งาน DAAT DAY 2018 จัดโดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ Digital Advertising Association (Thailand) (DAAT) เป็นงานใหญ่ประจำปีที่มีการจำหน่ายบัตรหมดอย่างรวดเร็ว ในงานนี้จะมีคนจากแวดวงต่าง ๆ ทั้งออนไลน์เอเจนซี่ คนในวงการโฆษณา บริษัทต่าง ๆ ที่กำลังปรับตัวเองเข้าสู่โลกออนไลน์ต่างไปร่วมงานกันเยอะมาก ผมจึงอยากอัปเดตข้อมูลบางเรื่องที่น่าสนใจให้กับทุกท่านครับ

ข้อมูลที่น่าสนใจแรกเลยก็คือเรื่องของ Total Spending ของสื่อดิจิทัลที่ตอนนี้เติบโตขึ้นเช่นเดียวกับทุกปี ซึ่งปีนี้เองก็มีการเติบโตประมาณ 21% ตัวเลขที่เก็บเฉพาะในสมาคมคือประมาณ 14,000 ล้านบาท โดยตัวเลขจากครึ่งปีแรกเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วโตขึ้นมาก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตัวเลขออนไลน์เพิ่มมากขึ้นเพราะว่าเกิดจากความ mass ของสื่อดิจิทัล คนมีพฤติกรรมซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น มีการทำออนไลน์โปรโมชั่นมากขึ้น มี e-Coupon มีการใช้เดต้า และมีการใช้สื่อต่าง ๆ ที่ฉลาดมากขึ้น เช่น ดูจากการทำรีทาร์เก็ตติ้ง เวลาที่เราเข้าไปในเว็บไซต์หนึ่งแล้วโฆษณาของเว็บไซต์นี้ก็จะตามเราไปด้วยตลอดเวลา หรือบางทีก็จะมีเทคโนโลยีบางอย่าง เช่น เราถ่ายรูปมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อหนึ่งปุ๊บปรากฏว่าโฆษณาของมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อนี้ก็จะตามเรามาทันที

กลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตมากขึ้นโดยเฉพาะในวงการที่ใช้สื่อโฆษณาดิจิทัลก็คือ รถมอเตอร์ไซค์และจักรยาน ซึ่งโตขึ้นประมาณ 179% เทียบจากเมื่อก่อนที่บ้านผมเองก็มีธุรกิจขายมอเตอร์ไซค์ที่เมืองกาญจน์ชื่อร้าน “โล้วเฮงหมง” ก็มีอยู่หลายสาขา ซึ่งตอนนี้น้องชายเป็นคนบริหารงานได้เล่าให้ผมฟังว่าปัจจุบันทางร้านมีการใช้ Facebook เป็นเครื่องมือหลักในการคุยกับลูกค้า และตอนนี้มียอดขายผ่านทางเฟซบุ๊กโตขึ้นประมาณ 7-8% จากเมื่อก่อนที่ยังไม่มี แต่ตอนนี้เริ่มมีคนเข้ามาทัก เข้ามาถามราคา มาคุยเรื่องการซื้อ ฯลฯ เฟซบุ๊กจึงกลายเป็นช่องทางที่ใช้ปิดการขายได้ดีมากไปแล้ว 

กลุ่มที่สองที่โตมากขึ้นเช่นกันก็คือวงการเรียลเอสเตท โตขึ้น 124% บอกได้เลยครับว่าตอนนี้วงการธุรกิจก่อสร้างเกี่ยวกับเรื่องบ้านหรือคอนโดต่าง ๆ เงินมาเทลงในออนไลน์มากทีเดียว หากย้อนไปเมื่อสัก 5-6 ปีก่อนในหนังสือพิมพ์หัวสีต่าง ๆ เปิดมาก็จะเจอโฆษณาคอนโดหรือบ้านจำนวนมาก แต่เดี๋ยวนี้แทบหาไม่มีเลย เพราะว่างบทั้งหมดลงมาเทบนออนไลน์หมดแล้วจริง ๆ  

อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเรื่อง skin care ยังเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้เงินสูงในปีนี้ โดยเฉพาะการลงเม็ดเงินเพิ่มมากขึ้นกับออนไลน์ช็อปปิ้งในการทำแคมเปญต่าง ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็นพวกลักชัวรี่แบรนด์ พวกสินค้าแบรนด์ดัง ๆ จะสังเกตได้ว่าเมื่อก่อนเราดูแมกาซีนผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อเปิดมาหน้าแรก ๆ จะเจอพวกแบรนดดัง ๆ พวกนี้แต่ด้วยการล้มหายตายจากของพวกแมกาซีนทำให้บรรดาแบรนด์ต่างๆ กระโดดลงมาที่ออนไลน์เพิ่มมากขึ้น และเช่นเดียวกับกลุ่มธนาคารก็เป็นกลุ่มที่มีการใช้เม็ดเงินบนโลกออนไลน์มากขึ้น สอดคล้องกับการที่ธนาคารกำลังกระโดดเข้าสู่การทำออนไลน์เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

ถึงตรงนี้หลายคนก็คงอยากรู้ว่าแล้วแพลตฟอร์มไหนหรือช่องทางออนไลน์ที่มีอัตราการใช้เงินคือคนเอาเงินไปจ่ายสูงสุด ที่น่าสนใจสามอันดับแรกคือ Facebook รองลงมาคือ YouTube ที่น่าสังเกตเกี่ยวกับยูทูปก็คือสมัยก่อนเงินที่เคยมาลงโฆษณาในทีวีเมื่อคนดูน้อยลง แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะพวก FMCG จึงหันมาลงเงินโฆษณาในยูทูป เพราะยูทูปสามารถเลือกทาร์เก็ตได้เลยว่าต้องการให้เป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย สังเกตได้จากเวลาที่เราดูยูทูปไม่ว่าจะเป็นรายการทีวีย้อนหลังหรือรายการอื่น ๆ ก็จะมีโฆษณาขึ้นมาให้เห็น แต่ว่าโฆษณาที่เห็นนั้นจะแตกต่างกันไป เช่น ผู้ชายอาจจะเห็นโฆษณารถยนต์หรือโฆษณาเกี่ยวกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ส่วนผู้หญิงที่ดูวิดีโอตัวเดียวกันอาจจะเห็นโฆษณาประเภทเครื่องสำอาง ฯลฯ เพราะฉะนั้นคนดูวิดีโอตัวเดียวกันบนยูทูปจะเห็นโฆษณาที่แตกต่างกัน แต่เป็นการโฆษณาที่ตรงไปยังทาร์เก็ตที่แบรนด์ต้องการจริง ๆ ทำให้ยูทูปกลายเป็นเครื่องมือตัวหนึ่งที่แบรนด์เริ่มมานิยมใช้เงินมากขึ้น 

อันดับสามคือที่เรียกว่า Display Ad เช่น การซื้อโฆษณาในกูเกิลที่เป็นแบนเนอร์หรืออื่น ๆ เฟซบุ๊กเองก็ได้เพิ่มบริการใหม่ๆ เข้ามามากขึ้นอย่าง Facebook Live หรือที่เพิ่งเปิดตัวไปก็คือ Facebook Watch ที่จะเป็นปุ่มที่มีลักษณะคล้ายทีวี เมื่อกดเข้าไปดูอารมณ์จะคล้าย ๆ กับยูทูปคือจะเป็นการรวมวิดีโอต่าง ๆ ไว้ทั้งหมด 

ในแง่ของโฆษณาออนไลน์จะเห็นว่ามีความเก่งมากขึ้น มี creative มากขึ้น บางบริษัทก็เริ่มมาเปิดออฟฟิศในประเทศอย่าง Facebook ที่เริ่มมาขยายออฟฟิศในประเทศไทยอย่างจริงจัง YouTube ก็เริ่มมีทีมคนไทยเพิ่มเข้ามามากขึ้นเช่นเดียวกัน ผมมีโอกาสได้เชิญทีมงานกูเกิลของสิงคโปร์ที่เป็นคนไทยมาพูดเกี่ยวกับเรื่อง YoutTube Marketing สิ่งที่น่าสนใจมากคือคนที่ดูยูทูปส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด และช่องยูทูปแชนแนลที่มีคนตามเยอะ ๆ คือพวกอาร์สยาม พวกเพลงลูกทุ่ง ฯลฯ มันเป็นสัญญาณที่เห็นได้ชัดว่าตอนนี้เทคโนโลยีและสื่อโฆษณาไม่ได้อยู่เฉพาะแค่คนเมืองเท่านั้น มันออกไปสู่กลุ่มคนที่อยู่ต่างจังหวัดมากขึ้นด้วย ดังนั้น มันจึงกลายเป็นสื่อโฆษณาที่แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้นด้วยเพราะสามารถทาร์เก็ตกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน และในขณะเดียวกันราคาก็ถูกกว่าเดิมมากจริง ๆ 

ส่วนที่เป็น rising star แพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์ที่ตอนนี้มีอัตราการเติบโตมากที่สุดคือ Twitter เพราะเริ่มมีความชัดเจน ตอนนี้กลุ่มเด็ก ๆ เริ่มมาอยู่ในทวิตเตอร์เยอะมากขึ้น และอัตราการเติบโตการใช้งานทวิตเตอร์ปีต่อปีโตเกือบ 30% ในขณะที่อัตราการใช้งานเฟซบุ๊กปีต่อปีโตแค่ 4% เท่านั้น นั่นคือคนใช้งานเฟซบุ๊กในเมืองไทยกำลังอิ่มตัวในขณะที่คนใช้งานทวิตเตอร์กำลังเติบโต นั่นเพราะเด็ก ๆ เริ่มหนีจากเฟซบุ๊กไปอยู่ในทวิตเตอร์เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่มักอยู่ในเฟซบุ๊ก และอีกปัจจัยหนึ่งก็คือเมื่อก่อนการทำโฆษณาในทวิตเตอร์ต้องทำผ่านเอเจนซี่ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ต้องแล้วเพราะว่ามีบริการ self service อยากจะลงโฆษณาในทวิตเตอร์ก็ทำได้เลยเหมือนกับการทำใน Facebook ad 

จริง ๆ แล้วยังมีข้อมูลอัปเดตที่น่าสนใจอีกเยอะมากเลยทีเดียว สำหรับใครที่สนใจข้อมูลเกี่ยวกับวงการโฆษณาออนไลน์เหล่านี้ ทางสมาคมโฆษณาดิจิทัลฯ ได้รวบรวมไว้ดีมากครับ ลองเข้าไปอ่านที่ Facebook: Digital Advertising Association (Thailand) หรือพิมพ์ DAAT ได้เลย จะมีข้อมูลทั้งหมดที่ผมเล่ามาซึ่งจริง ๆ แล้วยังไม่ถึง 10% ของที่มีอยู่ ที่สำคัญเป็นข้อมูลที่ใหม่มากจึงอยากแนะนำให้เข้าไปอ่านกันดูนะครับ