การมาของดิจิทัลทำให้ทุกบริษัทหรือทุกองค์กรต่างต้องการเพิ่มทรัพยากรบุคคลในด้านดิจิทัล ยุคนี้เป็นยุคที่ทุกอุตสาหกรรม ทุกธุรกิจต้องการเอาไอทีหรือดิจิทัลเข้ามาใช้ แต่ทุกบริษัทต่างก็จะพบปัญหาเหมือน ๆ กันในเรื่องของการหาคนเข้ามาในทีม เพื่อที่จะทำให้องค์กรปรับเข้าสู่โลกดิจิทัลได้รวดเร็วมากขึ้น
จริง ๆ การเข้าสู่โลกดิจิทัลทำได้หลายอย่าง เช่น การสร้างทีมของคุณเองขึ้นมาเป็นการขับเคลื่อนจากภายใน หรือใช้ outsource หรือการเอางานด้านไอทีไปให้คนข้างนอกองค์กรมาช่วยทำให้ ทั้งสองส่วนนี้ต่างก็มีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกัน
อย่างสร้างทีมภายในขึ้นมาข้อดีก็คือ ความเข้าใจในองค์กร ความเข้าใจในสินค้าและบริการ ความเข้าใจปัญหาภายในองค์กร เมื่อมีการคิดอะไรขึ้นมาก็จะตอบโจทย์กับปัญหาหรือโจทย์ที่เกิดขึ้นในองค์กรได้ดีกว่า แต่สิ่งที่ท้าทายก็คือเราจะทราบได้อย่างไรว่าคนที่เราเอาเข้ามาในองค์กรเป็นคนที่เก่งจริง มีประสบการณ์จริง และเราจะหาคนทางด้านนี้มาได้อย่างไร หามาแล้วจะใช่หรือไม่ คนด้านไอทีเดี๋ยวนี้จะหาที่ทั้งเก่งและถูกมันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากครับ เหมือนการงมเข็มในมหาสมุทรอย่างนั้นเลย
เพราะคนที่ทำงานเก่ง ๆ ในสายงานด้านดิจิทัลหรือไอที ต้องเข้าใจก่อนว่าเดี๋ยวนี้เด็กจบใหม่อายุการทำงานของพวกเขา 2 ปีก็เปลี่ยนงานกันแล้ว โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่เท่าที่ผมเห็นส่วนใหญ่ไม่เกิน 3 ปีก็จะย้ายงานกัน เพราะหนึ่งบางคนก็เบื่องาน และสองบางคนที่เก่ง เมื่อทำงานไปได้สักพักก็จะเริ่มไปเข้าตาบริษัทอื่นและโดนดึงตัวได้ไม่ยาก
การดึงตัวนี่เองที่เป็นการทำให้เงินเดือนพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก บางคนเมื่อจบใหม่เริ่มต้นที่สองหมื่นกว่าแป๊บเดียวขึ้นไปสามหมื่นกว่า บางคนอายุไม่ถึงสามสิบแต่เงินเดือนขึ้นไปถึงสี่ห้าหมื่นแล้วก็มี และในสายงานดิจิทัลนี่บางคนอายุประมาณสามสิบกว่าแป๊บเดียวเงินเดือนขึ้นไปเป็นแสนแล้วครับ
การหาคนในยุคดิจิทัล
การหาคนในยุคนี้มีหลายวิธี อย่างการหาตามเว็บไซต์หางานทั่วไป ผมแบ่งเว็บหางานออกเป็น 2 เทียร์ คือ
เทียร์ที่หนึ่งก็คือระดับบน เราต้องการคนในระดับที่เป็นผู้บริหาร คนเก่ง ๆ ใช้ภาษาอังกฤษได้ ฯลฯ ก็จะมีเว็บไซต์ เช่น JobsDB, JOBTOPGUN ฯลฯ หรือ
อีกเทียร์ที่เป็นระดับกลางหรือระดับล่างลงมา เช่น JobThai, JobTH ฯลฯ
ดังนั้น คุณต้องการคนกลุ่มไหนแต่ละเว็บไซต์ก็จะชี้ว่าคนกลุ่มไหนจะเข้าไปอยู่ หรือคุณอาจต้องเข้าไปหาในเว็บที่เป็นแบบเฉพาะทางจริง ๆ เช่น คนในสายโรงงาน สายโรงแรม ฯลฯ ปัจจุบันมีเว็บหางานที่เป็นแบบเฉพาะทางด้วยเหมือนกัน แต่การใช้เว็บหางานเหล่านี้ก็ต้องใช้เวลาและคนอาจจะเข้าไปกระจุกอยู่ตรงนั้นมาก
แต่ยุคนี้เป็นยุคใหม่ที่ HR มีการปรับตัวมากขึ้น HR รุ่นใหม่ ๆ จะไปหาคนตามกรุ๊ปต่าง ๆ อย่าง Facebook Group จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในระดับกลางถึงระดับล่าง เช่น กลุ่มคนขับรถ งานบัญชี งานดีไซน์ ฯลฯ จะมีกลุ่มอยู่มากมายหลายกลุ่ม ดังนั้น วิธีการที่ทำกันก็คือ HR หลาย ๆ ที่จะเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในกลุ่มเหล่านั้น และไปประกาศว่าต้องการคนแบบไหน คุรสมบัติอย่างไร ซึ่งจะได้คนอย่างรวดเร็วมากเพราะเป็นคนสายงานนั้น ๆ โดยตรง
แต่ถ้าต้องการคนที่อยู่ในระดับบน ตอนนี้ก็จะมีเว็บในระดับโลกที่ชื่อ LinkedIn ที่คุณสามารถเข้าไปสร้างโปรไฟล์เหมือนเป็นออนไลน์เรซูเม่ของตัวเองได้ หากเป็นผู้บริหารก็สามารถเข้าไปสร้างตัวตนบนนั้นได้เหมือนกัน ฉะนั้น ใครก็ตามที่ต้องการหางานที่เป็นระดับสูง ๆ เว็บนี้จะเหมาะมาก หรือเราต้องการขยายธุรกิจไปต่างประเทศหรือไปหาผู้บริหารระดับประเทศ การใช้ LinkedIn จะเป็นช่องทางที่ดีมากเพราะสามารถลิงก์ไปได้เลยว่าเราควรจะหาคนแบบไหน
หรือในบางครั้งที่การอาจหาคนแบบประจำเลยก็จะลำบาก ผู้ประกอบการบางคนอาจหาคนแบบที่เป็นฟรีแลนซ์ไปก่อน ก็จะมีเว็บหางานที่เป็นฟรีแลนซ์ เช่น Freelancebay.com หรือเว็บที่เป็นสตาร์ทอัพที่ชื่อ Fastwork.co ทั้งสองเว็บนี้จะมีบรรดาฟรีแลนซ์ไปอยู่เต็มไปหมด
จุดเด่นของเว็บแบบนี้คือคุณสามารถเลือกได้เลยว่าจะเอาฟรีแลนซ์แบบไหน สามารถดูโปรไฟล์ก่อนได้ และการจ้างงานฟรีแลนซ์มักพบปัญหาว่าฟรีแลนซ์มักกำเงินแล้วหนีหายไปแต่งานไม่เสร็จ แต่เว็บเหล่านี้จะเป็นคนกลางให้ โดยเงินที่จ่ายไปจะไปอยู่ที่เว็บคนกลางนี้ก่อน หากฟรีแลนซ์ยังทำงานไม่เสร็จก็จะยังไม่ได้เงิน จะช่วยลดปัญหาในเรื่องของงานและเงิน
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือคนที่มีส่วนสำคัญในการปรับเข้าสู่ดิจิทัล ทั้งจะหาคนเข้ามาทำงานประจำหรือหาฟรีแลนซ์ก็ตาม แต่สิ่งสุดท้ายที่ผมจะฝากก็คือเรื่องของ วัฒนธรรมองค์กร การบริหารเด็กรุ่นใหม่หรือรับคนรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาทำงานในองค์กร บางครั้งการให้เขาอยู่ในวัฒนธรรมแบบเดิม ๆ อาจจะลำบาก จำเป็นต้องมีความยืดหยุ่น ต้องให้ความสำคัญกับตรงนี้ด้วย เพราะที่สุดแล้วอาจกลายเป็นว่า หาคนแทบตายกลับไม่สามารถรักษาพวกเขาไว้ได้เลยสักคน