จากการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งโดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับ พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์ที่มีการเรียกเก็บภาษีอย่างถูกต้อง แต่ในขณะเดียวกันผมก็มองว่ากฎหมายนี้ยังไม่เหมาะที่จะนำออกมาใช้ในช่วงเวลานี้
ก่อนหน้านี้ ตามนโยบายของรัฐบาลได้มีการสนับสนุนให้มีการชำระเงินผ่านระบบคิวอาร์โค้ด (QR Code) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับร้านค้าในการชำระเงินซื้อ-ขายสินค้า และปูทางให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
แต่เมื่อมีกฎหมายนี้ออกมา ทำให้เกิดความกังวลและส่งผลกระทบโดยตรงต่อบุคคลที่ทำธุรกิจและเป็นบุคคลธรรมดานั่นหมายถึงผู้ที่ทำการค้าของออนไลน์ในช่องทางต่าง ๆ ที่มีการเคลื่อนไหวทางการเงินตรงตามเงื่อนไข จะต้องถูกตรวจสอบโดยกรมสรรพากร
- เมื่อมีเงินฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้ง/ปี/ธนาคาร (เปรียบเทียบให้เห็นง่ายขึ้นก็คือ วันละประมาณ 8 ครั้งทุกวัน)
- หรือมีการฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้ง/ปี/ธนาคาร และมียอดรวมของการรับฝากตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป
ความเคลื่อนไหวทางการเงินนี้นับรวมที่เกิดขึ้นทั้งในสถาบันการเงินของภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น mPay, Rabbit LinePay, TrueMoney และผู้ให้บริการชำระเงินต่าง ๆ ที่ขึ้นทะเบียนกับทางภาครัฐโดยเฉพาะกับแบงก์ชาติ จำเป็นต้องรายงานความเคลื่อนไหวของเงินเหล่านี้ให้กับสรรพากร เพื่อที่สรรพากรจะนำไปประมวลรวมกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อคัดเลือกรายบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการปกิบัติหน้าที่ทางภาษีไม่ถูกต้อง
จากเดิมที่สรรพากรใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ว่าบุคคลใดควรเสียภาษี แต่หลังจากที่สรรพากรมีข้อมูลที่ได้รับการรายงานจากธนาคารและผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์แจ้งเข้ามาแล้ว ก็เหมือนมีข้อมูลที่เป็นตัวยืนยันว่าใครมีรายได้เกินและต้องมีการพึงประเมินในแง่ของภาษี
เมื่อกฎหมายตัวนี้ออกมาจึงสร้างความกังวลให้กับหลาย ๆ คนรวมทั้งตัวผมเองด้วย อย่างที่บอกไปว่าจริง ๆ ส่วนตัวผมก็ยังเชียร์ให้มีการเสียภาษีนะครับ
แต่ต้องบอกว่าเรื่องนี้มันก็มีผลกระทบในเชิงของ
1. คนที่ทำธุรกิจและเป็นบุคคลธรรมดา เช่น เปิดร้านขายข้าวแกง ขายของ โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่คือขายของออนไลน์ ซึ่งปกติจะใช้การขายหน้าเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดียหรือตามช่องทางต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ ซึ่งนิยมใช้การชำระเงินออนไลน์โดยส่งเลขที่บัญชีให้ลูกค้าโอนเงินเข้ามา
แน่นอนหากมีการโอนเงินเข้ามามากจนถึงเกณฑ์ที่ทางภาครัฐกำหนดไว้ก็จะเข้าข่ายว่าบัญชีของบุคคลนั้นหรือธุรกิจนั้นจะต้องถูงส่งข้อมูลให้กับสรรพากร
ผลกระทบมีแน่นอนกับบรรดาผู้ที่ทำการค้าบนโลกออนไลน์ รวมถึงพวกธุรกิจสีเทาทั้งหลาย เช่น การพนัน โต๊ะบอล การโอนเงินซื้อขายยาเสพติดต่าง ๆ ซึ่งเมื่อมีเงินเข้ามาเรื่อย ๆ จากที่เมื่อก่อนไม่เคยถูกตรวจสอบหรือรายงาน
แต่ตอนนี้เมื่อมีเงินเข้ามามากมายผิดปกติข้อมูลก็จะถูกส่งไปยังสรรพากรโดยอัตโนมัติ ซึ่งต้องตอบหรือรายงานให้ได้ว่าแหล่งที่มาของเงินนั้นคืออะไร ต้องมีหลักฐานมายืนยันภาครัฐเลยว่าเงินที่เข้ามานั้นเกิดจากอะไร
ฉะนั้นหากใครเป็นมนุษย์เงินเดือนที่มีรายรับเข้ามาในบัญชีเข้าข่ายความเสี่ยงคือมีรายรับเข้ามาเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือมากกว่า 400 ครั้งต่อปีและมียอดรวมของธุรกรรมเกินสองล้านบาทก็คงต้องกังวลมากขึ้นแล้ว
2. กระทบคนกลุ่มอื่นด้วย เช่น บางคนที่เล่นแชร์กับเพื่อนฝูงทั้งที่มีจำนวนคนเล่นมากหรือน้อยและมีวงเงินเท่าใดก็แล้วแต่ ก็ต้องมีการโอนเงินกันในกลุ่มให้กับคนที่เปียแชร์ได้ในรอบนั้น ๆ แต่หากว่ามีการเปียกันยอดเงินเป็นแสน มือละพันสองพันแต่มีคนเล่นจำนวนเยอะมาก เงินที่จะเข้าบัญชีของคุณจากการเล่นแชร์ก็มีโอกาสเข้าข่ายมีความเสี่ยง
3. เงินทำบุญที่มีการระดมเงินเข้ามาโดยให้โอนเงิน ซึ่งอาจเป็นการนำเงินนั้นไปบริจาคต่อ ฉะนั้นยิ่งมีคนโอนเงินเข้ามาเยอะก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะต้องโดนสรรพากรประเมินเมื่อมีข้อมูลที่เกินเกณฑ์กำหนดดังกล่าว
ฉะนั้น บุคคลที่มีเงินเข้าหรือเงินฝากเข้ามาในบัญชีนะครับ (ไม่นับเงินออก) เกินเกณฑ์ที่บอกไป นั่นหมายถึงคุณมีความเสี่ยงทันที คำถามคือเราจะรับมืออย่างไร
วิธีการรับมือเท่าที่ผมลิสต์มาคร่าว ๆ คือ
1. เปิดบริษัท นี่คือสิ่งที่ภาครัฐต้องการ จากตัวเลขที่มีออกมาว่าผู้มีรายได้ประจำ 8 ล้านกว่าคน ยื่นเสียภาษีเพียง 500,000 กว่าคน และบุคคลที่ไม่มีระบบเงินเดือนอีกกว่า 2.5 ล้านคนและที่ยื่นเสียภาษี 300,000 คน นับเป็นตัวเลขที่หายไปเยอะเหมือนกัน ส่วนนิติบุคคลหรือบริษัทมีประมาณ 600,00 รายและที่ยื่นเสียภาษีมีเพียง 400,000 ราย ฉะนั้นตัวเลขคนที่มีรายได้แจ้งเข้ามามีไม่มากนักเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด
กฎหมายตัวนี้จึงออกมาเพื่อพยายามดึงคนเข้ามาในระบบภาษี และให้มีการจัดตั้งบริษัทอย่างถูกต้องเพื่อจะได้มีการเสียภาษีอย่างถูกต้อง หากคุณเข้าข่ายที่กล่าวมาข้างต้น เช่น ทำธุรกิจออนไลน์ มีการรับเงินเกินเกณฑ์ดังกล่าว
คำแนะนำอย่างแรกที่จะรอดพ้นก็คือการเปิดเป็นบริษัท ใช้บัญชีธนาคารของบริษัทในการรับเงินเข้ามา แต่กฎหมายตัวนี้ก็ยังครอบคลุมไปถึงการนิติบุคคลอยู่ดี หากมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีและไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม สรรพากรก็จะรู้ข้อมูลทางการเงินได้เพราะธนาคารยังต้องส่งข้อมูลบริษัทของคุณเช่นกัน
คำแนะนำคือเงินที่เข้ามาในบัญชีธนาคารทุกรายการทั้งของตัวบุคคลและบริษัท จงเก็บข้อมูลเก็บหลักฐานเอาไว้ว่าเงินนั้น ๆ มาจากแหล่งไหน มีการเสียภาษี หัก ณ ที่จ่ายอย่างถูกต้องหรือไม่
2. หากเป็นบุคคลธรรมดาและเข้าข่ายว่ามีรายรับเกินแน่ ๆ วิธีการเดียวกันคือ เก็บหลักฐานไว้ และหากยังมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทก็ควรต้องไปจดภาษีมูลค่าเพิ่ม หากเป็นเงินปันผลจากการซื้อขายหุ้นที่มีการหักภาษีไปแล้วก็ควรมีหลักฐานไว้
สิ่งสำคัญคือหลักฐานทางการเงินเหล่านี้ต้องเก็บไว้อย่างดีเพราะหากวันใดวันหนึ่งสรรพากรเข้ามาตรวจสอบเงินในบัญชีของคุณและไม่มีหลักฐานยืนยันอาจโดนประเมินภาษีย้อนหลังได้ ทั้งหมดนี่ผมมองตามความเข้าใจในเรื่องภาษีของผมเท่านั้นนะครับ
พร้อมแล้วจริงหรือ กับ พ.ร.บ. เก็บภาษีผู้ค้าออนไลน์
สุดท้ายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย ผมยังมองไม่เห็นว่าแบงค์ไทยจะสามารถรองรับการทำรายงานธุรกรรมแบบนี้ได้ เพราะยังมีไม่ระบบไหนเข้ามารองรับ ผู้ให้บริการ e-payment หลายรายก็ยังไม่มีระบบที่รองรับนี้ เพื่อรายงานเจ้าหน้าที่สรรพากรด้วยเช่นกัน ผมจึงเห็นว่าควรที่จะมีช่วงเวลาให้ทดลองก่อนมีการปฏิบัติใช้จริง เพื่อความพร้อมในการปฏิบัติของทุก ๆ ฝ่ายจริง ๆ