<![CDATA[

ตัวเลขของการชำระเงินผ่านมือถือวันนี้ อาจบอกไม่ได้ชัดเจนนัก อาจเพราะคนไทยยังใช้มือถือชำระสินค้าน้อยกว่าการพูดคุย หรือส่งข้อความหากัน แต่ครั้งหนึ่งกูรูในวงการกระซิบว่าหากพูดถึงการชำระค่าสินค้า ที่ผู้ซื้อ และผู้ขายไม่ได้อยู่ในที่เดียวกัน ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมราว 2,000 ล้านทรานเซคชั่นต่อปี หรือคิดเป็นตัวเลขประมาณ 6 แสนล้านบาท.. การจ่ายเงินผ่านมือถือ ยังคงเป็นเส้นทางธุรกิจที่รอวันพิสูจน์ ว่าในท้ายที่สุดแล้วคนไทยชอบ "คุย" ผ่านมือถือ หรือ "จ่ายเงิน" ผ่านมือถือมากกว่ากัน

"ศิรเวท ศุขเนตร" ประธานโมบาย เพย์เมนท์ คลับ บริษัท เพย์ซี่ (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้เริ่มต้นธุรกิจพัฒนาระบบชำระเงินผ่านมือถือ อัพเดทเส้นทางธุรกิจนี้ให้ฟังว่า วันนี้ไม่ใช่ "ของใหม่" ของคนไทย เพราะปัจจุบันมีหลายบริษัท หลายธนาคาร รวมถ ึงผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ต่างก็มีบริการนี้กันเกือบทุกราย แต่ความนิยมกลับไม่ได้หวือหวาอย่างที่คาดคิด เพราะยังมีหลายปัจจัยที่ไม่ "พร้อม" หนุนให้บริการนี้เติบโตมากกว่าในระดับที่เป็นอยู่

"กลุ่มลูกค้า วันนี้ต้องบอกว่าไม่ค่อยหวือหวา ทั้งๆ ที่ตัวบริการไม่ใช่ของใหม่ ซึ่งบริษัทเองก็อาศัยช่วงนี้ในการปรับระบบ พัฒนาระบบต่างๆ ให้สามารถรองรับลูกค้าได้มากๆ รวมถึงหาวิธีใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้จ่ายเงินง่ายกว่าเดิม เรากำลังมองภาพรวมว่า ทำอย่างไรให้คนสามารถมีช่องทางการชำระค่าสินค้า หรือบริการได้ โดยที่ไม่ต้องเข้าคิว"

ศิรเวท บอกว่า อย่างไรก็ตามตอนนี้ทั้งบิล เพย์เมนท์ (Bill Payment) และการซื้อของผ่านเอสเอ็มเอสค่อนข้างลงตัว โดยเฉพาะการใช้บริการเติมเงินมือถือ ชั่วโมงเกมออนไลน์ที่ถือว่ามียอดคนใช้บริการมากพอสมควร เฉลี่ยจะชำระเงินคนละประมาณ 200-300 บาทต่อครั้ง

"ตอนนี้ ยอดทำทรานเซคชั่นยังคงที่ เพราะยังไม่ค่อยมีโปรโมชั่น แต่เราหวังว่าจะมีการเติบโตในช่วงไตรมาสสุดท้าย เพราะเราจะปรับระบบใหม่ให้กระชับ รวดเร็วมากขึ้น อาจจัดกิจกรรมกระตุ้นร่วมกับธนาคารใด ธนาคารหนึ่ง ในส่วนบิล เพย์เมนท์ จะมีแคมเปญใหญ่ๆ ใหม่ๆ ออกมา ซึ่งขณะนี้ลูกค้าของเราสามารถรับแจ้งหนี้ผ่านเอสเอ็มเอสได้ ซึ่งบางช่วงก็มียอดคนใช้มาก แต่ไม่ค่อยสม่ำเสมอ"

ศิรเวท วิเคราะห์ว่า บริการแบบนี้ขึ้นอยู่กับความสะดวกของผู้ใช้บริการ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ เพราะวันนี้หลายคนพูดเหมือนกันว่า "ไม่กล้าใช้" และเชื่อมั่นกับการจ่ายเงินที่เคาท์เตอร์ แล้วได้ใบเสร็จมากกว่า

"ผมว่าการจ่ายเงินผ่านทางมือถือยุคนี้ มันจะคล้ายๆ กับเอทีเอ็มยุคแรกๆ หรือตู้รับชำระเงินสด ที่เมื่อเพิ่งเริ่มต้น ก็ยังไม่มีคนกล้าใช้เหมือนกัน ต้องอาศัยคนรุ่นใหม่ๆ ที่ชอบทำอะไรใหม่ๆ"

แม้หลายคนจะลงความเห็นว่า การจ่ายเงินผ่านมือถือ ยังไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับคนส่วนใหญ่ได้ แต่กับลูกค้าของ "เพย์ซี่" คุณศิรเวท เปิดเผยว่า มีลูกค้าจำนวนหนึ่งใช้บริการโอนเงินผ่านมือถือต่อครั้งสูงสุดถึง 500,000 บาท

"ก็มีคนที่โอนเงินในจำนวนมากๆ แบบนี้ ผ่านทางโทรศัพท์เหมือนกัน แต่เขาต้องแจ้งชื่อบัญชีกับทางธนาคารก่อนหน้าที่เขาจะทำการโอน ผมมองว่า ในกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่าง เมื่อเขาได้ใช้ครั้งแรกแล้วมันไม่มีปัญหา สะดวก ครั้งต่อไปเขาก็จะใช้บริการอีก"

ประธานโมบาย เพย์เมนท์ คลับ บอกว่า วันนี้รายได้ของบริษัทจะมาจาก ส่วนหนึ่งของค่าเอสเอ็มเอส (ไม่ถึง 50%) ซึ่งแน่นอนว่ายังไม่คุ้มทุนในเร็วๆ นี้แน่

"ธุรกิจนี้มีช่องทางทำเงินได้อีกมาก เพียงแต่เป็นธุรกิจในระยะยาว 1-2 ปีแรก เป็นการลงทุน และต้องใช้เวลาอีกสัก 2-3 ปีจึงจะคุ้มทุน" เขาเคยให้ความเห็น

ศิรเวท บอกว่า ขณะนี้ในหลายๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชีย แปซิฟิก การจ่ายเงินผ่านทางมือถือได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่รูปแบบการให้บริการจะไม่เหมือนในไทย โดยส่วนใหญ่ในหลายประเทศอย่างมาเลเซียจะใช้รูปแบบ "ซิมทูคิท" คือถ้าจะใช้บริการชำระเงินผ่านมือถือต้องมีการเปลี่ยนซิม ซึ่งเป็นวิธีที่ค่อนข้างยุ่งยาก ขณะที่ในญี่ปุ่นก็จะใช้
บบ "คอนแทคเลส เปย์เมนท์" แค่ใช้มือถือแตะที่เครื่องรับสัญญาณแล้วจ่ายเงินได้ทันที

"ตัวเลขตอนนี้ ผมไม่แน่ใจว่า จำนวนคนที่ใช้มือถือจ่ายเงินมันมีประมาณเท่าไหร่แล้ว ต้องขึ้นอยู่กับตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือด้วยว่า มีฟังก์ชันหรือระบบที่เกื้อหนุนในบริการนี้มากน้อยแค่ไหน อาจมองได้ว่าบริการนี้มันเดินไปช้ากว่าที่คิดไว้แต่แรก แต่ก็ถือว่าเป็นการได้เรียนรู้พฤติกรรมจากลูกค้า เพราะที่ผ่านมาเราได้เชิญกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการมานั่งคุย เพื่อพัฒนาบริการให้มันดีขึ้น"

ศิรเวท บอกว่า อย่างไรเสียเขายังมั่นใจว่าบริการจ่ายเงินผ่านมือถือ ยังน่าจะเป็นธุรกิจของอนาคตที่น่าสนใจ ซึ่งต่อไปคนที่ทำธุรกิจนี้จะต้องมีวิธีคิด พลิกแพลงให้มัน "ง่าย" ในการใช้แต่ละครั้งมากที่สุด

"บริการนี้หากจะประสบความสำเร็จ มันต้องเป็นเหมือนบัตรเอทีเอ็ม ที่สามารถกดเงินได้ทุกตู้ทุกสาขาไม่จำกัด ในมือถือจะต้องมีข้อมูลทุกอย่าง เช่น หากเราต้องการซื้อชั่วโมงเกมออนไลน์ สามารถกดเลือก แล้วกดจ่ายเงินได้ทันทีเพียงปุ่มเดียว"

โดยวิธีที่ว่านี้ อาจจะยากในความเป็นจริง เพราะปัจจุบันระบบการจ่ายเงินผ่านมือถือยังต้องเน้นในเรื่องของ "ความปลอดภัย" ไว้ก่อน ทางธนาคารที่ลูกค้าเปิดบัญชีอยู่ต้องโทรเข้ามาแจ้งยืนยันการทำธุรกรรมในแต่ล ะครั้ง เพื่อความปลอดภัยสูงสุด

"บางครั้งเราก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนระหว่างความปลอดภัย และความสะดวก"

ศิรเวท ประเมินว่า สิ้นปี 49 นี้ จำนวนคนใช้บริการจ่ายผ่านมือถือ ตัวเลขจะยังไม่หวือหวา อาจอยู่ในหลักแสนคน

ปัจจุบันบริการจ่ายเงินผ่านมือถือของ "เพย์ซี่" ถือเป็นช่องทางที่ถูกพัฒนาขึ้นด้วยการร่วมมือของธนาคาร ร้านค้า ผู้ประกอบการ และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างเอไอเอส และดีแทค เพื่อให้บริการในการสั่งซื้อและชำระค่าสินค้าหรือบริการต่างๆ รวมทั้งสาธารณูปโภค โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือผูกกับบัญชีธนาคาร หรือบัญชีบัตรเครดิต บัญชีบัตรเดบิต

ที่ผ่านมาโมบาย เพย์เมนท์ คลับได้ร่วมมือกับบริษัท บีเอ็ม มีเดีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการด้านเกมออนไลน์ เปิดให้บริการ "A-Cash on Mobile" โดยผู้เล่นเกมสามารถซื้อบัตร A-Cash ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ โดยใช้วิธีส่งเอสเอ็มเอส

โดยวิธีการสั่งซื้อ A-Cash ผู้ใช้บริการเพียงพิมพ์ "รหัสสินค้า" ผ่านเอสเอ็มเอสแล้วทำการส่ง จากนั้นจะได้รับโทรศัพท์อัตโนมัติจากธนาคารให้ยืนยันรหัส PIN ก็สามารถนำไปเล่นเกมได้ทันที โดยจะได้รับ Serial Number และ พาสเวิร์ดผ่านทางเอสเอ็มเอสเพื่อใช้ล็อกอินเข้าไปเลือกเติมเวลาเล่นเกม

"วิธีการเล่นเกมด้วยการชำระเงินสั่งซื้อ A-Cash นี้ช่วยให้ผู้ปกครองสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการเล่นเกมของบุตรหลานได้สะดวก ยิ่งขึ้นด้วย"

นอกจากการซื้อบัตรผ่าน A-Cash ได้แล้วผู้ใช้ยังสามารถใช้บริการชำระสินค้าและค่าบริการอื่นๆ ได้มากกว่า 40 รายการ เช่น เติมเงินแฮปปี้ จ่ายค่าไฟฟ้า ซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ต จ่ายค่างวดรายเดือนกับอีซี่ บาย ซื้อสินค้าผ่านร้านค้าเวบไซต์ ดาวน์โหลดเพลง ทัวร์ ท่องเที่ยว ตั๋วคอนเสิร์ต ฯลฯ

โดยปัจจุบันมีธนาคารที่สามารถขอใช้บริการ ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ,กสิกรไทย ,กรุงไทย และที่กำลังจะเปิดให้บริการเร็วๆ นี้ คือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารกรุงเทพ

"แม้ว่า วันนี้จะมีผู้เล่นหลายรายในตลาด ผมมองว่าในส่วนของเพย์ซี่ไม่ได้เป็น คู่แข่งกับใคร หรือแม้แต่เอไอเอส ที่มีบริการเอ็มเปย์ หรืออย่างทรู ที่มีบ
ิการนี้เป็นของตัวเอง เพราะบริการของเพย์ซี่จะมีธนาคารเป็นผู้ให้บริการเป็นหลัก ธนาคารเป็นผู้ทำการตลาดเอง เพย์ซี่ไม่ได้เป็นผู้เก็บเงิน แต่จะเป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์รับส่งข้อมูล เป็นผู้อยู่เบื้องหลังหรือเป็นดาต้าโปรเซสซิ่งในการทำทรานเซคชั่น ผมจึงมองผู้เล่นทุกรายในตลาดนี้เป็นพันธมิตรกันทั้งหมด" ศิรเวท ว่า

ขณะที่ "คมสัน บุพนิมิตร์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด เจ้าของบริการ "เอ็มเปย์" (mPay) วิเคราะห์ว่า ปัญหาหลักที่ลูกค้าที่ไม่มีการทำ ธุรกรรมผ่านเอ็มเปย์ เพราะผู้ใช้บริการยังไม่เข้าใจวิธีการเติมเงิน ซึ่งเอ็มเปย์เตรียมเน้นสร้าง พฤติกรรมทางเลือกของการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ทั้งการเติมเงินสด และการผูกบัญชี ธนาคารหรือบัตรเครดิต โดยเฉพาะเพื่อใช้บริการเติมเงินวันทูคอล ชำระค่าบริการจีเอสเอ็ม และชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆ

"1 ปีที่ผ่านมาเอ็มเปย์เน้นสร้างการรู้ในบริการให้เกิดขึ้นกับผู้บริโภค ครึ่งแรก ของปี 2549 ใช้งบประมาณกว่า 40 ล้านบาทในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ซึ่งถือว่ามี ผลตอบที่ดีมาก โดยในช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคมที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการให้ความสนใจ เปิดใช้บริการกว่า 1 ล้านราย แบ่งการลงทะเบียนผ่าน *555 ประมาณ 5 แสนรายและผ่านการเชิญชวนทางเอสเอ็มเอสอีกประมาณ 5 แสนราย แต่การใช้งานจริงยังมีไม่มากเท่าที่ควร"

ผู้บริหารเอ็มเปย์ บอกว่า บริษัทจึงเตรียมเปิดให้บริการใหม่ โดยจับกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีการชำระเงิน เป็นประจำทุกเดือน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้งานจริง

ได้แก่ ค่าสาธารณูปโภค ซึ่งเปิดให้บริการอยู่แล้ว ชำระรอบบิลบัตรเครดิตผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะเปิดให้บริการประมาณไตรมาส 4 ของปีนี้ โดยล่าสุดมีการเจรจาความร่วมมือกับหลายธนาคารแล้ว โดยเฉพาะธนาคารที่มีสาขาน้อย เช่น สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เป็นต้น และบริการชำระรอบบิลบริการเงินผ่อนต่างๆ ที่จะเปิดให้บริการในอนาคต

"คาดว่าในปี 2551 บริการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือจะได้รับความนิยมอย่างชัดเจนมากขึ้น หลังจากที่บริการด้านเอ็นเตอร์เทนเมนท์ และ ข้อมูลข่าวสารมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น บริการด้านการเงินจะเป็นรูปแบบต่อไป เพราะเป็นแนวโน้มทั้งเทคโนโลยี และความสะดวกสบาย" คมสัน บอกอย่างมั่นใจ

ข้อมูลจาก :  เอกรัตน์ สาธุธรรม http://www.bangkokbizweek.com

]]>