<![CDATA[

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวต่างประเทศเพิ่งรายงานไว้ว่า อัตราผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั่วโลกทะลุหลัก 1 พันล้านคนไปแล้ว

ใ นจำนวนนี้ เป็นประชากรที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจที่ในสหรัฐ มีการศึกษาลงลึกถึงเรื่องพฤติกรรม "เสพติดโลกอินเตอร์เน็ต-โลกออนไลน์" แพร่หลายมากขึ้นในบางมหาวิทยาลัยถึงกับต้องจัดตั้ง "ศูนย์ให้คำปรึกษา" แก่คนที่สงสัยว่าตัวเองกำลังใช้เวลาออนไลน์มากผิดปกติ จนเสียการเรียน
ด ร.ไดแอน เวียแลนด์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยลาซาลล์ รัฐเพนซินเวเนีย ซึ่งทำงานด้านการรักษาบำบัดผู้ป่วยเสพติดโลกออนไลน์ ระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์เสพติดโลกออนไลน์อยู่ในขั้นน่าเป็นกังวลแต่ยังฟันธงไม่ได้ว่าปัญหาขยายตัวไปมากขนาดไหนแล้ว
 

สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ยอมรับ หรือ ไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังเดินไปในทิศทางนั้นเปรียบเหมือนกับผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังช่วงแรกๆ ที่จะไม่สังเกตว่าตัวเองกำลังป่วยเวลาดื่มสุราชอบอ้างว่า "ขอเป็นแก้วสุดท้าย" แต่ท้ายที่สุดก็ควบคุมพฤติกรรมการดื่มไม่ได้ ทั้งยังดื่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับผู้มีอาการเสพติดโลกออนไลน์ก็มีลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน โดยมักคิดว่า

"แค่เล่นอินเตอร์เน็ตต่อแค่ 2-3 นาทีคงไม่มีอะไรเสียหายมากมายนัก!"

ดร.เวียแลนด์ ประเมินจากประสบการณ์ว่า ทั่วสหรัฐน่าจะมีผู้เข้าข่ายเสพติดโลกออนไลน์ 5-10% ระดับของอาการจะแตกต่างกันออกไป โดยขั้นรุนแรงมากๆ อาจถึงระดับติดบ่วงเสน่หากับคู่สนทนาที่เจอกับในอินเตอร์เน็ตจนกระทั่งมีปัญหาทะเลาะกับคู่สมรสในชีวิตจริง  กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงเสพติดโลกออนไลน์มากที่สุด คือ
ผู้ป่วยหรือเคยป่วยด้วยอาการซึมเศร้า พิษสุราเรื้อรัง และมีประวัติติดยาเสพติด สำหรับคนที่สงสัยว่าเราเข้าข่ายป่วยด้วยโรคไฮเทคนี้หรือไม่ทุกวันนี้แบบทดสอบอาการเสพติดการใช้งานอินเตอร์เน็ต หรือ เสพติดโลกออนไลน์ นั้นมีแพร่หลายพอสมควร เท่าที่สำรวจตรวจสอบข้อมูลมา พอสรุปอาการเบื้องต้นได้ 10 ข้อ ด้วยกัน

 

1. หยุดเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้
ในกรณีนี้จะถือว่าอาการยิ่งรุนแรงมากขึ้นถ้าเกิดเคยสัญญากับตัวเอง หรือ บุคคลอื่นว่าจะลดเวลาการออนไลน์แต่ผลสุดท้ายก็ทำไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้

2. เริ่มโกหก
โกหกบุคคลรอบข้างว่าไม่ได้เล่นอินเตอร์เน็ต แต่จริงๆแล้วพยายามทุกวิถีทางเพื่อหาโอกาสออนไลน์

3. สถานการณ์เริ่มเลวร้ายแต่ยังไม่รู้ตัว
เมื่อเสียเวลาอยู่ในโลกออนไลน์มากๆ เข้าก็จะทำให้ไม่มีเวลาไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน

4. มีพฤติกรรมผิดศีลธรรม
เวลาเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์เริ่มกลายเป็นคนชอบโกหกหลอกลวง กล้าทำกล้าพูดในสิ่งผิดศีลธรรมเพราะรู้ว่าสามารถปกปิดสถานะที่แท้จริงของตัวเองได้

5. ไม่รู้เวลา
นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อเล่นอินเตอร์เน็ตโดยไม่รู้เวลา
จัดลำดับความสำคัญของการงาน หรือ การเรียนไม่ได้

6. ติดเน็ต-เหมือนติดยา
เวลาออนไลน์แล้วรู้สึกขัดแย้งในตัวเอง เช่น รู้ว่าการเล่นอินเตอร์เน็ตมากๆ
เป็นสิ่งไม่ดี แต่ห้ามตัวเองไม่ได้ เพราะเสพติดไปแล้ว

7.ชีวิตขาด"เน็ต"ไม่ได้
แสดงปฏิกิริยาต่อต้านทันที เมื่อถูกบีบบังคับ หรือ จำเป็นต้องลดเวลาการออนไลน์

8. คิดอะไรไม่ออก
ขณะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น รับประทานอาหาร ทำงาน อ่านตำรา ฯลฯ จะห้ามใจไม่ให้คิดถึงการเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้

9. แยกตัว
เกิดอาการแยกตัวจากสังคม ไม่กล้าเผชิญหน้ากับชีวิตจริงโดยเข้าไปหลบตัวอยู่ในโลกของอินเตอร์เน็ตแทน

10. สิ้นเปลืองเงิน
สิ้นเปลืองเงินทองไปกับการอัพเกรดคอมพิวเตอร์ การอยู่ในโลกออนไลน์ หรือ ใช้จ่ายเงินหมดไปกับเวลาค่าใช้อินเตอร์เน็ตโดยไม่จำเป็น

เหล่านี้เป็นแบบทดสอบเบื้องต้นเพื่อจะดูว่ามีอาการเสพติดอินเตอร์เน็ตหรือไม่ครับ

]]>