ผมได้ทำหลักสูตร DEFg จึงมีโอกาสได้เชิญคนเก่ง ๆ มาพูดถึงเรื่องของการทรานส์ฟอร์มองค์กรว่าองค์กรควรที่จะอยู่ด้วยตัวเองได้ CEO ไม่ควรที่จะต้องมาฉุดลากคนในองค์กรไปในทางไหน ๆ ทุกคนควรจะรู้ตัวเอง ตัดสินใจด้วยตัวเองได้ และเมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้พาทีมงานไปดูงานที่บริษัท Wisesight ซึ่งเป็นบริษัทที่ผมได้ลงทุนไว้นานแล้ว ทำเกี่ยวกับเรื่อง Big Data การวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย 

Wisesight ใช้วิธีการบริหารงานในแบบเดียวกับที่ผมได้ฟังจาก DEFg เป๊ะเลยคือ Agile และ Scrum ที่นี่มีพนักงานประมาณ 160 กว่าคน CEO และผู้บริหารทุกคนไม่ได้เป็นคนชี้นำแต่จะเป็นคนสนับสนุนให้แต่ละทีมในองค์กรเดินไปข้างหน้า

วิธีการทำงานคือจะแบ่งออกเป็นทีมเล็ก ๆ ในเชิงธุรกิจเราจะเรียกว่าเป็น business unit หรือ BU หรือคล้าย ๆ กัน แต่จุดที่ต่างกันก็คือใน BU แบบ Agile เหล่านี้จะมีทุกอย่างครบเลยทั้งทีมเซลส์ มาร์เก็ตติ้ง ฯลฯ และจุดที่ต่างจากทั่วไปคือเขาจะคิดเอง ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาทีมงานจะแก้ปัญหากันเอง จากแบบเดิมที่เมื่อเกิดปัญหาขึ้นผู้บริหารหรือ CEO จะต้องลงไปแก้ปัญหา แต่การทำงานแบบนี้ ทีมจะเป็นคนคิด หาวิธีการ และช่วยกันแก้ปัญหา

การรวมกันเป็นยูนิตและเปลี่ยนวิธีการคิด วิธีการทรานส์ฟอร์มภายในการสร้างองค์กร เมื่อเกิดปัญหาคนทั้งทีมจะลงมาช่วยกันแก้ปัญหา เป็นการสร้างบรรยากาศของการทำงานที่ทุกคนจะช่วยเหลือและเติบโตไปข้างหน้าด้วยกัน ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นวิธีการที่เจ๋งมากครับ

การทำงานแบบใหม่นี้ผู้บริหารก็ต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น ผู้บริหารห้ามใช้คำสั่งแต่ต้องใช้วิธีกระตุ้นให้ทีมงานแก้ปัญหาด้วยตนเอง สังเกตได้ว่าองค์กรทางด้านเทคโนโลยีในยุคหลัง  ผู้นำองค์กรบางทีไม่โดดเด่นมากนัก อย่างกูเกิลบางคนยังไม่รู้จักหน้าตาของ CEO เลยว่าเป็นใคร แต่กูเกิลกลับสร้างนวัตกรรมได้มากมายมหาศาล

องค์กรที่มีวิธีคิดแบบใหม่มักเอาวิธีคิดแบบ Agile เข้ามาใช้ และเอาวิธีการทำงานแบบ Scrum มาใช้ นั่นคือการทำงานเป็นรอบเวลา ทำงานแบบเร็ว ทุกคนช่วยกัน โดยเป็นแบบ transparency คือทุกคนเห็นเหมือนกันทั้งหมดว่าทีมกำลังขับเคลื่อนไปทางไหนหรือทำอะไรกันอยู่

ลักษณะการทำงานของ Agile จะไม่มีแผนก ทุกคนจะอยู่ด้วยกัน มีปัญหาปุ๊บทุกคนจะช่วยกัน แต่ละคนจะทำหน้าที่ของตัวเอง เป็นการทำงานที่มี spint หรือเป็นรอบเวลา จากเดิมที่งานหนึ่งต้องใช้เวลา 3 เดือนแต่ Agile จะไม่ใช่อย่างนั้น จะมองเป็น spint เช่น spint หนึ่งจะเป็นทุก ๆ 2 อาทิตย์ เราจะเห็นงานออกมาลำดับหนึ่งและงานจะยังไม่สำเร็จ เป็นการเห็นโครงงานคร่าว ๆ ที่คนคิดงาน คนออกแบบงานจะเห็นพร้อมกัน จะรู้ว่าอันไหนที่ไม่ใช่ อันไหนต้องปรับปรุง ฯลฯ ทุกคนช่วยกันแก้ไข 

ฉะนั้นในแง่ของการทำงาน งานจะถูกพัฒนาในทุก ๆ 2 อาทิตย์ ไปเรื่อย ๆ ซึ่งแตกต่างจากแบบเดิมที่จะเห็นงานเสร็จตอน 3 เดือน ซึ่งการปรับแก้อาจจะใช้เวลามากกว่าเดิม แต่ Agile จะเห็นงานแบบมีความถี่มากขึ้น

เมื่อพูดถึงคำว่า Agile ก็คือความคล่องตัว ความคล่องแคล่วว่องไวในการทำธุรกิจ ซึ่งบริษัทยุคใหม่ ๆ จะเน้นเรื่องพวกนี้มาก จากเดิมที่เราเคยทำงานเป็นแบบ Waterfall คือต้องมีการวางแผนก่อน ทำ Gantt chart ทำงานตามลำดับเหมือนน้ำไหลลงไปเรื่อย ๆ ในแนวดิ่ง การทำงานที่ต้องส่งต่อกันไปเรื่อย ๆ ก็จะมีปัญหาเพราะบางครั้งสุดท้ายผลงานที่ออกมากลับไม่ใช่อย่างที่ต้องการ เสียเวลาไปมากมายแต่ต้องเอากลับมาปรับใหม่ทั้งหมด 

วิธีการทำงานที่เปลี่ยนไปจากแบบเดิมนี้ทำให้เห็นข้อดีคือ 1. สปีดในการทำงานจะเร็วขึ้น 2. งานที่ได้มานั้นจะตอบโจทย์คนที่อยากได้งานนั้นมากกว่า 

เดี๋ยวนี้บริษัทรูปแบบใหม่ ๆ ต่างหันมาใช้วิธีนี้ในการทำงาน  และไม่จำเป็นว่าต้องเป็นบริษัทที่ทำแต่ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น การทำงานแบบนี้มุ่งหวังไปที่ความเร็วและการ collaboration หรือการทำงานร่วมกันได้ ซึ่งองค์กรขนาดใหญ่มักจะมีเรื่องนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าในองค์กรที่มีหลายร้อยคนจะทำได้หรือไม่ ที่ผมไปดูงานมานั้นมีพนักงาน 200 คนยังทำได้เลย และมี turnover พนักงานหรือมีการลาออกของพนักงานที่ต่ำมาก เพราะพวกเขารู้สึกว่านี่คือทีมของเขาหรือเขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง และพวกเขาช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ดีมาก

การเริ่มต้นไม่จำเป็นต้องทำทั้งองค์กรพร้อมกัน คำแนะนำของผมคืออาจจะเริ่มต้นในบางสินค้าหรือบริการที่สามารถแยกออกมาเป็นยูนิตของตัวเองได้ มีกฎของตัวเอง ควบคุมตัวเองได้ ตรงนี้แหละครับที่เรียกว่าการทำ self management หรือการที่ทีมบริหารตัวเองได้ 

หากสนใจอาจเริ่มจากเล็ก ๆ ก่อน ผมว่ายังไม่ควรเริ่มใหญ่ทั้งองค์กร และที่สำคัญต้องมีคนที่มีประสบการณ์ที่เป็นโค้ชทางด้าน Agile มาช่วย อย่างที่ WISESIGHT ที่ผมไปดูงานเขามีคนเก่งและมี mindset เรื่องพวกนี้อยู่ เราต้องมีคนที่เข้าใจเรื่องพวกนี้มาช่วยควบคุมให้มันเดินไปตามทิศทาง ต้องเป็นคนมีวินัยและความมั่นใจสูงในเรื่องพวกนี้ด้วยครับ