<![CDATA[

เทคโนโลยีการสื่อสารกับการแพทย์ดูจะเป็นเรื่องที่ไปด้วยกันได้อย่างเหมาะเจาะ เพราะนอกจากวงการแพทย์จะต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องการพัฒนายาและการรักษาโรคแล้ว ยังสามารถช่วยให้การให้บริการรวดเร็วและถูกต้องแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย

 

เริ่มจากสิ่งที่จะมาช่วยให้การดำเนินงานในโรงพยาบาล หรือช่วยให้การปฏิบัติงานของแพทย์สะดวกและง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนโครงสร้างของการรักษาพยาบาลให้เป็นระบบประกันสุขภาพของคนทั้งประเทศอย่างทั่วถึง โรงพยาบาลต่างๆ จึงต้องพัฒนาตัวเองให้สามารถรองรับนโยบายดังกล่าวได้ ในปัจจุบัน โรงพยาบาลหลายแห่งได้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มากขึ้น เช่น โปรแกรมเก็บข้อมูลและจัดการข้อมูลต่างๆ ซึ่งในขณะเดียวกันก็ช่วยประหยัดเวลาในการทำงาน ประหยัดงบประมาณในด้านของจำนวนเจ้าหน้าที่ ลดขั้นตอนการทำงานด้านเอกสาร และยังสามารถให้บริการกับคนไข้ได้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย จากข้อมูลการวิจัยของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งพบว่าการเปลี่ยนจากการทำงานโดยใช้ระบบคนและเอกสาร มาเป็นระบบสารสนเทศ ทำให้ผู้ป่วยลดเวลาในการรอคอย จาก 1 ชั่วโมงต่อคน เป็นคนละไม่ถึงครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว

 

มาลองดูตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการลงทะเบียนคนไข้ โรงพยาบาลหลายๆ แห่งหันมาใช้ระบบออนไลน์กันมากขึ้น เพราะนอกจากจะรวดเร็วและง่ายต่อการจัดการเมื่อเทียบกับระบบเอกสารแล้ว แพทย์หรือพยาบาลยังสามารถเรียกใช้ข้อมูลเมื่อต้องการได้โดยง่ายอีกด้วย การเก็บข้อมูลนี้รวมไปถึงการตรวจและประวัติคนไข้ ที่รวมไว้ในที่เดียวกัน สามารถนำมาใช้หรือช่วยในการวิเคราะห์ได้โดยง่าย เมื่อถึงเวลาในการจ่ายยา โรงพยาบาลบางแห่งได้นำเอา Online Prescription หรือระบบการให้ใบสั่งยาออนไลน์ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการสื่อสารจากห้องตรวจไปยังห้องจ่ายยา เมื่อเทียบกับการที่ต้องให้นางพยาบาลนำใบสั่งยาไปเอง นอกจากนั้นยังลดความผิดพลาด เพราะห้องจ่ายยาจะไม่เจอปัญหาอ่านลายมือแพทย์ผิด (เคยเห็นลายมือแพทย์ส่วนใหญ่ อ่านยากมากครับ)

 

นอกจากการเก็บข้อมูลแบบปกติแล้ว โปรแกรมบางประเภทยังถูกนำมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาคนไข้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นการ X-Ray จากแต่ก่อนที่คนไข้ต้องรอให้ห้องแล็ปล้างฟิล์มเสร็จ ซึ่งอาจจะกินเวลาหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน แล้วกลับมาใหม่เพื่อให้แพทย์วิเคราะห์ผลจากฟิล์ม X-Ray นั้น แต่ในปัจจุบัน เมื่อมีการต่อเครื่อง X-Ray เข้ากับคอมพิวเตอร์โดยใช้แอพพลิเคชั่นพิเศษ สามารถทำให้เห็นผล X-Ray ทางจอคอมพิวเตอร์ได้ทันที นอกจากจะประหยัดเวลาทั้งกับแพทย์และกับคนไข้ได้มากแล้ว ยังง่ายต่อการเก็บรักษาและนำมาวิเคราะห็ในครั้งต่อไปได้อีกด้วย เพราะเก็บไว้เป็นไฟล์ภาพ ไม่ต้องกลัวฟิล์มเสีย สูญหาย หรือแผ่นใหญ่เกินไป ไม่มีที่เก็บ

 

ไม่เพียงแค่การทำงานในโรงพยาบาลเท่านั้น เทคโนโลยีไร้สายยังเริ่มเข้ามามีบทบาทในทางการแพทย์ในบ้านเรา ที่เห็นได้ชัด และกำลังมีผู้พัฒนาอยู่มาก ได้แก่แอพพลิเคชั่นบน PDA เพราะทำให้การทำงานหรือการติดต่อสื่อสารระหว่างคนไข้ พยาบาล และแพทย์ทำได้สะดวกง่ายขึ้น ผ่านการสื่อสารแบบออนไลน์ พอถึงตอนนี้ เมื่อมีกรณีฉุกเฉินที่โรงพยาบาลจะต้องติดต่อแพทย์ที่ดูแลคนไข้คนหนึ่งในทันที แพทย์คนนั้นก็สามารถใช้ PDA แล้วออนไลน์เพื่อเข้ามาดูรายละเอียดหรือประวัติของคนไข้ และทำการวิเคราะห์หรือช่วยบอกทางรักษาในกรณีฉุกเฉินได้ทันท่วงที ไม่ว่าแพทย์คนนั้นจะอยู่ที่ไหนก็ตาม

 

ในกรณีตรงกันข้าม เมื่อผู้ป่วยกำลังอยู่ในระหว่างการเดินทางมาโรงพยาบาล เช่นกำลังอยู่ในรถพยาบาล เจ้าหน้าที่บนรถพยาบาลก็ยังสามารถส่งข้อมูลคนไข้จากบนรถมายังแพทย์ที่ stand by รออยู่ที่โรงพยาบาลได้ เช่นข้อมูลคนไข้ อาการ ซึ่งโรงพยาบาลบางแห่งนำเครื่องมือตรวจวัดคลื่นหัวใจมาต่อเข้ากับคอมพิวเตอร์และ Wireless Card ใช้เป็นอุปกรณ์เสริมในรถพยาบาล เพื่อส่งข้อมูลไปให้แพทย์เพ
่อวิเคราะห์อาการและหาทางแก้ไขได้ก่อนที่คนไข้จะเดินทางไปถึงโรงพยาบาล

 

วันนี้เองคุณคงจะปฏิเสธไมได้ว่า เทคโนโลยีกับวงการแพทย์กำลังก้าวไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางการแพทย์และเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร ซึ่งอนาคตอันใกล้นี้ เราคงจะได้เห็นการพัฒนาทางด้านการแพทย์และการรักษาในรูปแบบใหม่ที่จะมีการนำเอาเทคโนโลยีในรูปแบบต่างๆ มาผสมผสานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะคนที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดก็คือเราๆ ท่านๆ นั่นเองแหละครับ

]]>