ยุคนี้เรียกได้ว่าเป็นสงครามของแอปกู้เงินต่าง ๆ และต่อไปจะดุเดือดมากกว่านี้ครับ ยุคก่อนการกู้เงินจะแบ่งเป็นแบบในระบบและนอกระบบ ในระบบคือการไปกู้กับธนาคารหรือสถาบันการเงิน มีเอกสารสำหรับควบคุมชัดเจน แบบที่สองคือการกู้เงินนอกระบบ บางคนเรียกว่า loan shark
การจะปล่อยกู้ในสมัยก่อนมีวิธีการคำนวณหลาย ๆ อย่าง เช่น ทำเครดิตสกอริ่ง เอาเครดิตลูกค้ามาวิเคราะห์ต่าง ๆ สมัยก่อนต้องมีของหรือสินทรัพย์เข้าไปค้ำ เช่น โฉนดที่ดิน รถยนต์ ฯลฯ เพื่อทำให้ความเสี่ยงของการปล่อยกู้มีน้อยที่สุด นี่คือรูปแบบการกู้ที่มีมาช้านาน
แต่เมื่อมายุคนี้กลายเป็นยุคที่การจะกู้เงินหรือการปล่อยกู้เงินนั้นเงินมีเต็มอยู่แล้วในระบบ แต่การกู้เงินหรือการปล่อยกู้ สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือเรื่องของ data หรือเรื่องข้อมูล สังเกตได้ว่าทุกแอป ทุกธุรกิจ เช่น Lazada หรือ Shopee เริ่มเปิดบริการปล่อยกู้ อย่าง Shopee มีบริการ SPay Later คือซื้อสินค้าแล้วสามารถแบ่งจ่ายได้ ผ่อนได้ เป็นการปล่อยเงินกู้ให้ก่อนไปในตัว
ในขณะเดียวกัน Shopee ก็เริ่มนำข้อมูลของคนคนนั้นมาวิเคราะห์ว่าควรได้เครดิตเท่าไหร่ ควรให้วงเงินเท่าไหร่ที่จะเอาไปซื้อสินค้าได้ หรือ KBank เองก็เปิดบริษัทร่วมทุนกับ LINE เปิด LINE BK โดยนำข้อมูลจาก LINE และ KBank เองมาวิเคราะห์ในการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าในกลุ่มของ LINE
ผมเข้าไปลองดูในแอปฟินนิกซ์ (FINNIX) เป็นบริการปล่อยกู้เงินของ SCB ที่ทำออกมา วิธีการง่ายมาก ดาวน์โหลดแอป ถ่ายบัตรประชาชน ยืนยันตัวตน ทำ e-KYC ให้ข้อมูลที่จำเป็นไม่นานจะได้วงเงินออกมา สามารถกดถอนเงินออกมาเข้าบัญชีเป็นเงินสดได้เลย
ฉะนั้น ยุคนี้เป็นยุคที่ใครที่มี data หรือมีข้อมูลก็ปล่อยเงินกู้ ไม่ว่าจะเป็น Grab เองก็เปิดบริการปล่อยเงินกู้ให้ไรเดอร์ หรือของ wongnai x LINEMAN ก็มี ทุกคนจะทำแบบเดียวกันหมด ตอนนี้กลายเป็นว่าใครมีข้อมูลเยอะก็อยากจะปล่อยกู้กันทุกคน
จุดนี้เองจึงเริ่มเกิดเป็นสงครามขึ้นมา ตอนนี้ทุกบริการทางออนไลน์ ข้างหลังของเขาจะมีทีมอีกส่วนหนึ่งที่จะเอา data เหล่านี้มาปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าตัวเอง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธนาคารจะเริ่มสูญเสียลูกค้าไป จากเดิมที่สถาบันการเงินจะปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจต่าง ๆ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว
หรืออีกบริการหนึ่งคือพวก cloud funding ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ไปนานมากแล้ว ใครอยากจะกู้เงินในการทำธุรกิจ วิธีการคือสามารถมากู้เงินจากการระดมทุนหรือระดมเงินจากประชาชนทั่วไป หรือที่เรียกว่า cloud funding ได้ ซึ่งเมืองไทยเองก็มีหลายเจ้า
อย่างเจ้าที่ผมลงทุนเป็นประจำชื่อว่า PeerPower ตัวอย่างล่าสุดแอร์เอเชียเองเปิดการระดมเงินประมาณ 80 ล้านบาทก็ระดมทุนใน Peer Power ใครสนใจจะนำเงินไปปล่อยกู้ให้กับแอร์เอเชียก็สามารถลงได้ ซึ่งดีลนี้ปิดไปแล้ว ผมได้ดอกเบี้ยประมาณ 6% ดีกว่าการเก็บเงินไว้เฉย ๆ แต่ทุกอย่างก็มีความเสี่ยง ซึ่ง Peer Power จะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่เข้ามาช่วยดูแลและประเมินคนที่มาขอกู้ให้
จะเห็นว่า data เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น อยากให้ทุกท่านลองมองว่าธุรกิจที่คุณทำอยู่ในปัจจุบัน คุณมีข้อมูลลูกค้าอยู่ในมือมากแค่ไหน คุณเข้าใจลูกค้ามากแค่ไหน ลูกค้าของคุณต้องการใช้เงินหรืออะไรต่าง ๆ หรือไม่ เป็นไปได้ไหมว่าคุณอาจจะเป็นคนปล่อยเงินกู้เองได้หากคุณมีเงินพอ อาจมีรายได้จากดอกเบี้ยมากกว่าการขายสินค้าและบริการที่มีอยู่ด้วยซ้ำไป
ธุรกิจบางอย่างเมื่อก่อนเจ้าของเองอาจปล่อยกู้ให้ลูกค้าเอง เช่น ธุรกิจที่บ้านของผมเป็นร้านขายมอเตอร์ไซค์ก็มีการปล่อยกู้มอเตอร์ไซค์ให้ลูกค้าเช่นกัน แต่ตอนนี้มีพื้นที่ใหม่คือบรรดาสถาบันการเงินหรือธนาคารต่าง ๆ เริ่มกระโดดเข้ามาทำพวกนี้มากขึ้น หรือพวกเงินติดล้อ ศรีสวัสดิ์ ฯลฯ ก็เริ่มกระโดดเข้ามาพยายามจะปล่อยกู้ให้กับคนที่มีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์มากขึ้น
ฉะนั้น การแข่งขันในธุรกิจแบบนี้จะมีมากขึ้น ยังไม่รวมต่อจากนี้ที่จะมีเพิ่มขึ้นอีกคือ บรรดาแอปพลิเคชันต่าง ๆ ฟินเทค สตาร์ทอัพต่าง ๆ บริษัทต่าง ๆ ที่มีข้อมูลลูกค้า ก็เริ่มกระโดดเข้ามาทำพวกนี้ด้วยเหมือนกัน
การทำธุรกิจปล่อยกู้มีความท้าทายอยู่ไม่กี่อย่างคือ หนึ่ง การประเมินความเสี่ยงของลูกค้าว่ามีความเสี่ยงขนาดไหน สอง วงเงินที่ลูกค้าควรจะได้คือเท่าไหร่ การปล่อยกู้ไม่ยากแต่ที่ท้าทายที่สุดคือการเก็บเงิน ถ้าเกิดการผิดนัดไม่ชำระควรทำอย่างไร จะติดตามเขาอย่างไร
ตอนนี้หลายคนกำลังจะกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น ในแง่ดีของธุรกิจคือคุณจะมีรายได้แหล่งใหม่ ๆ แต่สิ่งที่ผมก็เป็นกังวลเช่นกันคือ เดี๋ยวนี้อะไร ๆ ก็สามารถผ่อนได้ กู้ได้หมด ทำให้ภาพรวมหรือตัวเลขของการเป็นหนี้ของประเทศสูงขึ้นเรื่อย ๆ
เท่าที่ผมเห็นมันกลายเป็นเทรนด์ของธุรกิจในยุคนี้ สตาร์ทอัพใหม่ ๆ เรื่องนี้กลายเป็นมายด์เซตไปเลยว่าหากมี data หรือข้อมูลเยอะ ๆ เขาก็จะปล่อยกู้ แต่การปล่อยกู้มีหลายแบบ หนึ่งคือเรามีเงินเอง กับอีกแบบคือเราไม่มีเงินเองแต่ใช้วิธี cloud funding
หากคุณต้องการทำธุรกิจการปล่อยเงินกู้ เดี๋ยวนี้มีวิธีการใหม่คือเป็นตัวกลาง ส่วนแหล่งเงินก็มาจากประชาชนทั่วไปที่เรียกว่า cloud funding การดึงแหล่งเงินมาจากประชาชนทั่ว ๆ ไป การจะทำ cloud funding ได้จะต้องมีใบอนุญาต อยู่ภายใต้การกำกับและควบคุมจาก ก.ล.ต.
การจะทำ cloud funding มีอยู่ 2 มุมคือ
1) หาคนที่ต้องการเงิน
ซึ่งก็มี 2 แบบเหมือนกันคือ ภาคธุรกิจและบุคคล เท่าที่เห็นจะเป็นในภาคธุรกิจมากกว่าที่ต้องการระดมเงินเอาไปทำธุรกิจต่อ ซึ่งการที่ธุรกิจเหล่านั้นจะเข้ามาขอระดมเงินก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องมีการทำ KYB (Know Your Business) ต้องมีการตรวจสอบต่าง ๆ มากเลยทีเดียว เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจนี้มีความเสี่ยงต่ำ เมื่อกู้ไปแล้วสามารถนำเงินมาคืนให้กับประชาชนได้ ซึ่งตัวกลางต้องทำหน้าที่นั้น
2) หาคนที่ต้องการมาระดมเงินหรือเอาเงินมาให้กับบริษัทที่ต้องการเงิน
ตรงนี้ ก.ล.ต.ก็มีเกณฑ์ที่รัดกุมมาก เพราะต้องแน่ใจว่าคนที่จะเอาเงินมาปล่อยกู้นั้นต้องมีความเข้าใจจริง ๆ มีตัวตนจริง เป็นเงินสะอาดจริง การลงเงินก็มีลิมิตเอาไว้เป็นการจำกัดความเสี่ยงเอาไว้ด้วยเช่นกัน เป็นเกณฑ์ที่ภาครัฐเองก็พยายามปกป้องนักลงทุนและผู้กู้เช่นกัน ทำให้การทำ cloud funding ในประเทศไทยมีแนวโน้มโตขึ้นไปเรื่อย ๆ
ในฐานะนักลงทุนต้องบอกว่าดอกเบี้ยเมื่อเปรียบเทียบดูแล้วถือว่าดีเลยทีเดียว แต่ก็มีความเสี่ยงตามมาด้วยแน่นอน ต้องมีการประเมินและตรวจสอบบริษัทเหล่านั้นก่อนเสมอ จุดเด่นเมื่อเราไปลงทุนผ่าน cloud funding แล้วจะมีการคืนเงินให้ทุกเดือนพร้อมดอกเบี้ย ท่านที่เป็นนักลงทุนและสนใจก็ลองไปศึกษาการลงทุนผ่านพวก cloud funding ดู น่าสนใจมากครับ
เช่นเดียวกันท่านที่ต้องการกู้เงิน การกู้กับสถาบันการเงินอาจจะเป็นวิธีเก่าไปแล้ว การกู้กับแอปเหล่านี้ หรือ cloud funding ก็เป็นแนวทางใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง อยากให้ลองเปิดตาให้กว้างไกล เพราะยิ่งหาแหล่งเงินได้หลากหลายมากเท่าไหร่ และยิ่งต้นทุนต่ำมากเท่าไหร่ ในเชิงธุรกิจ นั่นหมายถึงคุณจะมีความสามารถในการแข่งขันได้ดีกว่าธุรกิจอื่น ๆ ครับ