<![CDATA[

ใครที่ขยันเข้าร้านหนังสือบ่อยๆ คงจะรู้กันดีว่า สมัยนี้เขามีร้านหนังสือออนไลน์ไว้ให้บริการกันแล้ว ด้วยจุดขายที่ความสะดวก ง่ายดาย ไม่ต้องออกจากบ้าน ไม่ต้องแวะหาร้านหนังสือ หรือเข้าไปหาหนังสือในร้านให้ยุ่งยากอีกต่อไป ร้านหนังสือออนไลน์จึงเริ่มเป็นช่องทางทำธุรกิจที่ใครหลายคนอยากจับจองเป็นเจ้าของ

จากช่วงที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ บูมใหม่ๆ หลายคนคาดการณ์ว่า ร้านหนังสือคงไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอีกต่อไป มีเฉพาะร้านหนังสือออนไลน์ก็คงอยู่ได้ แต่จนถึงทุกวันนี้ มันถูกพิสูจน์แล้วว่า ร้านหนังสือออนไลน์ที่ไม่มีหน้าร้านต้องล้มหายตายจากโลกไซเบอร์ไปกว่าครึ่ง ด้วยข้อจำกัดด้านการเงิน การส่งหนังสือ บุคลากร ถ้าไม่มีหนังสือในสต็อกไว้ ก็จะต้องไปสั่งจากสำนักพิมพ์ ซึ่งใช้เวลานานกว่าปกติ

นี่ทำให้ธุรกิจร้านหนังสือออนไลน์ "ไม่ง่าย" อย่างที่คิด

แต่ก็ใช่ว่าจะล้มหายตายจากไปเสียทั้งหมด มีร้านหนึ่งที่อยู่ยงคงกระพันมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นร้านหนังสือออนไลน์เจ้าแรกของเมืองไทยด้วย

เรากำลังพูดถึง ร้านหนังสือ http://www.chulabook.com ที่เติบโตมายาวนานเป็นเวลาถึง 7 ปี จนถึงวันนี้ มียอดผู้เข้าชมวันละประมาณ 1,000 คน ยอดสั่งซื้อวันละ 30 ออเดอร์ ทำรายได้ให้ศูนย์หนังสือจุฬาฯคิดเป็น 3% ของรายได้หลักทั้งหมด

เกรียงศักดิ์ หรรษาเวก ผู้จัดการฝ่ายเทคนิค เวบไซต์ศูนย์หนังสือจุฬาฯ เล่าว่า เวบไซต์นี้เกิดจากความตั้งใจของทางศูนย์หนังสือจุฬาฯ ที่ต้องการให้เป็นแหล่งหนังสือที่ครบวงจร สามารถเสิร์ฟหนังสือถึงมือลูกค้าได้ครบทุกช่องทาง รวมทั้งเป็นแหล่งประชาสัมพันธ์ศูนย์หนังสือไปในตัว ดังนั้นจึงนำแนวคิดร้านหนังสือออนไลน์มาจาก http://www.amazon.com ร้านหนังสือออนไลน์ชื่อดังระดับโลก

"ช่วงที่เริ่มก่อตั้งใหม่ๆ มีพนักงานเฉพาะ ดูแลระบบไอทีเพียง 4 คน ส่วนการบริการจัดส่งแพ็คของก็ใช้พนักงานร่วมกับศูนย์หนังสือ โดยมีเงินลงทุนก้อนแรกประมาณ 1 แสนบาท เพื่อจัดซื้อฮาร์ดแวร์และเซิร์ฟเวอร์"

ด้วยความโดดเด่นของศูนย์หนังสือจุฬา ทำให้สามารถจัดทำฐานข้อมูลอัพโหลดบนเวบไซต์ได้ถึงกว่า 2 แสนรายการ ซึ่งถือว่าเป็นร้านหนังสือออนไลน์ที่มีฐานข้อมูลมากที่สุดในเมืองไทย อีกทั้งยังมีหนังสือให้เลือกครบทุกสำนักพิมพ์ และอัพเดทฐานข้อมูลรายการหนังสือถึงวันละกว่า 100 รายการทุกวัน

"พรทิพย์ เจริญสุข" ผู้จัดการฝ่ายลูกค้า เวบไซต์ศูนย์หนังสือจุฬา บอกว่า ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อังกฤษ วัยนักศึกษาจนถึงวัยทำงาน ที่ต้องการความสะดวกสบาย

โดยเฉลี่ยเป็นคนไทยในประเทศไทย 70% อเมริกา 20% และอื่นๆ อีก 10 % ส่วนพฤติกรรมการสั่งซื้อจากในประเทศเมื่อปีที่แล้วพบว่า หนังสือที่สั่งซื้อทางออนไลน์มักจะเป็นหนังสือในกระแส เช่น พอคเก็ตบุ๊คของนักเขียนที่มีชื่อเสียง เช่น คุณทองแดง แต่ปีนี้จะเป็นหนังสือเกี่ยวกับการบริหาร ตำราเรียน ซึ่งตรงนี้เราจะได้เปรียบในการขายตำราเรียนมาก เพราะศูนย์หนังสือจุฬาฯ จะสั่งของทีละจำนวนมากทำให้ได้ราคาต่ำกว่าปก โดยเฉพาะสำนักพิมพ์ต่างประเทศ ทำให้เราก็สามารถขายในราคาต่ำกว่าปก เป็นการจูงใจลูกค้าได้

"สิ่งสำคัญก็คือ ทำอย่างไรถึงจะทำให้ประชากรผู้ใช้อินเทอร์เน็ตราวๆ 7 ล้านคน หันมาซื้อหนังสือออนไลน์ให้เยอะกว่าเดิม ซึ่งตอนนี้เราวางแผนไว้ว่าจะทำให้ยอดขายโตขึ้นปีละ 15 % ให้ได้ ตัวสำคัญที่จะทำให้เราเดินไปถึงยอดก็ต้องขึ้นอยู่กับตัวเวบไซต์เราเอง ที่ต้องตอบโจทย์ในด้านความสะดวกสบายในการใช้งาน ความหลากหลายของสินค้า มีฐานข้อมูลพร้อมความน่าเชื่อถือและรูปแบบในการชำระเงิน การทำโปรโมชั่น และสำคัญที่สุดต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าได้สินค้าในราคาที่ถูกกว่านั่นเอง"

นั่นเป็นมุมมองของร้านหนังสือออนไลน์อันดับ 1 ของเมืองไทย ส่วนมุมมองของร้าน
หนังสือน้องใหม่อย่าง "สยามบุ๊คคลับ" ก็เป็นอีกร้านหนึ่ง ที่นำเสนอในรูปแบบออนไลน์ควบคู่ไปกับร้านหนังสือที่มีหน้าร้าน

"ธัญวดี ทรงสิทธิโชค" เจ้าของร้านหนังสือสยามบุ๊คคลับสาขาฟิวเจอร์ปาร์คบางแค และเซ็นทรัลพระราม 2 และเวบไซต์ http://www.siambookclub.com บอกว่า ร้านหนังสือออนไลน์นี้เปิดมาได้ประมาณ 7 เดือนแล้ว ตอนนี้มียอดผู้เข้าชมเฉลี่ยวันละกว่า 100 คน มาจากคนไทยในประเทศไทย แคนาดา ออสเตรเลีย สวิตเซอร์แลนด์ และญี่ปุ่น

เธอเล่าว่า มีแรงบันดาลใจจากพี่สาวที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ แล้วฝากซื้อหนังสือภาษาไทยบ่อยๆ เพราะหนังสือไทยในต่างประเทศค่อนข้างจะหาซื้อยาก อย่างในสหรัฐอเมริกา ถ้าอาศัยอยู่ในรัฐที่ค่อนข้างชนบท ก็จะไม่มีหนังสือไทยขายเลย ต้องเข้าไปซื้อตามเมืองใหญ่ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาในการเดินทางนานพอสมควร ร้านตามเมืองใหญ่ๆ ก็ไม่แน่ว่าจะมีหนังสือที่ต้องการ เพราะจะมีเฉพาะบางเล่มที่มีแนวโน้มว่าจะขายได้เท่านั้น ดังนั้นจึงมองเห็นช่องทางทำกำไร ด้วยการเปิดร้านหนังสือออนไลน์

ธัญวดี เล่าถึงสยามบุ๊คคลับออนไลน์ว่า เธอใช้บริการเวบไซต์สำเร็จรูปของเวโลคอลล์ (velocall) เสียค่าบริการเพียงเดือนละ 1,000 บาท โดยเน้นไปที่กลุ่มคนไทยในต่างประเทศ และอยู่ในวัยที่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้

"ที่ผ่านมา หนังสือที่มียอดสั่งซื้อบ่อยๆ จะเป็นหนังสือ รักลูก แม่และเด็ก โดยมาจากกลุ่มหญิงไทยที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ ยอดสั่งซื้อโดยรวมเฉลี่ยเดือนละ 5 ออเดอร์ ลูกค้าสามารถเลือกซื้อหนังสือจากในสต็อก หรือถ้าไม่มีในสต็อกก็อาจจะออเดอร์โดยตรงมาทางอีเมลได้"

เวลาลูกค้าคลิกหยิบของใส่ตะกร้าปุ๊บ เวโลคอลล์ก็จะคำนวณค่าใช้จ่ายให้ลูกค้าโดยอัตโนมัติ โดยมาจาก 2 ส่วน คือ ค่าหนังสือ ซึ่งจะขายจากราคาปกโดยตรง เรียกได้ว่าจุดนี้เป็นข้อได้เปรียบของสยามบุ๊คคลับดอทคอมเลยก็ว่าได้ ค่าใช้จ่ายอีกส่วนหนึ่งมาจากค่าขนส่ง

โดยเวโลคอลล์เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของไปรษณีย์ไทย ทำให้สามารถคำนวณได้ ณ เวลานั้นเลยว่า น้ำหนักหนังสือเท่านี้ ค่าบริการอีเอ็มเอสส่งไปประเทศนี้ เท่าไหร่ และลูกค้าก็จะรู้เลยว่าจะต้องจ่ายเงินทั้งหมดเท่าไร

อย่างไรก็ดี ปัญหาหลักของธุรกิจนี้ที่มักจะพบบ่อยๆ คือ ค่าขนส่งที่แพงมาก ธัญวดีให้ข้อคิดว่า ขณะที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมอี-คอมเมิร์ซ แต่ก็ไม่พยายามผลักดันให้ค่าขนส่งถูกลง แต่การซื้อขายของออนไลน์จะมาคู่กับการขนส่งอยู่แล้ว ลูกค้าบางคนจะคลิกเลือกหนังสือลงตะกร้า แต่พอรวมค่าขนส่งด้วยแล้ว ก็กดเคลียร์ออเดอร์ทันที

"ใน 1 เดือน เราจะได้กำไรจากค่าหนังสือ 20% เพราะเรารับหนังสือมาจากเอเย่นต์อีกต่อหนึ่ง ทำให้ได้ค่าหนังสือในราคาถูกกว่าปก รวมแล้วมีกำไรเดือนละประมาณ 3,000-4,000 บาท"

แต่ถึงแม้จะมีกำไรเพียงเล็กน้อย ธัญวดีก็ไม่หวั่น เธอบอกว่า ทำงานนี้เป็นแค่งานอดิเรกเท่านั้น เพราะมีร้านหนังสือจริงอยู่แล้วด้วย จึงแทบจะไม่ต้องลงทุนเพิ่มมากมายเลย

อย่างไรก็ตามเธอก็มีแผนที่จะเพิ่มยอดผู้เข้าชมเวบไซต์ด้วยการใช้เสิร์ชเอ็นจิ้นให้เป็นประโยชน์ พยายามลงทะเบียนในกูเกิล (www.google.com) บ่อยๆ ทำให้สยามบุ๊คคลับดอทคอมได้อยู่ในอันดับต้นๆ เวลาที่มีคนเสิร์ชหาร้านหนังสือออนไลน์

"ตอนแรกคิดอยู่ว่าจะทำดีมั้ยนะ เพราะกลัวทำแล้วขาดทุน และก็ไม่มีความรู้ในการเขียนเวบไซต์เลย ด้วย แต่ก็ต้องลองทำดู เพราะมิฉะนั้น เราก็ได้แต่คิด ไม่มีใครรู้หรอก เราต้องลงมือทำด้วยตัวเอง แล้วจะรู้" ธัญวดีทิ้งท้าย

  อัญชลี เดชธราดล
ข้อมูลจาก http://www.bangkokbizweek.com

]]>