<![CDATA[
มือโปรปลื้ม ปั้นกล้วยตากออนไลน์ยอดขายพุ่งเกินคาด เดินหน้าต่อยอดเว็บไซต์ BananaClick.com ตั้งศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เน้นขยายวง e-Commerce ปลุกผู้ประกอบการลุย พร้อมสร้างความเข้าใจดึงดูดคนไทยช้อปปิ้งบนอินเตอร์เน็ท
สิทธิเดช ลีมัคเดช เจ้าของเว็บไซต์ BananaClick.com และผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวถึงความสำเร็จของ เว็บไซต์ BananaClick.com ซึ่งมีจุดเริ่มต้นมาจาก ความต้องการพิสูจน์ให้นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่เรียนวิชาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เห็นว่าสามารถนำไปใช้จริงได้อย่างไร
โดยให้ผู้เรียนสวมบทบาทเป็นผู้บริหารร่วมกัน และใช้กล้วยตากออนไลน์ทดลองทำเป็นธุรกิจจริงๆ จึงเกิดเป็น เว็บไซต์ BananaClick.com ขึ้นมา ทำให้กล้วยตากที่เคยขายอยู่ก่อนแล้วในช่องทางปกติ และต้องแข่งขันกับคู่แข่งมากมาย เกิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ และสร้างยอดขายเกินกว่าที่คาดคิดเอาไว้
สิทธิเดชกล่าวว่า แต่เว็บไซต์ดังกล่าวไม่ได้เน้นเรื่องการขายกล้วยตาก ปัจจุบันมีทั้งหมด 40 เว็บเพจ แต่มีเพียง 2 หน้าเท่านั้นที่ขายกล้วยตรงๆ ที่เหลือเป็นบันทึกการทำธุรกิจออนไลน์อย่างละเอียดและเข้าใจง่าย โดยมีกล้วยตากออนไลน์เป็นกรณีศึกษา ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งนักศึกษาที่เรียนโดยตรง และสาธารณชน โดยเฉพาะความจำเป็นในยุคน้ำมันแพง ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และการทำธุรกิจออนไลน์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ
ดังนั้น นอกจากการขายกล้วยตากซึ่งปัจจุบันผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด สิทธิเดชจึงใช้โอกาสนี้เน้นการให้ความรู้เกี่ยวกับ e-Commerce ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้หันมาซื้อของบนอินเตอร์เน็ต โดยการจัดอบรมด้วยแนวทางที่ต้องการทำให้เกิดการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้น
โดยการอบรมแบ่งเป็น 3 ช่วง ตามลำดับ เริ่มจาก1.แบรนด์และบรรจุภัณฑ์ เพราะหัวใจอยู่ที่สินค้า 2.กลยุทธ์และข้อมูล การทำContent ที่ใส่ลงไปสื่อให้กับลูกค้า และ3.เรียนการทำเว็บไซต์
สำหรับผู้ประกอบการที่มีสินค้าอยู่แล้ว จะได้เปรียบเพราะสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ แต่ต้องมีกลยุทธ์และวิธีการที่ดีพออีกด้วย เพราะการผลักดันสินค้าผ่านช่องทางเว็บไซต์ก็ไม่ต่างจากช่องทางอื่นๆ ที่ต้องทำอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ การเปิดอบรมยังเป็นช่องทางหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อเป็นพันธมิตรหรือร่วมทุน และในอนาคตเมื่อศูนย์พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์พร้อม จะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการมาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับธุรกิจ และต่อยอดธุรกิจออกไปอีกมาก เช่น การจับคู่ทางธุรกิจ (Business Matching) เป็นต้น เพราะพบว่าปัจจุบันมีผู้สนใจทำธุรกิจผ่าน e-Commerce โดยเฉพาะคนต่างจังหวัด และจะเห็นว่าการทำ e-Commerce เป็นหนทางหนึ่งที่จะผลักดันให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้มาก
สิทธิเดชมีประสบการณ์มากมายทั้งการดูแลธุรกิจ e-Commerce ให้กับลูกค้าเมื่อครั้งเป็นกรรมการผู้จัดการของ บริษัท เวโลคอล (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ในแวดวงไอทีมานาน และเป็นวิทยากรให้ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ความรู้โดยเฉพาะเพื่อนำไปใช้ได้จริง
เขาวิเคราะห์ว่าปัญหาที่ทำให้ e-Commerce ในไทยไม่เติบโตเท่าที่ควร มาจากปัญหาสำคัญที่คนไทยไม่นิยมซื้อสินค้าผ่านเว็บไซต์ ซึ่งน่าจะมาจากเหตุ 3 ประการ คือ 1.ไม่รู้จะซื้ออะไร 2.ไม่รู้จักผู้ขาย ไม่มั่นใจเรื่องบริการ ไม่มั่นใจว่าจะได้รับสินค้าหรือไม่ และถ้าสินค้าเสียหายจะแก้ไขอย่างไร
ละ3.หากสั่งซื้อด้วยบัตรเครดิตจะเกิดปัญหาภายหลังหรือไม่
ดังนั้น เขาจึงใช้ BananaClick.com เป็นตัวอย่าง และจัดลำดับการเล่าเรื่องราวของกล้วยตาก BananaClick.com เพื่อเป็นการตอบปัญหาดังกล่าว และทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าบนอินเตอร์เน็ท
เริ่มจากการเล่าถึงการเริ่มต้นธุรกิจ ด้วยแรงบันดาลใจและแนวคิดการหาสินค้ามาขายบนอินเตอร์เน็ต ตามด้วยการหาพันธมิตรซึ่งเป็นหัวใจของการทำธุรกิจในปัจจุบัน แล้วที่สำคัญคือการคิดเลือกสินค้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ มองถึงกลุ่มเป้าหมายและต้องเห็นทั้งโอกาสและอุปสรรค เพื่อประเมินความสำเร็จ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การผลักดันเข้าสู่ตลาด และการสร้างความรู้จักกับคนทำเว็บไซต์
รวมทั้งการอธิบายวงจรหลังจากลูกค้าใส่ข้อมูลบัตรเครดิตเพื่อสั่งซื้อสินค้าว่ามีกระบวนการอย่างไรบ้าง เพื่อให้เรียนรู้และใช้ได้อย่างเท่าทัน ไม่กลัวจนเกินไป โดยหวังต่อไปว่าผู้ประกอบการจะนำแนวคิดและวิธีการไปประยุกต์ใช้ได้ ในขณะที่ได้สื่อสารถึงผู้ซื้อทำให้จะตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น
สำหรับแนวทางในอนาคตของ เว็บไซต์ BananaClick.com จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับสีเหลืองซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของกล้วย หรือที่เกี่ยวข้องกับกล้วย
ทางด้าน ศิริ วนสุวานิช เจ้าของ บริษัท ศิริวานิช (เอส แอนด์ ดับเบิ้ลยู) จำกัด กล่าวว่าบริษัทฯ เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร แต่เน้นกล้วยเป็นหลัก ซึ่งมีหลากหลายแบบ เช่น กล้วยอบเนย กล้วยม้วน กล้วยโรยงา กล้วยกวน และเป็นพันธมิตรรับจ้างผลิตกล้วยตากให้กับ BananaClick ซึ่งก่อนหน้านั้นและปัจจุบันยังผลิตขายเองด้วยใช้ชื่อว่าไทไท โดยมีบรรจุภัณฑ์และจุดขายแตกต่างกัน
ศิริกล่าวว่า การร่วมมือกับ BananaClick ทำให้กล้วยตากที่ทำตลาดมา 2 ปี เติบโตได้อย่างรวดเร็วมาก จากเดิมขายเพียงเดือนละ 500 กล่อง เพิ่มเป็น 2,000 กล่อง และได้เรียนรู้การทำธุรกิจ e-Commerce ทำให้เห็นช่องทางและเกิดความคิดจะนำ e-Commerce มาพัฒนาธุรกิจ
โดยเน้นการทำตลาดต่างประเทศซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการร่วมออกงานแฟร์ในต่างประเทศ และกำลังพัฒนาคุณภาพสินค้าและการผลิต เช่น การทำมาตรฐาน HACCP ซึ่งมีความสำคัญต่อการขยายตลาดต่างประเทศ ส่วน GMP , ฮาลาล ผ่านการรับรองไปแล้ว
อีกทั้ง กำลังหาพันธมิตรซึ่งผลิตสินค้าเกษตรแปรรูปอื่นๆ เพื่อให้มีสินค้าหลากหลาย เพราะเชื่อว่าสินค้าเกษตรของไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะไปแข่งขันในตลาดโลก แล้วจัดทำเว็บไซต์เพื่อขายแบบค้าส่ง เพราะรู้ว่ามีความถนัดในด้านการผลิตมากกว่า และไม่ถนัดที่จะทำตลาดแบบค้าปลีก
นอกจากนี้ ได้แก้ปัญหากล้วยพันธุ์มะลิขาวอ่องที่ขาดแคลนด้วยการร่วมมือกับสหกรณ์การเกษตรให้ส่งเสริมการปลูกกล้วยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เมื่อผลผลิตในฤดูกาลใหม่ออกมาจะช่วยรองรับความต้องการของตลาดได้
จาก นสพ ผู้จัดการรายสัปดาห์ http://www.managerweekly.com/
]]>