เหตุการณ์เมษาเลือดที่ผ่านมา แทบจะบอกได้เลยว่า เป็นเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของวงการข่าวเมืองไทยเลยทีเดียว เพราะการรับรู้ข่าวสารจาก "สื่อเดิม" ดูจะเป็นช่องทางที่ "ช้าและไม่ทันใจ" ของกลุ่มคนที่รับข่าวสาร และในขณะเดียวกันก็กลายเป็นช่องทางใหม่ของ "สื่อและนักข่าว" ที่ใช้เป็นช่องทางการสื่อสาร "ทางตรง" ไปยังกลุ่มคนรับสื่อได้ทันที ผ่านทาง "สื่อใหม่ (New Media) อย่าง Social Network" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริการอย่าง ทวิตเตอร์ (Twitter) ต้องถือว่าเป็นช่องทางที่ร้อนแรง และมีข้อมูลหลั่งไหลเข้ามา แบบวินาที ต่อวินาทีเลยทีเดียว

จากเหตุการณ์ในคืนวันเกิดเหตุการปะทะกันของ กลุ่ม นปช. และ เจ้าหน้าที่ทหาร หากเป็นเมื่อก่อน เราคงจะต้องรอนักข่าวถ่ายทอด หรือส่งข่าวเข้ามาในรายการข่าวทางทีวีหรือวิทยุ โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารทาง "เสียง" หรือ "ภาพ" ซะส่วนใหญ่ และการออกแต่ละครั้งก็ต้องรอ "จังหวะและโอกาสของรายการทีวี หรือวิทยุในช่วงนั้นๆ ด้วย" ซึ่งด้วยเหตุผลเหล่านี้ทำให้ ข่าวกว่าจะมาถึงผู้รับก็ดูจะช้าและใช้เวลาเลยทีเดียว

Twitter อาวุธใหม่สำหรับนักข่าว

และด้วยการเกิดขึ้นของสื่ออย่างโซเชี่ยลเน็ตเวิรก์ อย่าง Twitter กลายเป็นสื่อที่สามารถสื่อสารได้อย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันนี้ เริ่มมีนักข่าวหลายๆ คนเริ่มหันมาใช้ Twitter เป็นเครื่องมือในการสื่อสารอีกช่องทาง ตรงไปยังผู้รับข่าวสารโดยตรง เช่น กลุ่มนักข่าวจาก Nation นำโดย คุณสุทธิชัย หยุ่น (@suthichai) คุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ (@noppatjak) คุณเอกรัตน์ สาธุธรรม (@ekarat)  หรือจากกลุ่มทีวีไทย คุณณัฏฐา โกมลวาทิน (@Nattha_tvthai) และคุณกิตติ สิงหาปัตย์ (@Kitti3Miti) หรือแม้แต่ทาง อสมท.อย่าง คุณศรีสุดา วินิจสุวรรณ์ (@sresuda) ซึ่งจะเห็นได้ว่า แต่ละสำนักข่าวได้เริ่มเน้นให้นักข่าวของตัวเองเริ่มใช้สื่อกันมากขึ้น แต่ถ้าดูตอนนี้ส่วนตัวผมมองว่าทาง Nation Group เป็นสำนักข่าวที่เน้นเรื่องนี้กันอย่างจริงๆ จังๆ เรียกได้ว่าทั้งกระตุ้นและผลักดัน กันอย่างมากเลยทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับสำนักข่าวอื่นๆ  โดยสังเกตุได้จาก อันดับของ ชื่อคนที่มีคนพูดถึงมากที่สุดจากการจัดอันดับของ http://www.lab.in.th/thaitrend พบว่า 5 อันดับที่มีคนพูดถึงมากที่สุดในคือวันที่ 10 เมษายน 2553 คืนวันเกิดเหตุการประทัน พบว่า ทั้ง 5 อันดับล้วนเป็นนักข่าวทังหมด ซึ่งต้องบอกว่า ปกติไม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน จากผมสังเกตุมาหลายๆ ครั้ง ข้อมูลนี้ทำให้เราเห็นว่า "ได้เกิดรูปแบบใหม่ ช่องทางใหม่ ในการรับข้อมูลข่าวสารของคนไทย" ซึ่งจะเป็นรูปแบบที่่ "นักข่าวสามารถสื่อสารตรงไปยังผู้รับข่าวได้ทันที" 

การจัดอันดับของ http://www.lab.in.th/thaitrend พบว่า 5 อันดับล้วนเป็นนักข่าวทังหมด ในวันที่ 10 เมษายน 2553

และดูจากข้อมูลการเก็บสถิติ จะพบว่า กลุ่มนักข่าวหลายๆ คนก็มีคน Follow เพิ่มขึ้นมาในช่วงวันเมษาเลือดอย่างรวดเร็ว ดูตัวอย่างของ คุณสุทธิชัย หยุ่น (@suthichai) ที่มีคนตามวันเดียว 1,040 คนเลยทีเดียว และเช่นเดียวกันกับคุณนภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ (@noppatjak) จะเห็นได้ว่าคนคนตามเพิ่มมากขึ้นอย่างมากเช่นกันเลยทีเดียว ดูภาพประกอบด้านล่าง

ข้อดีก็มีข้อเสียก็มี

ด้วยความรวดเร็วที่นักข่าวสามารถสื่อสารไปยังผู้คนทั่วไปได้ทันที จะทำให้เกิดความเร็ว และ "ความสด" ของข่าว จากพื้นที่ข่าว ซึ่งจริงๆ แล้วสื่อนี้ หลายๆ คน หรือคนทั่วไปก็สามารถเป็น "สื่อ" ได้เช่นกัน แต่หากข่าวได้มีการส่งออก หรือมาจาก "นักข่าว" ดูแล้วจะมีความได้เปรียบมากกว่า เนื่องจาก "ความน่าเชื่อถือ" และการมีวิจารณาณของนักข่าว ทำให้ข่าวที่ถูกส่งออกมา ได้รับเครดิตและความน่าเชื่อถือ มากกว่าคนธรรมดาๆ ส่งออกมา แต่หากในอีกมุมมอง การที่ข่าวออกมาทันทีน้ัน บางครั้งอาจจะเกิดความเสี่ยงต่อการ ขาดการกลั่นกลอง หรือตรวจสอบจาก บรรณาธิการข่าวก่อน ซึ่งตรงนี้ ทำให้นักข่าวที่เข้ามาทำงาน และใช้สื่ออย่าง Twitter เป็นสื่อในการสื่อสาร ต้องใช้วิจารณญาณค่อนข้างมากว่า สื่ออื่นๆ

Twitter กลายเป็นแหล่งข่าวชั้นดี.!

เนื่องจากมีคนดังหลายๆ คนเข้ามาใช้ twitter กันมากขึ้น และส่วนใหญ่ข้อความที่ส่งออกมา จะเป็นการส่งโดยเจ้าตัวเอง (แต่บ้างก็อาจจะมีการใช้ทีมงานเช่นกัน แต่ถือว่าเป็นส่วนน้อยมาก) ทำให้นักข่าวหลายๆ คนเริ่มเข้ามาใช้ Twitter เป็นแหล่งข้อมูลในการเข้าถึง ความคิด หรือข้อมูลของแหล่งข่าวกันมากขึ้นเรื่อยๆ หากยกตัวอย่างที่นักข่าวนิยมใช้กันมากๆ กันตอนนี้ได้แก่ของ อดีตนายก ทักษิณ ชินวัตร (@thaksinlive) หรือแม้แต่ในช่วงวันที่ 11 เมษายน 2553 หลังวันเกิดเหตุ ก็มีหลายๆ สำนักข่าว ได้นำข้อมูลของ คุณจาตุรนต์ ฉายแสง (@chaturon) มาเป็นข้อมูลอ้างอิงในการประกอบข่าว ในการหยุดม๊อบและการกองกำลังทหาร
 

คุณก็เป็นนักข่าวได้.!

นอกจากนักข่าวจะใช้ สื่อนี้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน คนธรรมดาหลายๆ คนก็เริ่มกลายเป็นคนส่งข่าวกันมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนเดินไปไหนมาไหน หากเจออะไรก็จะนิยม "ทวีตต์" หรือส่งข้อมูลกันทันที แต่เพียงแต่ว่าน้ำหนักหรือ ความน่าเชื่ออาจจะน้อยกว่านักข่าวส่งออกมา "แต่หากข้อความนั้นๆ ถูกส่งต่อโดยคนที่มีเรารู้จักหรือมีความน่าเชื่อถือ หรือคนดัง" ข้อความนั้นก็จะกลายเป็นข้อความที่มีความน่าเชื่อถือขึ้นมาทันที ดังนั้นการที่เราเองจะส่งต่อข้อความ (RT = ReTweet) ของคนอื่นๆ เราควรจะต้องใช้วิจารณญาณอย่างมาก เพราะบางครั้งการส่งต่อข้อความที่ตัวเองไม่มั่นใจ หรือ ไม่ชัวร์ อาจจะทำให้คนอื่นๆ ที่รับข้อความจากคุณ เกิดความเข้าใจผิดได้ไม่ยาก และเช่นเดียวกัน การรับข่าวสารจากช่องทางนี้ คุณเอง ก็ต้องใช้วิจารญาณอย่างมากด้วยเช่นกัน

แต่สิ่งที่ผมอยากจะบอกตอนนี้ ประเทศไทยเราได้เข้าสู่รูปแบบใหม่ของการสื่อสารด้านข่าวเรียบร้อยแล้วครับ.! หากสำนักข่าว หรือสื่อไหน ไม่มีการปรับตัว หรือให้นักข่าวของตัวเองปรับตัวเข้ากับสื่อรูปแบบใหม่นี้ ผมว่าองค์กรของคุณคงจะอยู่ในโลกของการสื่อสารรูปใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ยากละครับ