<![CDATA[

               คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การแข่งขันทางด้านการตลาดในขั้นต้นของสินค้าและบริการหลายประเภทนั้น เริ่มต้นด้วยการสร้าง Brand หรือการทำให้ชื่อสินค้าและบริการของตนให้เป็นที่รู้จักของกลุ่มเป้าหมาย ตามทฤษฎี AIDA ที่เคยพูดไว้ในตอนก่อนๆ (Awareness, Interest, Desire, และ Action) ในธุรกิจการทำเว็บไซต์ก็เช่นเดียวกัน ปัจจัยหนึ่ง และอาจจะเป็นปัจจัยเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดคือการตั้งชื่อเว็บไซต์ และสร้าง Brand หรือชื่อเว็บไซต์นั้นๆ ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มเป้าหมายและกับคนทั่วไป

การสร้าง Brand เมื่อเทียบกับธุรกิจการทำเว็บไซต์ นั้นมีหลายวิธีและรูปแบบ

  • การตั้งชื่อเว็บไซต์หรือที่เรียนกันกว่า โดเมนเนม
  • การสร้างลักษณะเฉพาะของเว็บไซต์ (Brand Identity) เช่นการออกแบบโลโก้ของเว็บไซต์ และการใช้สโลแกนหรือคำพูดใต้โลโก้
  • การทำการ PR และโฆษณาอย่างต่อเนื่อง
    และอีกหลากหลายวิธีในการสร้าง Brand ของเว็บไซต์ให้เป็นที่รู้จัก

แต่วันนี้เราจะมาพูดคุยในเรืองของการตั้งชื่อเว็บไซต์หรือโดเมนเนม เพราะชื่อเว็บไซต์ถือเป็นประตูในการที่จะให้คนที่สนใจสามารถเข้าไปยังเว็บไซต์ ดังนั้น ชื่อเว็บไซต์จึงเป็นสิ่งสำคัญประการแรกที่จะต้องคิดตั้งชื่อให้ดี เพราะชื่อดีก็มีส่วนในการสร้างให้เว็บไซต์ประสบความสำเร็จ การตั้งชื่อเว็บไซต์นั้น มีวิธีการหลายอย่างและไม่ตายตัว ขึ้นอยู่กับชื่อนั้นๆ เข้ากับลักษณะของเว็บ และตรงใจกับกลุ่มเป้าหมายมากน้อยเพียงใด ลองมาดูวิธีการและกฎในการตั้งชื่อเว็บกันครับ

ก่อนที่จะตั้งชื่อเว็บได้นั้น จะต้องทำความเข้าใจกับเว็บของเราเองเสียก่อน ว่าเว็บของเรานั้นเป็นเว็บแบบไหน ให้บริการอะไร ที่สำคัญ จุดเด่นและข้อแตกต่างของเว็บเรากับเว็บอื่นๆ คืออะไร พูดง่ายๆ ก็คือการหา Selling Point หรือจุดขายของเว็บของเราให้ได้ก่อน หลังจากนั้น เราจะต้องเข้าใจกลุ่มเป้าหมายของเว็บด้วย ว่าพวกเขาเป็นใคร ต้องการอะไร และจะได้อะไรจากเว็บของเรา เพื่อที่จะได้ตั้งชื่อสื่อถึงบริการของเว็บ และตรงตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย

กฎของการตั้งชื่อโดเมนเนมคือ

– ถ้ามีบริษัท ชื่อสินค้า หรือบริการ ก็ใช้ชื่อเหล่านั้นตั้งเป็นชื่อเว็บไซต์
หากคุณมีบริษัทชื่อ ABC คุณก็ควรตั้งชื่อ http://www.ABC.com แต่บางครั้งชื่อบริษัทของคุณอาจจะถูกคนอื่นๆ จด .com ไปแล้วคุณอาจจะไปจดเป็น .co.th ก็ได้ ซึ่งเป็นรูปแบบโดเมนเนมที่เป็นรูปแบบของบริษัทของไทย ดูมีความน่าเชื่อถือด้วยเพราะคุณจะจดชื่อ .co.th ได้นั้นชื่อบริษัทของคุณจะต้องมีความสอดคล้องกับชื่อโดเมนเนมที่จะจด .co.th

– ต้องสั้น
เช่น เว็บดังๆ ของเมืองไทยสมัยแรกๆ นิยมใช้ชื่อไทยมาสะกดเป็นภาษาอังกฤษ เช่น sanook.com, hunsa.com หรือเว็บน้องใหม่มาแรงอย่าง kapook.com เพราะนอกจากคนจะได้จำได้แล้ว ยังบ่งบอกถึงความเป็นไทยและง่ายต่อการเรียกชื่ออีกด้วย แต่ก็มีบางครั้งที่พูดชื่อเว็บแล้ว คนอื่นก็อาจจะเข้าและสะกดชื่อเว็บไปแบบอื่นๆ ได้เพราะชื่อเว็บที่พูดสามารถสะกดได้หลายแบบ เช่น สบายดอทคอม มีวิธีการสะกดได้หลายแบบ http://www.sabuy.com หรือ http://www.sabye.com ก็ได้ ซึ่งตอนบอกชื่อเว็บก็คงต้องมาคอยบอกกำกับอีกทีว่า B-Y-E หรือ B-U-Y ซึ่งอาจจะสร้างความสับสนให้กับผู้ฟังได้

– จำง่าย พูดง่ายและสะกดง่าย
เพราะบางครั้งการเข้าเว็บไซต์ก็มาจากการบอกต่อหรือการได้ฟังจากวิทยุหรือเห็นตามโปสเตอร์ต่างๆ เช่นกัน ดังนั้นหากชื่อโดเมนเนมของคุณ สามารถจดจำได้ง่าย พูดและสะกดง่าย จะทำให้ลูกค้าสามารถเข้ามาที่เว็บไซต์คุณได้อย่างถูกต้อง เพราะการสะกดผิดเพียงคำเดียวหมายถึงการเข้าผิดเว็บเลยทีเดียว

– บางครั้งชื่อยาวก็จำง่ายเหมือนกัน
บางครั้งการตั้งชื่อโดเมนยาวๆ ก็สามารถจำได้ง่ายเช่นกันหาก ชื่อที่คุณตั้งเป็นประโยคที่มีความหมายตรงตัว พูดแล้วสามารถเข้าใจและจดจำได้ง่ายเช่น http://www.ThaiSecondhand.com พอคุณพูดกับใครๆ ก็สามารถเข้าใจและสามารถจดจำได้ง่ายเพราะมีความหมายตรงตัว

– ชื่อเว็บแส
งลักษณะของบริการของเว็บ
หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กลุ่มเป้าหมายจะได้กลับไปจากเว็บ ยกตัวอย่างเช่น Hotelsthailand.com ซึ่งไม่ต้องบอกก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นเว็บที่ให้บริการเกี่ยวกับการให้ข้อมูลโรงแรมในประเทศไทย ThaiSecondhand.com ที่ชื่อก็บ่งบอกว่าเมื่อเข้ามาต้องเจอข้อมูลของของมือสอง หรือ pappayon.com ที่ไม่บอกก็รู้ว่าบริการที่ให้ก็คงจะไม่พ้นเรื่องภาพยนตร์แน่ๆ

– เติม S หรือไม่เติม S
บางครั้งเว็บไซต์ที่คุณใช้อาจจะสามารถลงท้าย s หรือไม่มี s ก็ได้ แต่ถ้าให้ดี ก็ควรจดไปทั้งสองแบบ คือแบบมี S และ ไม่มี S เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดของผู้ใช้บริการ เช่น http://www.HotelThailand.com (ไม่มี S) และ http://www.HotelsThailand.com (มี S) หากกดเข้า 2 โดเนมนี้ก็จะเข้าไปที่เดียวกัน (แต่ http://www.HotelsThailand.com สำหรับภาษาไทยและ http://www.HotelThailand.com เป็นภาษาอังกฤษแต่ทั้งสองเว็บก็เป็นของเจ้าของคนเดียวกัน

– หลีกเลี่ยงการใช้ – (ขีดกลาง หรือ Hyphen)
เพราะคนส่วนใหญ่เวลาพูดชื่อหรือเข้าเว็บไซต์จะไม่ค่อยใช้ – (ขีดกลาง) ขั่นระหว่างคำตอนพิมพ์ชื่อโดเมนเนม เช่น http://www.one-2-call.com หากคนส่วนใหญ่หากพูดจะพูดกันแค่ http://www.one2call.com ไม่พูด – (ขีดกลาง) กันซึ่งอาจจะทำให้ลูกค้าไม่สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์นั้นได้

– การตั้งชื่อแบบไม่มีความหมายเลยก็ได
เช่น google.com, yahoo.com หรือเว็บประมูลชื่อดัง ebay.com แต่เมื่อ Brand ได้ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว กลุ่มเป้าหมายก็จะจดจำได้ และสร้างความเกี่ยวเนื่องของ Brand กับบริการของเว็บขึ้นมาได้เอง บางเว็บนึกไม่ออก ถึงกับตั้งชื่อเลียนแบบเว็บดังๆ เลยก็มี เช่น googlo.com เว็บ search engine ที่อาศัยความบังเอิญที่คนอาจจะสะกดผิด แทนที่จะเข้าไป google ก็มาที่นี่แทน (แต่ผมไม่แนะนำวิธีนี้นะครับ)

– การใช้ชื่อแคมเปญหรือคำ วลีที่เกี่ยวข้องหรือดึงดูดมาตั้ง
การตั้งชื่อโดนเมนลักษณะนี้ กำลังได้รับความนิยมในช่วงปี 2005 โดยแบรนด์สินค้าหลายๆ อัน มักจะทำเว็บไซต์ที่เป็นแคมเปญใหม่ขึ้นมา เช่น แชมพู คลีนิก เปิดเว็บใช้ชื่อ www.ClearOilyHead.com, Chevron ตั้งชื่อเว็บไซต์ใหม่ http://www.WillYouJoinUs.com/ เพื่ออธิบายเกี่ยวกับเรื่องการใช้พลังงาน


      ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการตั้งชื่อเว็บไซต์หรือโดเมนเนมที่จะช่วยทำให้ผู้คนทั่วไปสามารถ รับและเข้าใจในชื่อชองเว็บไซต์คุณได้ ซึ่งหากชื่อจำง่าย ก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วละครับ คราวหน้าผมจะมาพูดถึงการสร้างเอกลักษณะของเว็บไซต์ (Brand Identity) เพื่อทำให้ลูกค้าสามารถจดจำเว็บไซต์คุณได้ดีมากายิ่งขึ้น

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.pawoot.com
 

** บทความทั้งหมดนี้ มีลิขสิทธ์ของ นาย ภาวุธ พงษ์วทยภานุ นะครับ หากสนใจรายละเอียด สามารถดูได้ในหนังสือ "E-Commerce สุดยอดช่องทางรวย ทุนน้อย ทำง่าย  สร้างรายได้ 24 ชั่วโมง"

โดย Pawoot P. 1/02/04

บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หากต้องการนำไปใช้ที่อื่นๆ แจ้งนิดนึงนะครับที่ pawoot@tarad.com

]]>