Cloud Kitchen ผมขออธิบายสั้น ๆ คือรูปแบบของครัวแบบ cloud ทุกวันนี้เราเองก็ใช้ระบบคลาวด์กันอยู่ แต่อารมณ์ของคลาวด์คิทเช่น เช่น ผมบอกว่าอยากกินผัดไทยประตูผี ซึ่งจริง ๆ ต้องทำจากครัวของร้านที่อยู่แถวประตูผี ถนนมหาไชย เดิมเคยให้บริการได้เฉพาะในละแวกกรุงเทพฯ แต่ถ้าบางคนอยู่เชียงใหม่แล้วอยากกินจะทำอย่างไร 

จึงเกิดคอนเซปท์ของครัวแบบคลาวด์คิทเช่นขึ้นมา เมื่อของหรืออาหารจัดส่งลำบากเพราะมีระยะทางที่ไกล คลาวด์คิทเช่นหรือยกคนทำครัวไปอยู่ใกล้ ๆ อย่างไปมีครัวอยู่ที่เชียงใหม่และเอาพ่อครัวของผัดไทยประตูผีไปอยู่ที่เชียงใหม่เสียเลย ดังนั้นทำให้คนเชียงใหม่สามารถสั่งผัดไทยประตูผีได้

จุดเด่นของการเป็นคลาวด์คิทเช่น คือร้านอาหารสามารถย้ายตัวเองไปที่ไหนก็ได้ที่มีครัว จากต้องมีพื้นที่ มีโต๊ะ มีที่นั่ง มีพนักงานเสิร์ฟ มีการตกแต่งต่าง ๆ ฯลฯ แต่ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องไปเปิดเป็นสาขาอีกแล้ว เพราะพฤติกรรมของคนนิยมหันมาสั่งอาหารทางออนไลน์หรือทางแอปพลิเคชันมากขึ้น ฉะนั้น การขยายร้านอาหารไม่จำเป็นต้องไปเปิดหน้าร้านค้าจริง ๆ ก็ได้ 

แต่ใช้วิธีการไปมีครัวที่นั่นแทน เอาพ่อครัวหรือแม่ครัวไปอยู่ที่นั่น มีสูตรของอาหารนั้น ๆ และองค์ประกอบสุดท้ายคือการเอาอาหารของคุณไปอยู่บนแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อให้มีคนสั่งอาหาร ซึ่งตอนนี้บอกได้เลยว่าบริการสั่งอาหารผ่านทางโทรศัพท์หรือทางแอปพลิเคชันนั้นมีการเติบโตรวดเร็วมากในต่างจังหวัด 

ฉะนั้นในแง่ของเจ้าของร้านค้าต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องไปเปิดสาขาตามต่างจังหวัดแล้ว แต่ใช้วิธีการนำร้านค้าของตนเองใส่เข้าไปในแอปพลิเคชัน จากนั้นก็หาพื้นที่ที่มีครัว เอาพ่อครัวแม่ครัวไปทำ วัสดุก็สามารถไปซื้อได้จากที่นั่นเลย 

มีโมเดลหนึ่งที่ผมเห็นมาหลายปีแล้ว น่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ทำเลยก็คือ ร้านเจคิว ปูม้านึ่ง เป็นคนที่บุกเบิกร้านอาหารทางออนไลน์ยุคแรก ๆ ขายปูม้านึ่งและอาหารซีฟู้ดทางเฟซบุ๊กเมื่อประมาณ 2 ปีก่อน และยอดขายก็โตมากเป็นหลายร้อยล้าน 

วิธีการขายง่าย ๆ คือใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการรับออเดอร์ของลูกค้าในสมัยที่ยังไม่มีแอปพลิเคชันส่งอาหาร การขยายสาขาโดยจะเช่าตึกแถว มีครัวเล็ก ๆ อยู่ด้านในโดยไม่มีหน้าร้านค้า ปรากฏว่าขยายสาขาไปเกือบ 20 สาขาทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อมีคนสั่งอาหารผ่านเฟซบุ๊กออเดอร์ก็จะวิ่งไปยังครัวที่ใกล้ที่สุด แต่นั่นเป็นการลงทุนครัวของเขาเอง

แต่โมเดลของคลาวด์คิทเช่นนั้น จะเป็นการที่มีคนลงทุนไปเปิดหรือสร้างระบบครัวไว้ เป็นคนตรงกลาง ใครก็สามารถไปเช่าพื้นที่ได้โดยเอาพ่อครัวแม่ครัวไปอยู่ที่ตรงนั้น และส่วนใหญ่คลาวด์คิทเช่นจะอยู่ใกล้ ๆ กับตลาดนัด ตลาดสด ใกล้กับพื้นที่ที่มีวัตถุดิบ ข้อดีของคลาวด์คิทเช่นคือ สามารถเปิดร้านได้ในระยะเวลายาวนานและไม่ต้องมีหน้าร้านค้า 

ฉะนั้น ต้นทุนในการขยายธุรกิจร้านอาหารต่อจากนี้ไปจะต่ำกว่าเดิมเยอะ ใครที่มีธุรกิจร้านอาหารแล้วอยากจะไปเปิดสาขาอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ เพราะคุณสามารถขยายธุรกิจร้านอาหารไปได้ทั่วประเทศไทยโดยอาศัยแอปพลิเคชัน และใช้วิธีการขยายครัวไปอยู่ตามจุดต่าง ๆ ผ่านคลาวด์คิทเช่นที่ตอนนี้กำลังเริ่มทยอยเปิดขึ้น

สตาร์ทอัพที่ทำคลาวด์คิทเช่นในต่างประเทศเริ่มมีคนใส่เม็ดเงินลงทุนเข้าไปแล้ว ของไทยเองก็เริ่มมีของ Grab ที่เปิดไป และเริ่มมีบางคนที่กำลังจะเปิดเพิ่มขึ้น ผมค่อนข้างเห็นโอกาสว่าในอนาคตคลาวด์คิทเช่นจะเป็นตัวหนึ่งที่สามารถขยายไปได้เลย 

คนที่มีโอกาสทำและมีความได้เปรียบในการทำคลาวด์คิทเช่นก็คือคนที่มีตลาดสด คนที่อยู่ใกล้วัตถุดิบราคาถูก คล่องตัว คนที่มีตึกแถวหรือมีพื้นที่อยู่ใกล้หรืออยู่ในตลาดสด คุณสามารถแปลงพื้นที่บางส่วนให้เป็นคลาวด์คิทเช่นให้เป็นครัว บางที่อาจจะมีการตั้งเป็นโต๊ะ ๆ เผื่อบางคนที่ต้องการมานั่งกินที่นี่ก็ทำได้ด้วยเหมือนกัน 

และโดยเฉพาะท่านที่ทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท มีบ้านมีอาคาร และอยากปรับเปลี่ยนโครงการให้มีพื้นที่ที่เป็นคลาวด์คิทเช่นเข้าไปด้วย อาจจะเพิ่มมูลค่าให้กับพื้นที่อาคารบ้านเรือนหรือโครงการของท่านได้ด้วยเหมือนกัน แต่ต้องจัดการเรื่องของพื้นที่ทางเข้าทางออกของบรรดารถรับส่งอาหารให้ดีและปลอดภัย ผมอยากให้กลับไปลองดูพื้นที่ของท่านเองครับว่าทำได้หรือไม่

นอกจากนี้คลาวด์คิทเช่นยังอาจช่วยขยายธุรกิจออกไปนอกประเทศได้ เพราะธุรกิจส่งอาหารเป็นธุรกิจที่ไม่ได้โตแค่เฉพาะในไทย ในจีนโตหรือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็โตมาก แทนที่จะมัวขายเฉพาะในประเทศ ทำไมไม่ไปทำตลาดร้านอาหารไทยหรือสินค้าอาหารไทยในประเทศอื่น และไปเช่าคลาวด์คิทเช่นในประเทศนั้น 

ฉะนั้นคนที่ทำร้านอาหารก็สามารถมองโอกาสที่จะขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้โดยที่ต้นทุนต่ำมาก และเข้าถึงคนทั้งพื้นที่ได้ไม่ยากเลยผ่านแอปพลิเคชันรวม ใครที่ต้องการเริ่มต้นธุรกิจนี่คือโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเริ่มต้นธุรกิจร้านอาหารได้ง่าย ๆ และสามารถกระจายไปได้ทั่วประเทศได้ไม่ยาก กับการทำธุรกิจอาหารในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง