เงินคริปโตเป็นเรื่องที่ผมเคยคาดการณ์ไว้แล้วว่าปีหน้าจะเริ่มเกิด Crypto Commerce คือการขายของเริ่มมีการนำคริปโตเข้ามาใช้ แต่วันนี้มาดูในแง่ของความท้าทายและการยอมรับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกันก่อน 

ผมเองมีการคุยกับบรรดาผู้ให้บริการ Exchange อยู่บ้าง เพราะผมมีบริษัทที่ทำเพย์เมนต์เกตเวย์อยู่ ทุกวันจะมีคนหลายหมื่นคนเข้ามาชำระผ่านช่องทางของผม บางคนก็ต้องการชำระผ่านบัตรเครดิตบ้าง ผ่อนชำระบ้าง ฯลฯ ซึ่งก็ต้องมีการไปเชื่อมต่อกับทุกธนาคาร ถ้าใครมาเชื่อมต่อกับบริษัทของผมก็จะทำการชำระแบบออนไลน์ได้ทันที รับเงินผ่อนก็ได้ รวมถึงอาลีเพย์และอื่น ๆ 

ย้อนไปประมาณ 7 ปีก่อนช่วงที่บิตคอยน์เพิ่งเริ่มในเมืองไทย ผมเป็นเจ้าแรกเลยที่เปิดรับจ่ายเงินด้วยบิตคอยน์ คือถ้าใครเข้ามาชำระเงินผ่านบริษัทของผมจะมีอีกทางเลือกหนึ่งเพิ่มขึ้นมาคือจ่ายด้วยบิตคอยน์ ใช้วิธีการคือการไปเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการ Exchange ที่ทำหน้าที่ซื้อขายคริปโตตอนนั้นคือ BX ที่ถือว่าเป็น Exchange รุ่นแรก ๆ ในไทย มาก่อน Bitkub ด้วย แต่เจ้าของไม่ใช่คนไทย

ในยุคหลังนี้ต้องบอกว่าการทำสกุลเงินดิจิทัลเริ่มมีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น สิ่งที่ภาครัฐกลัวเรื่องคริปโตหลัก ๆ มีไม่กี่เรื่องคือ สินทรัพย์ดิจิทัลไม่เหมือนการโอนเงินผ่านธนาคาร เพราะเราไม่รู้ว่าเจ้าของหรือคนที่ถือเหรียญนั้นเป็นใคร 

โลกของคริปโตเคอร์เรนซีเป็นโลกที่โปร่ง ทุกอย่างเห็นได้หมดว่ามีการทำธุรกรรมโอนจากไหนไปไหน ดูของทุกคนบนโลกนี้ได้หมด แต่จะไม่รู้ว่ากระเป๋าต้นทางเป็นใครและกระเป๋าปลายทางเป็นใคร นั่นคือปัญหา เราจะเห็นในลักษณะของรหัสเลขบัญชีวอลเล็ตนี้ไปวอลเว็ตนั้นแต่ไม่เห็นเป็นชื่อของใคร 

ย้อนไปสัก 4 ปีก่อนอเมริกามีมาร์เก็ตเพลสชื่อ Silk Road ขายของผิดกฎหมาย ซึ่งมาร์เก็ตเพลสนี้การจะเข้าไปได้ต้องผ่านระบบ Tor ซึ่งเป็นการเข้ารหัส เมื่อเข้าไปแล้วจะไม่รู้เลยว่าผู้ซื้อ-ผู้ขายเป็นใคร และใช้คริปโตเคอร์เรนซีเป็นเครื่องมือในการจ่ายเงิน ทำให้ไม่รู้ว่าคนคนนั้นเป็นใคร เว็บนี้จึงโด่งดังมากในวงการสินค้าผิดกฎหมาย ดังนั้น เหรียญคริปโตจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในด้านผิด ๆ 

และสิ่งหนึ่งที่แบงก์ชาติไม่ค่อยอยากสนับสนุนให้เอาบิตคอยน์มาใช้ในเรื่องซื้อขายก็คือ เงินคริปโตมีความผันผวน ถ้ามีการนำมาใช้ในการซื้อขาย จะทำให้เจ้าของธุรกิจขาดทุนได้ และมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 

แต่ผมว่าสิ่งหนึ่งที่แบงก์ชาติและ ปปง.กลัว เพราะในอีกฟากหนึ่งที่เป็นโลกมืดก็จะมีพวกมิจฉาชีพหรือทำงานในด้านมืดที่ใช้พวกเงินคริปโตเป็นเครื่องมือในการจ่ายเงิน เพราะการที่สรรพากรเรียกเก็บภาษีหากมีเงินเข้าบัญชีเกิน 400 ครั้งต่อปีนั้น มีผลกระทบต่อธุรกิพวกพนันออนไลน์หรือหวยออนไลน์ ฯลฯ ที่จะมีการโอนเงินเกินจำนวนอย่างแน่นอน สิ่งที่น่ากังวลคือต่อไปการโอนเงินจะเป็นการโอนแบบคริปโตซึ่งจะตรวจสอบอะไรไม่ได้เลย

นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้การจ่ายค่าบริการต่าง ๆ เช่น เกม NFT ในออนไลน์ สามารถจ่ายด้วยคริปโตได้อีกช่องทางหนึ่งด้วย ซึ่งการโอนด้วยคริปโตนั้นง่ายมาก โอนแล้วส่ง Transaction Log เป็นลิงก์ URL ที่บอกว่ารายการจากวอลเล็ตของผมวิ่งออกไปวอลเล็ตของเขาแล้ว ซึ่งทุกคนสามารถดูรายการนี้ได้เหมือนกัน แต่จะไม่รู้ว่าเป็นวอลเว็ตของใครเท่านั้น

การที่ไม่รู้ว่าเป็นใครนั้น แบงก์ชาติจึงต้องเข้าไปกำกับดูแลผู้ให้บริการซื้อขายแลกเปลี่ยนคริปโตในประเทศไทยหรือ Exchange ไม่ว่าจะเป็น Bitkub, Zipmex, Satang ฯลฯ โดยกำกับแน่นหนามากคือ ต่อไปใครจะสมัครคริปโตผ่านผู้ให้บริการเหล่านี้ต้องทำการยืนยันตัวตนหรือ e-KYC เสียก่อน แต่ภาครัฐเองก็ยังมองว่าวิธีนี้เป็นการยืนยันตัวตนแบบขั้นต่ำอยู่ หากต้องการให้สูงกว่านั้นต้องเป็นการนำบัตรประชาชนไปเสียบเข้าไปในเครื่องอ่าน เรียกว่าการ Dip Chip ที่ความปลอดภัยถือเป็นระดับสูงขั้นที่สองหรือสามเลย

ตรงนี้เองก็สร้างความปวดหัวให้กับคนในโลกคริปโตหรือวงการการเงินอยู่เหมือนกัน แม้การเปิดบัญชีคริปโตยังไม่ใช่แบบ Dip Chip ยังใช้แบบขั้นต่ำอยู่ แต่หากคุณต้องการเปิดบริการคริปโตไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการใดบอกได้ว่าตอนนี้ต้องใช้เวลามากกว่าที่เคย 

เพราะตัวเลขผู้ที่สมัครใช้คริปโตเป็นหลักล้านคนแล้ว ทำให้ผู้ให้บริการเหล่านี้ทำงานไม่ทัน เพราะต้องทำตามขั้นตอนของ กลต. ปปง. ที่กำหนดให้ต้องดูให้ดีว่าผู้ที่สมัครเป็นใคร ตัวจริงหรือไม่ หลักฐานบัตรประชาชน เลขที่ ทะเบียนบ้าน ยืนยันใบหน้า ฯลฯ แต่ละขั้นตอนใช้เวลานานมาก เพราะคนไทยกำลังตื่นตัวเรื่องพวกนี้มาก

ฉะนั้น ตอนนี้การซื้อขายเหรียญคริปโตผ่านผู้ให้บริการ Exchange ในประเทศไทยต้องมีการยืนยันตัวตน จึงทำให้รู้ว่าเงินเทรดที่ใคร ไปที่ไหน ฯลฯ ได้ แต่ก็ยังมีจุดอ่อนคือ หากผมโอนเงินออกไปนอกประเทศก็จะไม่สามารถรู้ข้อมูลเส้นทางของเงินได้ จะเห็นว่ามีช่องโหว่ การจะไปจัดการเรื่องนี้บอกได้เลยว่าลำบากมาก 

แม้รัฐบาลกลางหลายประเทศไม่สนับสนุนเงินคริปโต แต่ประเทศเอลซัลวาดอร์กลับอ้าแขนรับบิตคอยน์เป็นสกุลเงินหลักของประเทศ และรัฐบาลยังเปิดบริการวอลเล็ตขึ้นมาคล้ายเป๋าตังของเราชื่อว่า Chivo ประชาชนทุกคนสามารถสมัครวอลเล็ตนี้ได้เลย ในวอลเล็ตจะมีเงินให้ประมาณหนึ่งพันบาทแต่เป็นบิตคอยน์รออยู่แล้ว สามารถนำไปจับจ่ายในประเทศได้เลย 

ทำไมเอลซัลวาดอร์จึงเปิดรับบิตคอยน์ เพราะเอลซัลวาดอร์เป็นประเทศหนึ่งที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก เงินของตัวเองใช้น้อยมาก นั่นหมายถึงในแต่ละปีจะมีค่า fee ในการโอนเงินไปมาจำนวนมหาศาล ฉะนั้น การผลักดันให้เป็นเงินบิตคอยน์ในการโอนเงินแต่ละครั้งนั้นถูกกว่าเยอะมาก 

เพื่อนบ้านเราอย่างกัมพูชาก็เป็นประเทศหนึ่งที่เริ่มมีการทำแล้ว และกัมพูชาเป็นอันดับ 2 ของโลกในการทำ central bank digital currency (CBDC) หรือเงินดิจิทัลของภาครัฐ ชื่อว่า บากง (Bakong) ด้วยเหตุผลเดียวกับเอลซัลวาดอร์คือการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลักมากกว่าเงินเรียลของตัวเอง ทำให้เสถียรภาพทางการเงินค่อนข้างลำบาก 

บอกได้เลยว่า ถึงแม้รัฐบาลจะปฏิเสธโลกคริปโตที่เป็นระบบโอเพ่นซอร์ส หรือผมเรียกว่าเป็น Defi Decentralized คือไม่มีตัวตน มันอยู่ทุกที่ทุกหนทาง แต่รัฐบาลต่าง ๆ พยายามสร้างเงินคริปโตของตัวเองขึ้นมาแต่เป็น Decentralized ที่สามารถควบคุมได้ คือจะรู้หมดว่าใครโอนไปไหนอย่างไร

จุดเด่นของภาครัฐที่หันมาใช้เงินคริปโตของประเทศตัวเอง ข้อดีคือสามารถโอนเงินเข้าระบบคริปโตภายในประเทศเข้าวอลเล็ตของประชาชนแต่ละคนได้เลย ไม่ต้องผ่านธนาคาร รัฐบาลจะรู้รายการธุรกรรมของประชาชนได้เลยทั้งหมดทุกอย่าง รัฐสามารถควบคุมเสถียรภาพทางการเงินและรู้ได้ว่าเงินไปอยู่ที่ไหน 

จุดเด่นของเงินดิจิทัลคือรัฐสามารถควบคุม จัดการ เห็น และสามารถวางกลยุทธ์ทางการเงินได้ง่ายมากกว่าปกติ คริปโตเมื่อดูในแง่ของภาครัฐที่อยู่ในการควบคุมก็ดูดีเลยทีเดียว แต่อีกมุมก็คือทุกคนก็จะมองเห็นได้หมดว่าเงินไปไหน ไปอย่างไร เพราะเป็นระบบเปิดอย่างที่บอกไป