ผมได้รับการติดต่อจากหลายๆ สื่อให้ช่วยพูดถึงการมาเยือนของแจ็ค หม่า กับการเข้ามาลงทุนใน E-Commerce Park ในเขต EEC ซึ่งค่อนข้างเป็นที่สนใจอย่างมาก และสถิติที่น่าทึ่งของทุเรียน 80,000 ลูกถูกขายไปในเวลา 60 วินาที การมาของเงินลงทุนนับหมื่นล้านบาทและการสนับสนุนผู้ประกอบไทยรวมไปถึงสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวไทยไปจีน ซึ่งผมเองก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะคงไม่มีนักธุรกิจไทยคนไหนกล้าที่จะทุ่มเงินนับหมื่นๆ ล้านบาทเพื่อมาลงทุนแบบนี้ได้ (แต่ก็อาจจะมีในกลุ่มของ Central และ JD.com จากจีนที่ก็กำลังจะเปิดตัวเร็วๆ นี้ก็ได้)
เม็ดเงินลงทุนมหาศาลที่เข้ามาเหล่านี้จะเป็นไปในรูปของการสร้าง “โครงสร้าง” พื้นฐานด้านการทำการค้าออนไลน์ของกลุ่ม Alibaba ที่จะสามารถขยายออกไปยังกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม) ได้อีกต่อหนึ่ง การเข้ามาลงทุนใน Southeast Asia ถือว่าเป็นเรื่องที่เร็วมาก การที่แจ็ค หม่า ตัดสินใจเข้ามาตั้งแต่วันนี้เป็นความได้เปรียบมากๆ และด้วยแบรนด์หรือชื่อเสียงของเขาจึงทำให้รัฐบาลทุกๆ ประเทศอ้าแขนต้อนรับ และจะทำให้เขาได้เปรียบมากกว่าคนอื่นที่ยังไม่ได้เข้ามา
การเข้ามาลงทุนใน EEC ข้อดีก็คือมีความได้เปรียบสูงมาก รัฐบาลจะเปิดทางให้เกือบทุกอย่างเพราะต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลนั้นย่อมมองแต่ในภาพรวม ฉะนั้นเมื่อเขาเข้ามาลงทุนแบบนี้ก็จะมีข้อได้เปรียบหลายอย่างที่จะสามารถต่อรองหรือขอกับรัฐบาลได้ดีมากกว่าการที่จะเข้ามาเปิดตลาดเอง
สิ่งที่ผมกังวลกับการมาของ Alibaba ในการลงทุนในประเทศไทยที่จะกระทบกับหลายๆ ธุรกิจและอุตสาหกรรมก็คือ
1. ผู้ประกอบการไทยไม่มีที่ยืน
สินค้าจีนจะเข้ามารุกรานสินค้าไทย การสร้าง E-Commerce Park นั้นเป็นการลงทุนเพื่อ “สร้างการเชื่อมต่อกับจีน” โดยสินค้าไทยจะสามารถส่งออกไปจีนได้ง่ายสะดวกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันสินค้าจีนก็จะไหลทะลักเข้าไทยได้สะดวกมากยิ่งขึ้น” สินค้าจากจีนที่มีราคาถูกกว่าของไทยมากและส่งตรงถึงบ้านของผู้ซื้อคนไทยโดยไม่จำเป็นต้องผ่านพ่อค้าคนกลางหรือบริษัทตัวแทนนำเข้าอีกต่อไป
ฉะนั้นคนที่นำเข้าสินค้าจากจีนเตรียมเปลี่ยนงานได้ รวมถึง SMEs และผู้ผลิตสินค้าที่ตรงกับกลุ่มที่สินค้าจีนที่เข้ามาหากไม่สามารถปรับตัวหรือต่อสู้ได้ก็ต้องตายไป เพราะต้นทุนและราคาสินค้าอาจต่อสู้กับสินค้าจีนไม่ได้ และแน่นอนปริมาณสินค้าจีนที่เข้าประเทศไทยจะมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบหลายๆ อย่าง เช่น ธุรกิจต้องปิดตัว และอัตราการจ้างงานก็อาจลดน้อยลงตามไป จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจในระยะยาว
2. กระทบต่อตลาดค้าปลีกและห้างสรรพสินค้า
ปัจจุบันคนไทยซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะสะดวกกว่าและราคาถูกกว่า ส่งผลกระทบต่อสินค้าในห้างสรรพสินค้าหรือตามตลาดนัดอย่างตอนนี้เริ่มกระทบแล้วกับสินค้ากลุ่มนาฬิกา เครื่องสำอาง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เหล่านี้เป็นกลุ่มสินค้าที่คนนิยมซื้อกันทางออนไลน์ แน่นอนว่าจะไปกระทบกับบรรดาธุรกิจค้าปลีกอื่นๆ อีก และการกระทบนี้จะขยายวงออกไปยังสินค้าในกลุ่มอื่นๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
วงการค้าปลีกบ้านเราก็จะไปเหมือนอเมริกาที่โดน E-Commerce เบอร์หนึ่งของตลาดอเมริกาอย่าง Amazon ครอบครองตลาดไว้หมดแล้ว Amazon จะไปฆ่าธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิมทั้งหมด ซึ่งอนาคตประเทศไทยอาจจะเป็นเช่นกันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ที่นั่นคืออเมริกากินอเมริกา แต่ของเรานี่จะเป็นจีนเข้ามากินไทย
3. การผูกขาดของผู้ให้บริการรายใหญ่รายเดียว
ใครที่มาก่อนย่อมได้เปรียบมากกว่า เกมนี้มีที่ให้เฉพาะเบอร์ 1 กับ เบอร์ 2 แค่นั้น การผูกขาดของธุรกิจการค้าออนไลน์เกิดขึ้นแน่ๆ เพราะการเข้ามาลงทุนก่อนด้วยเงินมหาศาลแบบที่ธุรกิจไทยทำไม่ได้นั่นจะทำให้ Alibaba มีความได้เปรียบมากกว่าคนที่เข้ามาทีหลัง และยิ่งมีการลงทุนด้าน Infrastructure ไปก่อนก็จะยิ่งทำให้ได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ อย่างมาก ซึ่งหัวใจและความสำคัญของธุรกิจ E-Commerce ก็คือการเก็บและการจัดส่งสินค้า (Warehouse & Fulfilment) ซึ่งตอนนี้ทาง Alibaba กำลังเร่งลงทุนอย่างมากในขณะนี้
4. ธนาคาร การขนส่ง และอุตสาหกรรมอื่นๆ โดนหมด
ในเมื่อเขาทำ E-Commerce เขาย่อมต้องมีข้อมูลมหาศาล (Big Data) อย่างแน่นอน และมีมากกว่าธนาคารหรืออะไรทั้งหมด การเข้ามาครั้งนี้ก็ย่อมที่จะเข้ามาทำเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจด้านการเงินด้วยแน่นอนตามแบบฉบับการลงทุนของกลุ่มจีนไม่ว่าจะเป็น Alibaba หรือ JD.com ด้วย
Big Data จากการซื้อสินค้าของผู้ซื้อและร้านค้าจึงทำให้สามารถนำเสนอบริการทางการเงินไปยังกลุ่มลูกค้าได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากกว่าธนาคาร จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อธนาคารซึ่งสิ่งนี้เกิดแล้วกับที่ประเทศจีน และนี่จึงเป็นเหตุผลหลักที่แบงค์ชาติยอมให้ธนาคารไทยหันมาทำ E-Marketplace ได้ เพราะเห็นแล้วยักษ์ใหญ่จากจีนจะมาแบบครบวงจร ธนาคารไทยจึงต้องมีทางออกเพื่อปรับตัวสู้ให้ได้
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงธุรกิจการขนส่งที่ Alibaba ก็มีบริษัทขนส่งขนาดใหญ่ของจีนคือ Cainiao ที่จะขยายเข้ามาในไทยอีกด้วย ซึ่งก็จะกระทบกับผู้ให้บริการขนส่งของไทยอย่างไปรษณีย์ไทยอย่างแน่นอน ทั้งหมดนี้จะกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะการมาของกลุ่ม Alibaba คือมาทั้งกลุ่มธุรกิจและสร้างให้เกิดระบบนิเวศ (ECO-System) ของตัวเองโดยล้อมลูกค้าไว้ไม่ให้หลุดออกไปไหนได้
นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะให้ทุกคนรู้ถึง “ความจริงอีกด้านหนึ่ง” ของการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาและเราต้องเร่งปรับตัวอย่างไร
– คนไทยและธุรกิจไทยต้องปรับตัวเข้าสู่ออนไลน์ และให้รู้ว่าเราไม่ได้แข่งกันคนไทยด้วยกันเองอีกต่อไป จะทำอย่างไรให้ธุรกิจของคุณจะขยายออกไปสู่ตลาดโลกได้ซึ่งมีหลายวิธีมาก
– รัฐบาลไทยต้องปรับตัว ผลักดันสินค้าไทยออกจีนแบบเต็มกำลัง และชะลอการนำเข้าสินค้าของจีนอย่างมีศิลปะ หาคนที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ มาช่วยผลักดันการค้าออนไลน์อย่างเป็นระบบ คณะกรรมการด้าน e-commerce ที่ตั้งมาต้องมาช่วยกันทำงานร่วมกัน และผลักดันประเทศไปข้างหน้าด้วยตัวเราเอง
หากมองไปไกลๆ ในอนาคตอีกสัก 5-10 ปี ธุรกิจค้าปลีกเข้ามาในออนไลน์และจะตกไปอยู่ในมือของต่างชาติอย่างเบ็ดเสร็จ บอกได้เลยว่าไทยอาจจะตกอยู่ใต้ความควบคุมของจีนจริงๆ รัฐบาลไทยในระดับบริหารอาจมองภาพรวมในด้านเดียวว่ามีการลงทุนเป็นหมื่นล้าน แต่ก็มีบางคนที่กังวลว่าเป็นการเปิดรับมากเกินไปหรือไม่ เราควรจะมองอีกด้านหนึ่งว่าจริงๆ เขาสอดไส้อะไรกับการเข้ามาในครั้งนี้ด้วย
ดังนั้น วันนี้เราต้องมองให้ออกว่าจะปรับตัวอย่างไรเพื่ออยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยให้ทั้งตัวเราและประเทศสามารถเดินไปข้างหน้าได้ ผมยังยืนยันว่า ไม่ได้เห็นแย้งหรือต่อต้านกับการมาลงทุนของกลุ่ม Alibaba แต่ต้องการให้คนไทยเห็นถึงอีกมุมหนึ่งของข้อมูลและต้องการผลักดันให้นักธุรกิจไทย “ตื่นตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเอง“ ต่อการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ครับ