“ธุรกิจขนส่ง” เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในหัวใจของธุรกิจไม่ว่าจะเป็นดิจิทัลหรือไม่ดิจิทัลก็ตาม ผมทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมา 20 ปี เมื่อ 14-15 ปีก่อนเรามีตัวเลือกอยู่เพียงไม่กี่ตัวเลือก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามเราจะใช้บริการจากไปรษณีย์ไทยเสียส่วนใหญ่ แต่เมื่อประมาณ 5 ปีทีผ่านมาเริ่มมีผู้ให้บริการรายอื่นเข้ามาเยอะมากขึ้น แล้วอะไรที่เป็นตัวเร่งให้บริษัทขนส่งเหล่านี้ผุดขึ้นมามากมาย คำตอบก็คือ อีคอมเมิร์ซ นี่แหละครับ

ในยุคที่มีแต่ไปรษณีย์ไทยเคยมีคนวิเคราะห์ว่า อีคอมเมิร์ซจะเป็นตัวเร่งให้โลจิสติกส์โตมากขึ้น เมื่อก่อนอาจยังมองเห็นไม่ชัดเจนเท่าใดนัก ไปรษณีย์ไทยเองก็ถือว่ามีการให้บริการที่ครอบคลุมในระดับหนึ่ง แต่ปัญหาที่เริ่มมองเห็นคือบางครั้งคนไทยไม่ชอบชำระค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิต อยากให้มีการเก็บเงินปลายทางหรือ COD ไปรษณีย์ไทยก็มีบริการนี้อยู่แต่จำนวนเงินสูงสุดที่รับได้ก็แค่ 3,000 บาทเท่านั้น ซึ่งแค่จะขายโทรศัพท์หรือสินค้าที่ราคาแพงหน่อยยังส่งไม่ได้เลย 

ในเวลานั้น COD ยังดูเป็นเรื่องยุ่งยากมาก นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ Lazada ที่เพิ่งเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าวและได้จับมือกับ Kerry Logistics เมื่ออีคอมเมิร์ซรายใหญ่ที่มีเงินมากมายมหาศาลและต้องการทุ่มให้คนไทยเข้ามาใช้อีคอมเมิร์ซมากขึ้น ในช่วงแรก Lazada จึงมีบริการขนส่งฟรีหรือมีค่าขนส่งก็ถูกมาก และ Kerry เองยังเปิดให้มีการเก็บเงินปลายทางได้เป็นเจ้าแรก ๆ ในประเทศไทย เก็บเป็นหมื่นบาทก็เก็บได้ จุดนี้จึงกลายเป็น game changer ไปเลย ผมวิเคราะห์ว่าที่ Kerry Logistics เติบโตมาจนถึงวันนี้ได้ก็เพราะการจับมือกับ Lazada นี่แหละครับ 

Kerry จึงเติบโตเร็วมาก สามารถให้บริการเก็บเงินปลายทางได้ทั่วประเทศ และได้ลงทุนในระบบโลจิสติกส์อย่างมหาศาล และมีเจ้าอื่น ๆ ตามมามากขึ้น สังเกตว่าราว 2 ปีที่ผ่านมาจุดแข็งไปรษณีย์ไทยคือเรื่องของสาขาและพนักงานส่งที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกันคนในพื้นที่ถูกลบและมีคู่แข่ง แค่ไม่นาน Kerry สามารถกระจายตัวได้ทั่วประเทศและมีพนักงานที่ทำได้คล้าย ๆ กันเลย

ผมลองให้ทีมงานของบริษัท Shippop สรุปมาว่าในเมืองไทยมีบริษัทขนส่งที่เป็น express (คือส่งถึงมือผู้รับ) มีทั้งหมด 54 บริษัท ต่อไปจะเริ่มเจอหน้าใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะใน 1-2 ปีนี้และในอนาคตเราจะเริ่มเจอบริษัทขนส่งที่มาจากประเทศจีนมากขึ้น อย่างตอนนี้เราเริ่มเจอ SF Express, Shentong Express, Best Express, CTT EXPRESS, J&T Express ฯลฯ บ้างแล้ว 

เดี๋ยวนี้ธุรกิจการขนส่งมีการแข่งขันที่น่ากลัวมาก เริ่มมีการใช้ดารามาเป็นพรีเซนเตอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ กลุ่มผู้ให้บริการยุคหลัง ๆ โดยเฉพาะจากประเทศจีนเข้ามาพร้อมกับเงินจำนวนมหาศาล ซึ่งยักษ์ใหญ่เหล่านี้สามารถมา subsidize หรือลดราคา ใช้งบการตลาดมหาศาล การขยายเน็ตเวิร์คอย่างรวดเร็ว บิดเบือนเรื่องราคาเพื่อดึงมาร์เก็ตแชร์ ทำให้คนหันเข้ามาหาเขาให้เร็วที่สุด 

ตอนนี้ผู้ที่ทำมาร์เก็ตเพลสก็เริ่มเปิดให้บริการเรื่องการขนส่งเองแล้วอย่าง Lazada ก็มี Lazada Express หรือ JD ของกลุ่ม Central ก็เปิดบริษัทขนส่งของตัวเองขึ้นมา ฯลฯ บอกได้เลยครับว่ากลุ่มขนส่งเป็นตลาดที่แข่งขันกันโหดมากในยุคนี้ใน บางเจ้าถึงกับบอกว่าเขาสามารถทุบราคาแบบสุด ๆ เพื่อให้ได้มาร์เก็ตแชร์ ให้คนหันมาใช้บริการ ให้เหลือเพียงเจ้าเดียวให้ได้ เพราะราคาที่ลดลงก็จะมีผลต่อผู้บริโภค นอกจากนี้หากระบบขนส่งมีปัญหา ส่งได้ช้า เข้าไปรับของได้ช้า ฯลฯ คนก็จะไปใช้เจ้าอื่นทันที

ผมดูข้อมูลในแง่ของการแข่งขันตัวเลขจากเว็บ ลงทุนแมน เปรียบเทียบมาให้ เห็นว่ารายได้ของไปรษณีย์ไทยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาก็ถือว่าโตขึ้นแต่โตช้าลงเพราะการแข่งขันมันสูงมาก แต่ในขณะเดียวกัน Kerry Express กำไรและรายได้โตขึ้นมากอย่างต่อเนื่อง ผมบอกได้เลยว่าในปีนี้จะเป็นปีที่หนักกว่าเดิมอีกเพราะคู่แข่งโผล่ขึ้นมาอีกเยอะเลยทีเดียว 

หากคุณทำธุรกิจนี่คือโอกาสที่ดีที่จะปรับตัว หากคุณใช้ขนส่งเจ้าไหนอยู่ก่อน ตอนนี้สามารถมีตัวเลือกอื่น ๆ ของการขนส่งในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ต้นทุนถูกลง ผู้บริหารที่ดีควรต้องมาวิเคราะห์ตัวเลือกอื่นที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในขณะเดียวกันมองอีกมุมว่าอุตสาหกรรมที่เราทำอยู่นั้นจะมีใครมาทุบบ้างหรือไม่ เหมือนไปรษณีย์ไทยที่ทำธุรกิจมานานอยู่ ๆ ก็ถูกดิสรัปต์ เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการลงทุน มียักษ์ใหญ่กระโดดเข้ามาแข่งขัน ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป 

ผมยังเชียร์บริษัทของคนไทยอยู่และไปรษณีย์ไทยเองก็เป็นบริษัทหนึ่งที่พยายามจะปรับตัวเองอยู่เหมือนกัน ไปรษณีย์ไทยอาจเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เคยเป็นรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่มาก่อนย่อมต้องมีความอุ้ยอ้ายอยู่บ้าง แต่หลาย ๆ อย่างก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด พยายามออกหมัดสวนออกมาเพื่อต่อสู้กับคู่แข่งก็เห็นได้ชัดว่าดีเลยทีเดียว แต่สปีดของคู่แข่งนั้นเร็วจริง ๆ และก็มาเยอะเหลือเกิน

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากแนะนำเลยว่าหากคุณทำธุรกิจแล้วเจอในลักษณะนี้คือ คู่แข่งมาใหม่และเร็ว ตัวเราเองก็ใหญ่อุ้ยอาย จะทำให้เล็กเลยคงไม่ได้ วิธีการหนึ่งคือต้องสร้างทีมที่มีความเร็ว มีความคล่องตัวขึ้นมาโดยไม่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการในองค์กร ให้อยู่ขอบ ๆ ไม่ได้เข้ามาอยู่ภายใต้องค์กรมากนัก การบริหารจัดการก็จะเร็วขึ้น บริษัทเล็ก ๆ หรือสตาร์ทอัพเล็ก ๆ เหล่านี้ให้เป็นเหมือนไฟท์ติ้งแบรนด์เอาไว้แข่งกับคู่แข่ง เช่นกันหากธุรกิจของคุณใหญ่มากลองสร้างธุรกิจใหม่ ๆ เล็ก ๆ เอาคนรุ่นใหม่เข้าไปบริหารจัดการ ให้เขามีอิสระในการบริหารจัดการ เราจะมีธุรกิจใหม่ ๆ เอาไว้เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งที่รวดเร็วได้ด้วยเช่นกัน