คนไทยหลายคนยังมีความสนใจที่จะนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนเข้ามาขาย อาจจะเพราะราคาไม่แพง ซื้อง่าย ฯลฯ แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวังคือสินค้าที่นำเข้ามานั้นบางครั้งมันมีอยู่ในตลาดไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งอาจเข้ามาจากช่องทางเว็บอีคอมเมิร์ซใหญ่ ๆ เช่น Lazada หรือ Shopee อยู่แล้ว ช่องทางเหล่านี้อาจจะเชื่อมต่อสินค้ามาจากจีนโดยตรง นั่นหมายถึงคนไทยสามารถซื้อสินค้าจากจีนโดยตรงทางออนไลน์ผ่านเว็บเหล่านี้ได้เลย

หากว่าคุณเป็นตัวแทนนำเข้าสินค้ามาจากประเทศจีนด้วยแล้วและหวังว่าจะบวกกำไรหลาย ๆ เปอร์เซ็นต์ละก็ เชื่อเถอะว่าคุณไม่สามารถที่จะไปขายของสู้ราคากับเว็บเหล่านี้ไม่ได้แน่ ๆ  

ผมจะเตือนทุกครั้งกับทุกคนที่กำลังจะนำสินค้าใดมาขายว่า หนึ่งให้ตรวจเช็คให้ดีซะก่อนว่าสินค้านั้นมีในเว็บอีคอมเมิร์ซที่ว่ามาแล้วหรือไม่ และ สองให้เช็กราคาว่าราคาสินค้าที่คุณจะนำเข้ามานั้นสามารถเเข่งขันได้หรือเปล่า

เพราะสินค้าที่บริษัทอีคอมเมิร์ซใหญ่ ๆ เหล่านี้สั่งเข้ามาจะมาจากโรงงานโดยตรง และสั่งมาเป็นล็อตใหญ่ ๆ โดยจะส่งฟรีและถูกมาก ในขณะที่เราสั่งมาครั้งละชิ้นสองชิ้นและต้องเสียภาษี ฉะนั้นจึงต้องดูดี ๆ ต้องทำการสำรวจและวิเคราะห์ตลาดให้ดีจริง ๆ เสียก่อนโดยเฉพาะในโลกออนไลน์ 

สถานการณ์ร้านค้าท้องถิ่นในวันนี้

เดี๋ยวนี้ทุกคนเปลี่ยนตามยุคสมัยอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม แม้แต่คนต่างจังหวัดสมัยนี้เขาก็เข้าถึงโลกออนไลน์ได้อย่างง่ายดาย จากเดิมที่เมื่อก่อนจะซื้ออะไรก็ซื้อตามร้านที่อยู่ใกล้บ้านเพราะไม่มีทางเลือกมาก มีความคุ้นชิน และตัวเลือกของสินค้าก็มีจำกัด เงินก็จะหมุนเวียนอยู่ในชุมชน

แต่ตอนนี้ถ้าหากว่าไม่มีสินค้าในร้านคนก็จะหันไปสั่งซื้อทางออนไลน์เลยทันที กลายเป็นว่าอีคอมเมิร์ซกับคนต่างจังหวัดหลาย ๆ คนนั้นเป็นเรื่องปกติมาก กลายเป็นว่าพวกเขาสามารถเข้าถึงแหล่งสินค้าที่หลากหลายได้  

แต่ที่ผมกังวลก็คือร้านค้าท้องถิ่นเริ่มน่าเป็นห่วงแล้ว พวกร้านขายเสื้อผ้า ขายรองเท้า ตอนนี้กำลังซื้อที่เคยไหลเวียนอยู่ในท้องถิ่นมันจะไม่อยู่ในชุมชนแล้ว

จากการมีการตลาด มีโฆษณาที่คนเห็นมากขึ้น มีคนติดตามมากกว่าเดิม ทำให้เงินไม่ได้ลงมาที่ชุมชน ภาษีชุมชนก็ไม่ได้ และบางครั้งสินค้าที่เราซื้อนั้นก็มาจากต่างประเทศอีกต่างหาก เงินนั้นถูกกระจายออกไปนอกประเทศ ผมกำลังห่วงร้านค้าชุมชนจะหายไป  ถ้าเหตุการณ์ยังเป็นอย่างนี้ต่อไป คาดการณ์ว่าไม่น่าจะเกิน 3-5 ปี ร้านค้าท้องถิ่นน่าจะมีผลกระทบมากเพราะคนจะหันไปซื้อออนไลน์แทน

ทางรอดของผู้ประกอบการดั้งเดิม

ผมคิดว่าร้านค้าท้องถิ่นก็ต้องปรับตัว คงจะอยู่แต่ภายในท้องถิ่นตัวเองเท่านั้นไม่ได้อีกต่อไป จากที่เคยคิดขายเฉพาะแต่คนในท้องถิ่น อาจต้องเพิ่มช่องทางการขายหรือเพิ่มบริการให้ออกไปยังพื้นที่อื่น ๆ ด้วย และต้องมองหาความแตกต่าง ดูว่าเรามีบริการบางอย่างที่ดีขึ้นด้วยได้หรือเปล่า เพราะบางทีการซื้อออนไลน์ก็จะมีข้อจำกัดบางอย่าง เช่น ความรวดเร็วในการจัดส่งที่ทำได้จากข้อได้เปรียบในเรื่องของพื้นที่ สร้างความประทับใจแก่ลูกค้า

ในประเทศจีนเองร้านค้าต่าง ๆ ก็เริ่มมีการปรับตัวเอง เข้าสู่โลกออนไลน์มากขึ้น เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น เริ่มมีระบบสต๊อกสินค้า มีซอฟต์แวร์ POS มีระบบบริหารงานทุกอย่างเป็นออนไลน์ได้หมด เริ่มวิเคราะห์ลูกค้าได้ ผมคิดว่าควรเริ่มนำมาใช้เพราะจะทำให้ธุรกิจมีระบบการจัดการที่ดีขึ้น

ผมเคยไปพบมาร้านค้าในต่างจังหวัดบางแห่งเดี๋ยวนี้มีการใช้เฟซบุ๊กไลฟ์ในการขายของ เป็นการขยายพื้นที่ในการขายของให้กว้างมากขึ้น ถือว่ามีการปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยได้ดีมาก และยิ่งระบบการจัดส่งสินค้าในยุคนี้ที่ดีขึ้น ทำให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย

เราสามารถส่งสินค้าไปได้ทั่วประเทศ คนที่ต้องการซื้อเดี๋ยวนี้ไม่ใช่มีแค่คนพื้นที่ของเราหรืออยู่ใกล้ ๆ เราเท่านั้น ร้านค้าท้องถิ่นจะต้องเปิดตาให้กว้างมากขึ้นเพื่อเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น

สินค้าบางอย่างไม่เหมาะที่จะซื้อผ่านอีคอมเมิร์ซ จริงหรือ

คำถามนี้มีทั้งที่จริงและไม่จริง ผมเชื่อว่าทุกอย่างสามารถขายได้หมดครับ เพราะว่าโลกออนไลน์มันคือช่องทางที่ทำให้เราได้เจอลูกค้า อยู่ที่ว่าเมื่อเจอแล้วจะซื้อขายแบบไหน มีการจ่ายเงินแบบไหน  ฯลฯ

เหมือนอย่าง TARAD.com หรือในเว็บไซต์ ThaiSecondhand.com มีขายทุกอย่างครับ เรือประมงก็ยังมีขายเลย เพราะฉะนั้นอย่าไปปฏิเสธว่าขายไม่ได้ ในขณะที่คนอื่นขายสินค้าพวกนี้กันอยู่แล้ว

อยากจะกระตุ้นให้ทุกท่านคิดตามว่าวันนี้วิธีการค้าขายมันเปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่จะกระทบต่อไปคือใน 3-5 ปีข้างหน้าร้านค้าในต่างจังหวัดหรือแม้กระทั่งในกรุงเทพฯ เองก็ตามที่ไม่มีการปรับตัว จะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก ถึงวันนั้นอาจสายเกินไปแล้ว

แต่ในวันนี้หากคุณเองก็เป็นเจ้าของร้านค้าและได้อ่านบทความนี้ ผมคิดว่าคุณยังมีเวลา ยังสามารถต่อลมหายใจของตัวเองได้ ทางรอดคือต้องลงมือทำเริ่มปรับเปลี่ยนเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยครับ