ผมอยากพูดถึงเรื่องของ พรบ. อี-เพย์เมนต์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปรับเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ภาครัฐกำลังพยายามผลักดันออกมา
ต่อไปนี้สถาบันทางการเงิน ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-wallet ที่ให้บริการในประเทศไทยทั้งหมดต้องรายงานการทำธุรกรรมการเงินของลูกค้าให้สรรพากรรับทราบ
ผมขออธิบายรายละเอียดง่าย ๆ ว่าถ้าในหนึ่งปีเรามีเงินฝากหรือเงินรับโอนเข้ามาในบัญชีของเราทุกบัญชี หากเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือมีการฝากรับหรือว่าโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง และมียอดรวมตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป นั่นหมายถึงธนาคารต้องส่งข้อมูลนี้ให้กับสรรพากร
โดยกรมสรรพากรจะเก็บข้อมูลเป็นเวลานาน 10 ปี หากไม่ปฏิบัติตามปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท จนกว่าจะรายงานข้อมูลให้ถูกต้อง กำหนดให้รายงานข้อมูลของบุคคลที่มีธุรกรรมเกิดขึ้นในรอบปีภาษี 2562 (ม.ค.-ธ.ค. 2562) ต่ออธิบดีกรมสรรพากร ในเดือน มี.ค. 2563
เป้าหมายของ พรบ.ฉบับนี้คือมุ่งไปที่ร้านค้าออนไลน์ที่ไม่อยู่ในระบบภาษี อีกเป้าหมายก็คือบรรดาข้าราชการทุจริตที่มีการโอนเงินเข้าบัญชี บรรดาธุรกิจผิดกฎหมายธุรกิจสีเทาต่าง ๆ เช่น โต๊ะบอล หรือพวกที่มีการโอนเงินไปมาทั้งหลาย
หาก พรบ.ฉบับนี้ออกมาน่าจะมีคนอยู่สองกลุ่มคือ กลุ่มหนึ่งที่คิดว่าก็ทำให้ถูกต้องเลยแล้วกัน เปิดเป็นบริษัทเลย เวลามีเงินเข้าบริษัทอย่างน้อยก็แยกออกได้จากส่วนตัว
แต่ก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่พยายามดิ้นรนหาวิธีการหลบเลี่ยงเท่าที่ผมวิเคราะห์ ก็เช่น จากการโอนเงินเข้าธนาคารของคนขายของที่มีระบบ QR Code เมื่อสแกนปุ๊บเงินก็เข้าบัญชีเลย แต่หากมีคนมาสแกนทุกวัน วันละสิบกว่าครั้งตลอดทั้งปี กรณีนี้ก็จะโดนรายงานภาษีแน่นอน
ซึ่งจะทำให้คนไทยหลาย ๆ คนไม่ใช้ QR Code หรือพร้อมเพย์ เพราะถ้าใช้แล้วเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือมีเงินเข้ารวมแล้วเกิน 2 ล้านบาทต่อปี ก็จะโดนสรรพากรส่องแล้ว
ผลกระทบที่อาจจะเกิดแน่ ๆ คือคนไทยส่วนหนึ่งที่ต้องการหลบเลี่ยงจะย้ายไปเปิดวอลเลทของต่างประเทศ เช่น paypal ซึ่งสรรพากรตรวจไม่ได้ เงินไทยก็จะไหลออกนอกประเทศ
และอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจก็คือด้วยตอนนี้ CryptoCurrency ในเมืองไทยเริ่มถูกกฎหมาย ภาครัฐมีกฎหมายออกมารองรับแล้ว คนก็จะหันมาใช้ CryptoCurrency ในการโอนเงินระหว่างกัน
จริง ๆ แล้ว CryptoCurrency ภาครัฐเองก็สามารถตรวจสอบได้เมื่อมีการเอาเงินเข้าหรือออก จะรู้ว่าเอาเงินเข้าออกโดยใครและไปที่ไหน แต่ระหว่างการซื้อขายกันนั้นการตรวจสอบค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก
หากกฎหมายนี้ออกมาจริง ๆ ผมเห็นว่าบรรดา SMEs ต่าง ๆ น่าจะพากันระส่ำเหมือนกัน และที่น่ากังวลมากต่อไปก็คือธนาคารทั้งหลายต้องมาทำระบบต่าง ๆ เพื่อรองรับกฎหมายนี้ ต้องคอยดักข้อมูลเพื่อนำส่งให้สรรพากร เชื่อว่าต่อไปสรรพากรเองก็ต้องมีจำนวนงานที่ล้นมือแน่นอน
แต่ถ้ากฎหมายตัวนี้ได้ออกมาจริง ๆ ผมก็มองว่าจะมีอยู่สองส่วนคือ
คนกลุ่มหนึ่งจะเข้าสู่ระบบซึ่งผมว่าดีและเห็นด้วยว่าการทำธุรกิจต่าง ๆ ควรที่จะทำให้ถูกต้อง
แต่ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาประเทศไทยนั้นมี mindset ที่คนหลายคนพยายามที่จะหลบเลี่ยงหรือบอกว่าตนเองเป็นธุรกิจขนาดเล็กไม่เสียภาษีได้ไหมเพราะการเสียภาษีทำให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มขึ้น
หากไปดูในต่างประเทศอย่างญี่ปุ่นหรือประเทศที่พัฒนาเขาก็มองชัดเจนว่า เมื่อใดก็ตามที่ทำธุรกิจและมีรายได้เข้ามาก็ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐ มันเป็นมุมมองหรือ mindset ที่คนในประเทศต่าง ๆ เขารู้อยู่แล้ว แต่ในเมืองไทยกลับมีแนวความคิดที่จะหลบเลี่ยง
ฉะนั้น ผมว่าถ้าเราจะทำจริงๆ ก็ต้องทำให้เกิดความเสมอภาคและพยายามทำให้เกิด mindset ในลักษณะที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราทำกันจริงจังคนไทยอาจจะเปลี่ยน mindset ในเรื่องการเสียภาษีไปเลยก็ได้
จริง ๆ ผมก็แอบสนับสนุนอยู่นิด ๆ ด้วยเช่นกันแต่ก็แอบกังวลอยู่เหมือนกันว่ากฎหมายตัวนี้จะเป็นกฎหมายที่บั่นทอนอะไรบางอย่าง ในขณะที่แบงค์ชาติหรือภาครัฐเองก็ดีกำลังพยายามกระตุ้นให้คนเข้าสู่โลกออนไลน์ เช่น ให้ใช้โมบายล์แบงก์กิ้ง พร้อมเพย์ QR Code
แต่ พรบ.ตัวนี้จะทำให้คนหรือร้านค้าต่าง ๆ ไม่อยากใช้ เพราะยิ่งใช้ก็จะยิ่งเป็นการสร้างเส้นทางทางการเงินให้เห็นและก็จะไปถึงจุดที่ธนาคารต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรตรวจสอบ
ในอีกมุม อย่างไรก็ตามในเรื่องของการค้าขายนั้นก็ควรต้องเสียภาษี มันอาจจะดูยุ่งยากในช่วงเริ่มต้น นั่นหมายถึงการทำบัญชีต่าง ๆ ต้องทำอย่างถูกต้อง ซึ่งผมว่าเป็นผลดีกับธุรกิจด้วยซ้ำไปเพราะบางครั้งการทำธุรกิจไม่ได้มีการวางระบบ ไม่เห็นตัวเลข ทำให้การบริหารจัดการก็ค่อนข้างจะมั่วในบางครั้ง
แต่ถ้าเรามีการทำบัญชีที่ดีผมเชื่อว่าจะช่วยให้เราวางแผนธุรกิจได้ชัดเจนมากขึ้น เรื่องภาษีหากมีการวางแผนภาษี หรือ tax planning ดี ๆ อาจทำให้เสียภาษีน้อยลงและถูกกฎหมายได้ด้วยเหมือนกัน
ที่สำคัญในแง่ของเอกชนหากเห็นว่ากฎหมายใดก็ตามที่ออกมาแล้วจะมีผลกระทบควรลองแสดงความเห็น เพราะมีการทำประชาพิจารณ์อยู่ หรือลองคุยกับองค์กรหรือหน่วยงานที่มีการรวมตัวกัน เช่น ในกลุ่ม สมาคม ชมรมที่เป็นอุตสาหกรรมเดียวกัน ลองรวมตัวกันส่งเสียงออกมาหรือจะเป็นการทำหนังสือหรือข้อเสนอแนะไปยังภาครัฐได้ เพื่อภาครัฐจะได้ฟังว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างหากออกกฎหมายออกมา เพียงแต่ควรต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะที่ให้เห็นว่าผลกระทบนั้นเกิดกับคนหมู่มากครับ