สถานการณ์สตาร์ทอัพตอนนี้หลายตัวยังดูดีอยู่ แต่หลายธุรกิจอาจมีปัญหาบ้างในช่วงโควิด ต้องบอกว่าในช่วงโควิดธุรกิจสตาร์ทอัพหลาย ๆ บริษัทได้ผลบวก เพราะหลายคนหันมาใช้ดิจิทัลมากขึ้น ฉะนั้นบริษัททางด้านดิจิทัลหลายแห่งก็ได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ไปค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว
วงการสตาร์ทอัพเป็นวงการที่ตอนเติบโตยุคแรก ๆ จะเป็นธุรกิจที่ได้รับเงินจากนักลงทุนหรือพวก Venture Capital โดยนักลงทุนเองก็มีหลายระดับ หากเป็นการเปิดบริษัทมาใหม่ ๆ อาจจะต้องการนักลงทุนตัวเล็ก หรือ Angel Investor หรือบางคนต้องการเป็นแบบ Seeding คือเอาวงเงินหลักแสนบาทถึง 1-2 ล้านบาทไปเลย
เมื่อธุรกิจสตาร์ทอัพเล็ก ๆ ได้เงินจาก Angel Investor มาทำให้สามารถโฟกัสการทำสินค้าหรือบริการออกมาในทางที่ดีขึ้นและสามารถจ้างคนเก่ง ๆ ได้โดยไม่ต้องสนใจในเรื่องของกำไรหรือขาดทุน จึงทำให้ธุรกิจมีอัตราการเติบโต
ต่างจาก SME ที่ต้องเริ่มด้วยตัวเอง อาจต้องใช้เงินตัวเองหรือต้องไปกู้ธนาคารมา ทำให้ SME มีมายด์เซตคนละอย่างกับทางสตาร์ทอัพ คือ SME จะค่อย ๆ ทำไปเพราะใช้เงินตัวเองหรือไปกู้มา จึงไม่กล้าโต กลัวขาดทุน ต้องเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่สตาร์ทอัพไม่กลัวการขาดทุนเพราะไม่ใช่เงินตัวเองจึงเติบโตตลอด และเมื่อมีอัตราการเติบโตนักลงทุนกลุ่มต่อไปก็สนใจและมีเงินก้อนใหม่เพิ่มเข้ามา
นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนที่จะมีภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เมื่อมีภาวะเศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้น การระดมเงินจากนักลงทุนจึงเป็นเรื่องที่มีความท้าทายมากขึ้น เพราะนักลงทุนเองก็ต้องมีความระมัดระวัง หลายคนจึงคิดว่าเก็บเงินสดไว้ก่อนดีกว่าอย่าเพิ่งไปลงทุนในสตาร์ทอัพ ทำให้การลงทุนในสตาร์ทอัพหลาย ๆ แห่งมีน้อยลง การได้เงินของสตาร์ทอัพหลาย ๆ แห่งมีความลำบากมากขึ้น
ถามว่าเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ในอดีตที่ผ่านมานั้นครั้งนี้เหมือนฟองสบู่สตาร์ทอัพแตกหรือไม่ ผมมองว่ายังไม่แตกแต่อาจจะมีการหดตัวในบางพื้นที่ เช่น ประเทศจีน ที่เราได้ข่าวว่ารัฐบาลจีนส่งสัญญาณอย่างรุนแรงมาก เบรกบรรดาบริษัทเทคโนโลยีในจีนไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบากรุ๊ป เหม่ยถวน (Meituan) แพลตฟอร์มการขายอาหารของจีน ฯลฯ ก็โดนรัฐบาลจีนเข้าไปเบรกทั้งหมด
ทำให้ในแง่ของภาวะการลงทุนในบริษัทเทคโนโลยีหรือสตาร์อัพในประเทศจีนเกิดความชะงัก เพราะว่ารัฐบาจีนมองว่าบริษัทเหล่านี้เริ่มเติบโตและเริ่มปีกกล้าขาแข็ง เริ่มมีอำนาจผูกขาด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจีนไม่ชอบ จึงมีการสกัดกัน
ในช่วงปีที่แล้วและปีนี้จะเริ่มเห็นว่าหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีของจีนตกกันระเนระนาด แต่ตอนนี้กำลังค่อย ๆ กลับมาเพราะว่ารัฐบาลจีนเริ่มเห็นแล้วว่าการที่ไปเบรกมากเกินไปทำให้เศรษฐกิจของจีนเองก็เริ่มถดถอย
สิ่งที่จะช่วยเร่งให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวขึ้นมาได้เร็วก็คือการกลับมาสนับสนุนบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ แต่ก็กลับมาแบบต้องมีกรอบที่ชัดเจน ฉะนั้น จีนในช่วงวิกฤตินี้ผมขอใช้คำว่ากำลังกลับมาแล้ว สำหรับประเทศอื่น เช่น ในอเมริกาก็มีผลกระทบมากเลยทีเดียว นักลงทุนหลาย ๆ คนก็กำเงินสดเอาไว้ การลงทุนเป็นไปได้ลำบากมากขึ้น
ส่วนตัวผมเองเป็นนักลงทุน Angel Investor เช่นกัน แต่ผมกลับมองว่าช่วงนี้เป็นโอกาสของนักลงทุน เพราะเมื่อก่อนบรรดาสตาร์อัพขึ้นชื่อเลยว่า Overvalue คือแพงเกินไป ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้บรรดาบริษัทสตาร์อัพที่เคยต้องลงทุนแพงตอนนี้ราคาเริ่มลงมาแล้ว ทำให้นักลงทุนสามารถกลับเข้าไปลงทุนได้ง่ายมากขึ้น
ในไทยเองตอนนี้บริษัทสตาร์ทอัพน้อยลงจริง ๆ เพราะการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยลง แต่ยังมีสตาร์ทอัพหลายแห่งที่อยู่รอดและเติบโต บางแห่งเติบโตในรูปแบบที่ไม่ใช่การเบิร์นเงินแล้วแต่เติบโตในรูปแบบที่เรียกว่าไม่ว่าจะอย่างไรก็ต้องอยู่รอดให้ได้ ซึ่งสตาร์ทอัพไม่เหมือน SME ตรงที่ยังมีนวัตกรรมอยู่และยังมีความได้เปรียบในแง่ที่ยังมีเงินจากนักลงทุนมาจุนเจืออยู่ในบางช่วง
ผมจึงเชื่อว่าธุรกิจสตาร์ทอัพยังไปได้อยู่ อย่างผมเป็นนักลงทุนในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ผมลงทุนในสตาร์ทอัพไทยไปเกือบ 40 บริษัท ในช่วงแรกผมเข้าไปลงทุนช่วงแรกแบบ Angel Investor ได้หุ้นมาจำนวนมาก และปีที่แล้วผมมีการ exit คือการขายหุ้นบางส่วนออกไป
นักลงทุนแบบ Angel Investor หรือกลุ่มแรก ๆ จะมีความเสี่ยงสูงมากเพราะโอกาสที่บริษัทจะเจ๊งมีสูงมาก เมื่อไปลงทุนในช่วงที่มีความเสี่ยง สิ่งที่จะได้ตอบแทนกลับมาคือหุ้นจำนวนมาก หากลงทุนสตาร์ทอัพในช่วงสเตทหรือเริ่มเติบโต เริ่มมีรายได้หรือกำไร บริษัทจะเริ่มมีราคาแพงขึ้น ฉะนั้นจ่ายเท่าเดิมอาจได้หุ้นน้อยลงหรือซื้อไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
หลักการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพหรือเป็น Angel Investor ของผมคือ ปกติคนจะลงแต่เงินให้น้อง ๆ ไปทำกันเอง แต่ผมจะเข้าไปช่วงวางแผน วิเคราะห์กลยุทธ์ ไปช่วยดู ไปแนะนำ เอาเน็ตเวิร์คที่มีไปช่วย ฯลฯ ช่วยจนเขาสามารถเติบโต ผมจะเป็นนักลงทุนแบบ Venture Builder จึงทำให้ธุรกิจที่ผมเข้าไปลงทุนนั้น อัตราที่จะประสบความสำเร็จจะมีสูงมากกว่าบริษัทที่มีแต่นักลงทุนทั่วไป เท่าที่ผมลงทุนมาสิบปี ส่วนใหญ่บริษัทที่ผมเข้าไปลงทุนในระยะ 5-6 ปี จะเป็นระยะที่บริษัทเหล่านั้นสามารถเติบโตและทำรายได้
ปีที่แล้วผมมีการ exit หรือขายหุ้นไปประมาณ 5 บริษัท ส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่มีอัตราการเติบโต และมีนักลงทุนกลุ่มต่อไปมารับต่อ เป็นนักลงทุนที่เป็น Venture Capital ที่ลงทุนจำนวนมาก เช่น เป็นพวก Corporate Venture Capital ในกลุ่มธนาคาร องค์กร บริษัทขนาดใหญ่ที่มีการตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาเพื่อลงทุน
กลุ่มบริษัทเหล่านี้จะมาลงทุนในรอบที่เริ่มมีการเติบโตแล้ว ข้อดีคือ ปลอดภัย เพราะอยู่ในระยะที่โตแล้ว เริ่มทำกำไร แต่ก็ต้องซื้อในราคาที่แพงมากขึ้นเป็นหลักสิบล้านร้อยล้านในจำนวนหุ้นที่เท่ากันกับผมเมื่อเริ่มต้น
ผมอาจขายหุ้นส่วนหนึ่งที่มีอยู่ให้กับนักลงทุนกลุ่มต่อไป ผมเองก็สามารถทำกำไรจากการขายหุ้น นั่นคือการ exit บางส่วน แต่ผมก็ยังถือหุ้นบางส่วนเอาไว้ เพราะผมถือว่าหากบริษัทเหล่านี้ยังเติบโตต่อไปได้ เดี๋ยวก็มีนักลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาลงทุนต่อ หรือบางบริษัทมีแนวโน้มที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ ผมเองก็สามารถขายหุ้นได้อีกครั้งหนึ่ง
นั่นคือเส้นทางของนักลงทุนที่เป็น Angel Investor ในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีหรือสตาร์ทอัพ ซึ่งเมืองไทยมีน้อยมาก เพราะเป็นสิ่งใหม่และยังไม่ค่อยมีใครทำสำเร็จ ผมอาจจะเป็นกลุ่มคนแรก ๆ เลยที่ลงทุนและสามารถสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพในประเทศไทยได้ครับ