WEB 3.0 คืออะไร ต่อไปนี้คุณจะได้ยินมากขึ้น บ่อยขึ้น ต้องบอกว่าเรากำลังเข้าสู่เว็บไซต์ในยุคที่ 3 แล้วครับ แต่ก่อนอื่นคงต้องย้อนกลับไปยุคที่ 1 ก่อน 

ยุคที่ 1 Read Mode เป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ ต้องซื้อชั่วโมงเน็ตหรือแพ็กเกจเน็ต แล้วเอาสายโทรศัพท์ต่อเข้ากับโมเด็ม กดสายเข้าไปที่ ISP ต่อเน็ตถึงจะใช้ได้ และหากใครทันคงจำเบราว์เซอร์ที่ชื่อ Netscape ได้ 

เรียกว่าเป็นยุคเว็บไซต์ WEB 1.0 ยังไม่ค่อยมีบริการทางออนไลน์มากเท่าไหร่ หลักการคือมีคนเขียนเว็บไซต์หรือทำเว็บไซต์ขึ้นมา ยูสเซอร์จะเข้าไปอ่านมากกว่า เช่น เข้าไปอ่านบทความ ข่าวสาร ส่งแมสเซส ฯลฯ ซึ่งเราไม่สามารถไปเขียนข้อความหรือแชร์ได้ เราจะอ่านเป็นหลัก 

ในยุคที่ 2 สู่ยุคโซเชียลมีเดีย เมื่อเปลี่ยนจาก Read Mode ที่อ่านเป็นหลัก เริ่มเข้าสู่ยุค 2.0 ตรงนี้คือเริ่มเข้าสู่ยุคโซเชียลมีเดีย จะสังเกตว่ายุคนี้ข่าวจะเริ่มขยับเข้าไปอยู่ในโซเชียลมีเดีย ข้อมูลที่อ่านจะไม่ใช่ข่าวสารแล้ว แต่เป็นสิ่งที่คนอื่นเอามาแชร์กันไม่ว่าจะในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูป ข้อมูลทั้งหมดของใคร ก็ของคนอื่นทั้งนั้น

ในยุคที่ 2 ทุกคนสามารถแชร์เรื่องราวของตัวเองออกไปได้ ทุกคนเข้ามาอ่านคอนเทนต์กันเองได้ ฉะนั้นยุคนี้เป็นยุคที่เราสามารถเขียนได้ โซเชียลมีเดียเป็นแกนสำคัญของยุคนี้

แต่เมื่อเราเข้าสู่ยุค 3.0 ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เริ่มเปลี่ยนเข้าสู่เทคโนโลยีของ Blockchain และเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คริปโตเคอร์เรนซีที่นำมาใช้ในการซื้อมาขายไปได้ 

ยุค WEB 3.0 องค์ประกอบของการให้บริการของเว็บยุคนี้เริ่มมีองค์ประกอบคล้าย ๆ กันหลายอย่างคือ

1. ในเว็บยุคนี้ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จะเริ่มมีกระเป๋าเงินออนไลน์ที่เก็บเงินดิจิทัลได้

2. เริ่มเข้าสู่การมีเหรียญ มีโทเคนของตัวเอง 

3. ผู้ให้บริการในยุคนี้จะเริ่มมีตัวยืนยันหรือมี Node มีผู้ให้บริการยืนยันในการเก็บข้อมูลของผู้ให้บริการนั้น ๆ กระจายอยู่ทั่วไป 

ฉะนั้น ข้อมูลในเว็บยุค 3.0 นี้จะเป็นข้อมูลที่เปิดกว้าง จะไม่กระจุกอยู่ที่เดียว ข้อมูลจะจายออกไปหรือที่เรียกว่าเป็น Decentralized แต่สิ่งที่ต่างไปก็คือ การให้บริการต่าง ๆ ก็จะเปลี่ยนไป จะเกิดคำว่า X to earn, X ก็คือเมื่อเราทำอะไรบางอย่างไปจะได้เหรียญหรือโทเคนกลับมาเป็นการตอบแทน เช่น

Engage To Earn

ตัวอย่างแรกคือ ปกติอัปโหลดรูปบน TikTok มีคนมากดไลค์กดแชร์มากมายแต่เราไม่ได้อะไรเลย จึงเกิดโมเดลใหม่ขึ้นมาเหมือน TikTok แต่อยู่บน Blockchain ชื่อว่า Chingari (GARI) เป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของอินเดียที่อยู่บน Blockchain 

ยิ่งมีคนมาดูมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งได้แต้มหรือโทเคนกลับมามากขึ้น เรียกแบบนี้ว่า engage to earn โทเคนที่ได้เรียกว่า GARI Token และในนั้นจะมีวอลเล็ตหรือกระเป๋าเงินออนไลน์ ยิ่งมีคนดูมากก็ยิ่งมีโทเคนโอนเข้ามามาก เป็นระบบนิเวศของแพลตฟอร์มนี้

Browse To Earn

หลาย ๆ คนใช้เบราว์เซอร์คือ Chrome ซึ่งกินแรมมาก ช้า และยังมีโฆษณา จึงมีอีกเบราว์เซอร์หนึ่งชื่อว่า Brave เป็นเบราว์เซอร์ที่มีข้างหลังคือ Chrome แต่เป็นแบบ Privacy มีการป้องกันเรื่องโฆษณาต่าง ๆ ทำให้เร็วมากขึ้น เพราะตัดองค์ประกอบเกี่ยวกับเรื่องการเก็บคุกกี้หรืออื่น ๆ ออกไป

ที่สำคัญคือในเบราว์เซอร์ตัวนี้จะมีวอลเล็ตอยู่ข้างใน ยิ่งใช้เบราว์เซอร์ตัวนี้มากเท่าไหร่ ยิ่งได้โทเคนของ Brave ที่ชื่อว่า BAT เป็นการ browse to earn ยิ่งใช้ยิ่งได้โทเคนกลับมา การได้โทเคนทำให้คนติดและอยู่กับบริการนั้น ๆ ด้วย และโทเคนเหล่านี้แปรสภาพหรือเปลี่ยนเป็นสกุลเงินคริปโตอื่น ๆ ได้

Storage To Earn

ตอนนี้บริการต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยนไปแม้แต่เรื่องของการเก็บข้อมูลแล้วได้โทเคน ตอนนี้มีผู้ให้บริการชื่อว่า Storj.io เป็นผู้ให้บริการคลาวด์ในการเก็บข้อมูล แต่ความแตกต่างคือมีเทคโนโลยีข้างหลังนั้นเป็น Blockchain 

เมื่ออัปโหลดภาพไปเก็บไว้ที่เว็บนี้ เขาจะเอาภาพของเรา encrypt เข้ารหัส แล้วแยกเป็นชิ้น ๆ กระจายเข้าไปเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ทั่วโลก โดยที่เซิร์ฟเวอร์เหล่านี้เราเองก็เป็นเซิร์ฟเวอร์นั้นได้ด้วยเช่นกัน ยิ่งเราเก็บไฟล์ในเซิร์ฟเวอร์เรามากเท่าไหร่ สิ่งที่จะได้กลับมาคือโทเคนจาก storage นั่นเอง

Play To Earn

ตอนนี้มีคำว่า X to earn, X ก็คือทำอะไรก็ได้แล้ว earn ได้โทเคนมา เช่น เดี๋ยวนี้มีเกมที่เล่นเกมแล้วได้โทเคน แล้วเปลี่ยนโทเคนเป็นเงินได้ หรืออีกเว็บคือ calo.run เป็นการ Burn To Earn คือการออกกำลังกาย ทุกครั้งที่เราออกกำลังกายจะได้โทเคนเป็นเหรียญที่ชื่อ Fat Token กลับมา ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดแรงจูงใจมากขึ้นในการทำอะไรบางอย่าง 

ของคนไทยเรามีชื่อว่า ryoii.io เป็นเว็บที่ Eat And Review To Earn ยิ่งกินยิ่งรีวิวก็จะยิ่งได้โทเคนกลับมา หรือร้านอาหารอยากให้คนมากินยอะ ๆ ก็ทำได้เช่นกัน หรือตอนนี้ก็มีโมเดล Learn To Earn เรียนจบหลักสูตรแล้วได้โทเคน และนำโทเคนไปทำอย่างอื่นต่อได้ 

WEB 3.0 เป็นอินฟราสตรัคเจอร์หรือเป็นระบบ เราสร้างระบบขึ้นมาได้แต่เซิร์ฟเวอร์ข้อมูลไม่ได้เก็บไว้ที่เรา และสามารถเรียกใครมาร่วมทำงานกับเราก็ได้ เมื่อก่อนเราอาจจะทำไรไปแบบฟรี ๆ แต่ในโลกของเว็บยุคใหม่ ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามจะได้โทเคนหรือแต้มกลับมาให้ ฉะนั้นจะมีแรงจูงใจในการจะทำอะไรบางอย่างด้วยเหมือนกัน จากที่ไม่ได้อะไรเลย คอนเทนต์ทุกอย่างในยุค 3.0 ทำแล้วจะได้กลับมา

ที่สำคัญ ข้อมูลทุกอย่างที่ให้ไปไม่ได้เก็บรวมอยู่ศูนย์กลาง เว็บยุคใหม่ข้อมูลจะถูกนำไปเก็บในเน็ตเวิร์กของ Blockchain นั่นหมายถึงเมื่อเราไม่อยากให้ข้อมูลนั้นแล้ว เมื่อเรากดปุ่ม ข้อมูลนั้นจะถูกดึงกลับมาหมด เพราะทุกข้อมูลมีการเข้ารหัสหรือมีกุญแจของเรา เมื่อเราปิดจะไม่มีใครเข้าไปหาข้อมูลของเราได้ ฉะนั้นความเป็นส่วนตัวจะมีสูงมาก

ตอนนี้แนวโน้มของนักลงทุนเริ่มสนใจเพราะว่าโลกของเทคโนโลยีเริ่มปรับเปลี่ยนจาก 2.0 ในโลกของโซเชียลมีเดียทุกคนกำลังพูดเรื่องเดียวกันคือ privacy อยู่ที่ไหน แต่เมื่อเราเข้าสู่ยุคต่อไปข้อมูลทุกอย่างอยู่ในมือเราเพราะเราเป็นคนถือกุญแจหรือพาสเวิร์ดในการจะปล่อยหรือปิดข้อมูลของเราก็ได้ 

ในโลกของธุรกิจจะเกิดบิสเนสโมเดลมากมายใน WEB 3.0 คนที่ออกมาพูดคนแรก ๆ คือคุณท๊อป-จิรายุส แห่งบิทคับก็บอกว่าพยายามสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ของประเทศไทยใหม่ด้วย WEB 3.0 และก็มีคนไทยหลายคนที่พยายามสร้างเน็ตเวิร์คตรงนี้ เหมือนอินเทอร์เน็ตในก้าวของยุคต่อไป ต้องพยายามทำความรู้จักไว้และศึกษาเพิ่มขึ้น เพราะคำว่า WEB 3.0 จะแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งจะกลายเป็นเรื่องปกติ