ผมมีโอกาสเดินทางไปสหรัฐอเมริกาช่วงกลางปี 2018 มีโอกาสได้ไปเยี่ยมออฟฟิศของ Facebook และ Instagram ที่ Silicon Valley โดยมีโปรแกรมเมอร์ชาวไทยท่านหนึ่งที่ทำงานอยู่ใน Instagram เป็นผู้นำชมข้างใน โปรแกรมเมอร์ท่านนี้ทำงานเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมด้านวิดีโอของ Instagram ซึ่งในการเดินทางไปที่ Silicon Valley ครั้งนี้ผมใช้บริการ Uber อยากจะบอกว่าที่อเมริกานั้นการเดินทางไปในที่ต่างๆ Uber เป็นเครื่องมือหลักในการเดินทางของคนที่นั่นเลยครับ
Silicon Valley คืออะไร บางคนอาจจะเคยได้ยินว่าบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ตั้งอยู่ในแถบ Bay Area ในซานฟรานซิสโก มันเหมือนเป็นเมืองที่อยู่ตามอ่าวซานฟรานฯ อารมณ์ที่นั่งรถไปเหมือนผมนั่งรถไปแถวรังสิตคือออกไปไกลจากตัวเมืองเลยทีเดียว บริษัทเหล่านี้เขาจะไปสร้างนิคมทางเทคโนโลยีของตัวเอง
ที่แรกที่ผมไปก่อนคือ Facebook ซึ่งจะมีลักษณะเป็นออฟฟิศแนวราบ เป็นกลุ่มตึก 3 ชั้นที่ใหญ่มากอารมณ์เหมือนไป Universal หรือ Disneyland โดยจะเป็นกลุ่มตึกกระจัดกระจายหลายตึกมาก มีพื้นที่แบบ open space ปกติคนนอกจะเข้าไปเดินเองไม่ได้ แต่หากมีคนรู้จักข้างในจะสามารถพาเข้าไปชมได้ บรรยากาศน่าตกใจครับเพราะมีคนหลากเชื้อชาติมากที่อยู่รวมกันในออฟฟิศของ Facebook หรือ Instagram ในนั้นจะมีร้านอาหารกินได้ฟรี มีกาแฟ มีฟู้ดทรัคตั้งอยู่ข้างใน ทุกอย่างฟรีหมดเลยสำหรับพนักงาน
วัฒนธรรมการทำงานของที่นั่นน่าสนใจมากเลยทีเดียว แต่น่าเสียดายที่วันนั้นไม่มีโอกาสได้เจอมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กเพราะค่อนข้างมีเวลาน้อยเลยไม่ได้เดินไปดู จริงๆ ห้องทำงานของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กไม่ได้มีห้องแบบส่วนตัวแต่เขานั่งรวมกับคนอื่นๆ ที่เป็นห้องแบบเปิดกว้าง เขาเองยังนั่งเขียนโปรแกรมเหมือนคนอื่นๆ อยู่ ซึ่งตัวเขาเชื่อในวัฒนธรรมที่ว่าทุกอย่างต้องเปิดโล่งและสามารถเข้าถึงได้ง่าย
ความน่าสนใจของเฟซบุ๊กก็คือเมื่อก่อนผมคิดว่าเฟซบุ๊กเป็นองค์กรที่ต้องมีขั้นตอนหรือมีระเบียนต่างๆ มากมายแต่ปรากฏว่าไม่มี ผมเคยไปดูออฟฟิศเฟซบุ๊กและกูเกิ้ลที่สิงคโปร์ซึ่งเป็นออฟฟิศใหญ่ในอาเซียน ก็มีวัฒนธรรมคล้ายๆ กับที่นี่คือไม่มีกำหนดเวลาเข้างานตายตัวจะเข้าหรือออกกี่โมงก็ได้ เพียงแต่ต้องทำงานและส่งงานตามที่ได้รับมอบหมายให้ตรงตามเวลา ออฟฟิศเปิด 24 ชั่วโมง มีของกินตลอดทั้งวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ น่าจะเพราะเขาไม่อยากให้คนต้องทำงานมากเกินไปซึ่งเป็นเรื่องของ work-life balance
จุดที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือปกติบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้น่าจะเจอแต่ฝรั่ง แต่ครั้งนี้ผมเริ่มเจอคนเอเชียเยอะนะทั้งคนอินเดีย คนจีน จะเห็นว่าเมื่อก่อนกลุ่มคนในซิลิคอนวัลเล่ย์หรือบริษัทเทคโนโลยีมักจะเป็นคนอินเดียซึ่งจะมีอิทธิพลมาก (CEO ของบริษัทอินเทอร์เน็ตหลายๆ แห่งก็เป็นคนอินเดีย เช่น CEO ของกูเกิลหรือไมโครซอฟต์)
สังเกตว่าคนจีนจะเริ่มเยอะขึ้น ผมมองว่าต่อไปคนจีนและคนเอเชียจะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพราะเริ่มเห็นคนเหล่านี้เข้ามาเป็นเจเนอเรชั่นต่อไปในซิลิคอนวัลเล่ย์แล้ว มีคนไทยอยู่ในเฟซบุ๊กอยู่หลายสิบคนเหมือนกันเป็นทั้งเอนจิเนียร์และทีทำด้านธุรกิจในนั้น
ผมเดินทางออกจากเฟซบุ๊กโดยใช้บริการอูเบอร์อีกครั้ง ซึ่งก็มีสิ่งที่น่าสนใจอีกเช่นกันนั่นคือที่อเมริกาจะมี uberPOOL เพื่อแชร์ค่ารถให้ถูกลง และล่าสุดยังมี Uber Express POOL คือจะเร็วกว่าเดิม เพราะจะเป็นการไปรับตรงจุดนัดที่สะดวกที่อยู่บนเส้นทาง ทำให้คนขับสามารถวางแผนการเดินทางได้เร็วขึ้น และราคาถูกลงไปเยอะมากลดลงไปถึงครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว นี่ถือเป็นโมเดลหนึ่งที่เกิดขึ้นที่นั่น
เมื่อผมเดินไปถึงกูเกิล น่าเสียดายที่ครั้งนี้ติดต่อคนที่รู้จักไม่ทันก็เลยได้แค่เดินดูบรรยากาศข้างในแต่ไม่มีใครให้รายละเอียดลึกๆ อารมณ์ของกูเกิลคล้ายกับมหาวิทยาลัย จริงๆ ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กมีความเหมือนกันก็คือด้วยความที่เป็นพื้นที่ระนาบใหญ่ ลักษณะเป็นแคมปัสขนาดใหญ่ จึงจะมีจักรยานให้ใช้ได้ฟรี
แต่ถ้าถามถึงบรรยากาศข้างในโดยผมดูจากที่เคยไปที่สิงคโปร์ที่จะมีความเหมือนกันก็คือจะมีอาหารฟรี มีทุกอย่างฟรีหมด แต่สำหรับกูเกิ้ลเท่าที่อ่านมาจะมีคนอยู่สองชนชั้นคือกลุ่มคนที่เป็นเอนจิเนียร์ ทำเรื่องนวัตกรรมต่างๆ กลุ่มนี้จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จะมีอาหารฟรีทั้งเช้า กลางวัน เย็น ได้รับการดูแลอย่างดีตลอด 24 ชั่วโมงทั้งอาทิตย์
กับอีกกลุ่มหนึ่งเป็นฝั่งบิสเนส กลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นแบบชนชั้นสอง อาหารฟรีจะมีแค่เช้าและกลางวันส่วนเย็นไม่มี เสาร์อาทิตย์ก็ไม่มี การดูแลเรื่องคนของเขาจะชัดเจนมากว่าถ้าคุณเป็นพวก Technical จะได้รับการดูแลอย่างดี แต่โดยรวมเท่าที่เดินดูแล้วเห็นว่าเขาดูแลคนของเขาอย่างดีมากๆ
ทั้งกูเกิลและเฟซบุ๊กด้วยความที่อยู่ไกลจากตัวเมืองมากเพราะต้องการพื้นที่เยอะเป็นแบบแคมปัส ดังนั้นจึงต้องเตรียมอุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ครบ เพื่อดึงคนให้อยู่กับเขานานๆ จะเห็นว่าวัฒนธรรม free food โตที่อเมริกาอย่างมากก็เพราะว่าองค์กรของเขาออกไปตั้งอยู่ไกลมาก หากให้พนักงานต้องออกมาหาอะไรกินเองคงต้องใช้เวลามากเลยให้ใช้เวลาอยู่ข้างในนั้นเลยดีกว่า เขาจึงต้องมีทุกอย่างให้ฟรี อาหารฟรี นวดฟรี มีรถบัสรับส่งจากตัวเมือง ก็เพื่อให้คนอยู่กับเขานานๆ แล้วสิ่งนี้ก็ลามออกมาเป็นวัฒนธรรมไปทั่วโลกเลย
กูเกิ้ลหรือเฟซบุ๊กนั้นเหมือนกันในเรื่องวิธีการจัดการเรื่องของอาหาร คือจะมีอาหารเลี้ยงในไมโครคิทเช่น พวกเขาเชื่อว่าอาหารหรือการอิ่มนั้นจะมีผลต่อการทำงาน ถ้ามีอาหารอยู่ตลอดเวลา สมองจะคิดและทำงานตลอดเวลาเช่นกัน ในแง่ของการจัดโต๊ะทำงานของพนักงานจะอยู่ไม่ห่างจากไมโครคิทเช่นซึ่งจะเป็นครัวเล็กๆ มีอาหารอยู่เต็มตลอดเวลา
เขายังมีความใส่ใจอีกด้วยเพราะอาหารที่มีความหวานหรือน้ำตาลเยอะๆ นี่เขาจะเอาไปวางไว้ล่างๆ ในที่ที่หยิบยากๆ อะไรที่เฮลตี้จะวางไว้บนๆ สิ่งนี้คือจิตวิทยาในการออกแบบสิ่งแวดล้อมให้กับคนด้วยเหมือนกัน เขายังสังเกตด้วยว่าอะไรที่ไม่ค่อยถูกกินจะโละออกเอาอันใหม่เข้ามาแทน
ร้านอาหารที่กูเกิลก็เหมือนกัน ร้านไหนที่คนกินน้อยเขาจะเอาออกไปเลย เพราะถือว่าร้านหรือสินค้านี้ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพนักงานของเขาได้ ตรงนี้สำคัญมาก จึงบอกได้ว่ากูเกิลเป็นองค์กรที่เป็นต้นแบบของบริษ้ทอินเทอร์เน็ต บริษัททางด้านเทคโนโลยี หรือพวกเทคสตาร์ทอัพในโลกนี้
กูเกิลกลายเป็นบริษัทที่เปลี่ยนวัฒนธรรมในการทำงานที่ตอนนี้เปลี่ยนไปหมดแล้วทั้งในซิลิคอนวัลเล่ย์และลามไปถึงบริษัทเทคโนโลยีทั่วโลกด้วย ซึ่งตอนนี้ก็มีผลต่อเมืองไทยเหมือนกันผมไปดูประกาศรับสมัครงานของบริษัทเทคโนโลยีพวกเทคสตาร์ทอัพเดี๋ยวนี้ต้องบอกความสะดวกสบายต่างๆ ที่บริษัทมีให้ เช่น ใกล้รถไฟฟ้า มีอาหารกลางวันฟรี มีปาร์ตี้สุดสัปดาห์ ฯลฯ ถึงจะดึงคนเข้าไปได้ สิ่งเหล่านี้เริ่มเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะกลุ่มคนในวงการเทคโนโลยีมาอยู่กับองค์กรได้
ผมอยากให้หลายท่านลองหันกลับมาพิจารณาว่าวัฒนธรรมในการทำงานมันเปลี่ยนไปมากจริงๆ กฎที่เคยคิดว่าใช่ก็อาจจะไม่ใช่อีกต่อไปแล้วกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนี้ หากคุณจะปรับองค์กรรับคนรุ่นใหม่มาแต่องค์กรยังมีวัฒนธรรมหรือวิธีการทำงานแบบเดิมๆ ก็จะไม่สามารถรับคนกลุ่มนี้เข้ามาได้เลย
การเปลี่ยนวัฒนธรรมเหล่านี้ผมเริ่มเห็นองค์กรหลายๆ แห่งเปลี่ยนแล้ว หากคุณคิดจะเปลี่ยนหรืออยากจะ transformation องค์กรของตัวเองคงต้องกลับมาดูวัฒนธรรมในการทำงานของตัวเองก่อน ไม่ใช่เปลี่ยนแค่ business model อย่างเดียว ต้องกลับมาเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานและการดูแลคน เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญเช่นกันหากเราอยากได้คนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานด้วย