนุนรู้ด้วยเช่นเดียวกันว่าคุณมีสิทธิพิเศษหรือการสนับสนุนอะไรบ้าง โดยไม่ได้ปล่อยให้สิทธิ์นี้ตกไปอยู่กับบริษัทต่างชาติเพียงอย่างเดียวครับ