<![CDATA[
ปัญหาภาษีมูลค่าเพิ่มกับการให้บริการบนอินเทอร์เน็ตเป็นปัญหาหนึ่งที่ได้รับการสอบถามบ่อยๆ ว่า ต้องเสียภาษีอย่างไร ในอัตราร้อยละ 0 หรือไม่ โดยเฉพาะการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์ที่กระทำในราชอาณาจักร แต่มีการใช้บริการทั้งหมดในต่างประเทศ เจ้าของเวบไซต์ซึ่งให้บริการประเภทดังกล่าวต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0 หรือร้อยละ 7 วันนี้เราจะมาคุยกันครับ
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจปัญหา ผมขอยกตัวอย่างปัญหา คือ สมมติว่าบริษัท amtar.com จำกัด เป็นบริษัทไทยรับออกแบบแผ่นโฆษณา (Banner) ผ่านทางเวบไซต์ amtar.com ของตน ซึ่งมีที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตหรือที่อยู่เวบไซต์ ของ amtar.com (IP Address of domain name) อยู่ที่เครื่องคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่พักเก็บข้อมูลในประเทศสหรัฐอเมริกาและลูกค้าที่ว่าจ้างให้บริษัท amtar.com จำกัด โฆษณาทั้งหมดเป็นชาวต่างประเทศ เวบไซต์ amtar.com ก็เป็นเวบไซต์ที่เป็นภาษาอังกฤษโดยไม่มีลูกค้าคนไทยแม้แต่คนเดียว รายได้ของบริษัท goolgle.com จำกัด จะมาจากการรับออกแบบแผ่นป้ายโฆษณาผ่านทางอินเทอร์เน็ต ภายหลังจากออกแบบแผ่นป้ายโฆษณาอิเล็กทรอนิกส์เสร็จแล้ว พนักงานของ amtar.com ก็จะส่งแฟ้มข้อมูลแผ่นป้ายโฆษณาไปอัพโหลดไว้ในเวบไซต์ amtar.com ที่มีเซิร์ฟเวอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ บริษัท amtar.com ซึ่งเป็นบริษัทไทยจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการดังกล่าวในอัตราร้อยละ 0 หรือ ร้อยละ 7
เมื่อพิจารณาหลักกฎหมายภาษีอากรของไทยและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องนั้น ผมมีความเห็นว่า การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของบริษัท amtar.com จำกัด น่าจะถือว่าเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร แต่ได้ส่งผลของการใช้บริการไปไว้ในต่างประเทศทั้งหมด เนื่องจาก ลูกค้าทั้งหมดเป็นชาวต่างประเทศและผลของการใช้บริการโฆษณานั้นเกิดในต่างประเทศทั้งหมด บริษัท amtar.com จำกัด จึงน่าจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามประมวลรัษฎากร ตามมาตรา 80/1 (2) ของประมวลรัษฎากร ประกอบกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 ข้อ 7 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 105 ข้อ 2 (1) ซึ่งมีรายละเอียดโดยสังเขป ดังนี้
มาตรา 80/1 ให้ใช้อัตราภาษีร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการประเภทต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
(2) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศตามประเภท หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544
ข้อ 7 กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้ให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
กรณีการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศเป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศและได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณอัตราภาษีตามมาตรา 80/1 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
——————————————————————————–
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 105)
ข้อ 2 กำหนดให้การประกอบกิจการดังต่อไปนี้เป็นการให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรและได้มีการใช้บริการนั้นในต่างประเทศ ตามมาตรา 80/1(2) แห่งประมวลรัษฎากร
(1) การให้บริการที่กระทำในราชอาณาจักรแก่ผู้รับบริการในต่างประเทศ และได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด
การให้บริการตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การกระทำใดๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า แต่ไม่รวมถึงการให้บริการจัดนำเที่ยวในต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกรมสรรพากรยังไม่มีคำวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ผมจึงขอหยิบยกคำวินิจฉัยที่อาจจะนำมาพ
จารณาเทียบเคียงกับกรณีดังกล่าวข้างต้นได้ คือ
คำวินิจฉัยที่ กค. 0802/พ.2651 วินิจฉัยว่า บริการที่ให้กับผู้ใช้บริการในต่างประเทศ เช่น บริการส่งเสริมการขาย การวิจัย ข้อมูลทางการตลาด เป็นการให้บริการรับจ้าง ทำของ ให้กับผู้ว่าจ้างในต่างประเทศ ซึ่งผู้รับจ้างได้ส่งผลของการให้บริการนั้นไปใช้ในต่างประเทศทั้งหมด บริษัทจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0
คำวินิจฉัยที่ 0811/3751 วินิจฉัยว่า ธนาคารไทยร่วมกับธนาคารอื่นอีกหลายแห่ง ให้บริการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินกับบริษัทที่ตั้งขึ้น ตามกฎหมายของประเทศลาว โดยให้คำแนะนำและจัดทำรายงานการตรวจสอบและความเป็นไปได้ของการลงทุน บริการดังกล่าวถือเป็นการจ้างทำของให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ จึงเสียภาษีในอัตราร้อยละ 0
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว ผมจึงมีความเห็นส่วนตัวว่า การที่บริษัท amtar.com จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทไทยให้บริการออกแบบเวบไซต์ในประเทศไทย แต่มีการอัพโหลดข้อมูลหรือผลของการให้บริการโฆษณาไปไว้ที่เครื่องคอมพิวเตอร์ในประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งหมด ผลสำเร็จของการให้บริการ คือ ตัวโฆษณาทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเวบไซต์นั้นเกิดขึ้นที่ต่างประเทศทั้งหมด
นอกจากนี้ ลูกค้าทั้งหมดของเวบไซต์ amtar.com เป็นชาวต่างประเทศจึงไม่มีการกระทำหรือให้บริการใด ๆ ที่มีผลเกิดขึ้นในราชอาณาจักรแต่อย่างใด บริษัท amtar.com จำกัด จึงน่าจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0
แนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในกลุ่มสหภาพยุโรปในปัจจุบัน ท้ายที่สุดนี้คิดว่า ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นคงเป็นประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการเวบไซต์บ้างไม่มากก็น้อย
ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
paiboon@amtar.co.th
ข้อมูลจาก http://www.bangkokbiznews.com
]]>