<![CDATA[
ในการเริ่มต้นทำ E-Commerce ขายสินค้าผ่านเว็บไซต์ไปยังคนทั่วโลกมีหลายรูปแบบ ท่านสามารถเริ่มต้นได้ด้วยงบลงทุนหลายๆ ขนาด ตั้งแต่เริ่มต้นด้วยไม่ถึงพันบาท จนไปถึง เป็นหลักแสนบาทได้ หรือ จะเริ่มต้นแบบง่ายๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรเลยซักบาท ก็สามารถทำได้ โดยทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ขอบเขตและรูปแบบของ E-Commerce ที่คุณต้องการจะทำ ว่ามีรายละเอียดและการตอบสนองต่อธุรกิจคุณได้มากน้อยแค่ไหน โดยรูปแบบของอีคอมเมิร์ซที่สามารถเริ่มต้นได้อย่างง่ายๆ มีหลายรูปแบบได้แก่
1. การทำ E-Commerce โดยที่ไม่ต้องมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง
สำหรับผู้ที่เพิ่งจะเริ่มต้นขายสินค้าออนไลน์ หรือมีสินค้าจำนวนไม่มากและไม่กี่ประเภท คุณสามารถค้าขายในโลกออนไลน์อย่างง่ายๆ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องมีเว็บไซต์ของตัวเองเลย เพราะคุณสามารถนำข้อมูลสินค้าหรือบริการของคุณไปลงประกาศไว้ตามเว็บไซต์ที่ให้บริการ ประกาศซื้อ-ขายสินค้าได้ฟรีๆ (E-Classified) หรือตลาดกลางสินค้า (E-Marketplace) เช่น http://www.ThaiSecondhand.com โดยที่คุณไม่จำเป้นต้องมีหน้าเว็บไซต์เลย เพราะหลังจากคุณลงประกาศข้อมูลลงไปแล้ว คุณก็จะมีหน้าแสดงข้อมูลสินค้าคุณง่ายๆ ของคุณเอง และข้อมูลประกาศสินค้าชิ้นนั้นก็จะแสดงอยู่ใน เว็บไซต์นั้นๆ ซึ่งเว็บไซต์ลักษณะนี้จะมีคนเข้ามาเป็นจำนวนมากหลายแสนคน ทำให้คุณมีโอกาสขายสินค้าออกไปยังกลุ่มคนเหล่านี้ได้ โดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายเลยซักบาท
บริการลักษณะนี้เหมาะสำหรับใคร?
– ผู้เพิ่งเริ่มต้นและอยากทดลองการขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต E-Commerce
– ผู้ที่มีสินค้าที่ไม่มากและไม่กี่ประเภท
– ผู้ที่มีเว็บไซต์อยู่แล้วและต้องการทำโฆษณาขายสินค้าของตนให้คนอื่นๆ รู้จักมากขึ้น
ข้อดี ของการทำอีคอมเมิร์ซโดยที่ไม่ต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
– ฟรี.! ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นทำ
– สะดวก ทำได้ด้วยตัวเองได้ทันที.!
– เข้าถึงคนนับล้านคนได้ทันที เพราะส่วนใหญ่เว็บลักษณะนี้จะมีคนเข้ามาใช้บริการมากอย่แล้ว
– ถ้าขยันประกาศ ทุกวัน หรือไปซื้อโฆษณาประกาศค้างเอาไว้เลย ยิ่งมีโอกาสการขายมากขึ้น
ข้อเสีย ของการทำอีคอมเมิร์ซโดยที่ไม่ต้องมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
– เว็บไซต์ลักษณะนี้จะใส่ข้อมูลสินค้าได้ไม่มากจำกัด และใส่ได้ทีละรายการ
– ต้องเข้ามาลงประกาศอยู่เสมอ เพราะหน้าเว็บไซต์ลักษณะนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลอยู่ตลอดเวลา (ทำให้ประกาศสินค้าของคุณหล่นไปอยู่ด้านล่างๆ หรือหายไป ดังนั้นต้องเข้ามาลงประกาศบ่อย ๆเพื่อให้คนเห็นสินค้าของคุณ)
– ไม่มีชื่อเว็บเป็นของตนเอง ทำให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าอีกภายหลังได้ยาก ซึ่งหากมี โดเมนเป็นของตนเองจะสะดวกกว่า
2. การมีเว็บไซต์ E-Commerce เป็นของตัวเอง
สำหรับท่านที่มีสินค้าเป็นจำนวนมาก และมีหลายประเภท คุณอาจจะต้องการมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง เพื่อใส่ข้อมูลสินค้าที่มีมากมายหลากหลายประเภท อยู่ในเว็บไซต์คุณ เพราะข้อมูลทั้งหมดจะถูกเก็บไว้อยู่ในเว็บไซต์คุณทั้งหมด เพื่อสะดวกต่อลูกค้าในการเข้ามาค้นหาสินค้าหรือซื้อสินค้าของคุณ
ข้อดีของการมีเว็บไซต์ เป็นของตัวเอง
– มีเว็บไซต์เป็นของตนเอง มีชื่อ URL หรือ Domain เป็นของตนเอง ทำให้จดจำได้ง่าย
– ใส่ข้อมูลสินค้าได้มาก ลงลึกในรายละเอียดสินค้าแต่ละรายการ
–
สามารถเพิ่มระบบชำระเงินที่สามารถ ชำระเงินผ่านเว็บได้ทันที ผ่านบัตรเครดิตหรือธนาคารโดยตรง
– ปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมในสิ่งที่คุณต้องการได้ไม่จำกัด
ข้อเสียของการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเอง
– ต้องมีการจัดทำเว็บไซต์ขึ้นมาก สำหรับของคุณโดยเฉพาะ
– ต้องคอยมานั่งดูแล บริหาร จัดการ เว็บไซต์ โดยอาจจะต้องจ้างหรือจัดทำเอง
– บางแห่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดทำ
– บางครั้งต้องทำการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์เพื่อให้ลูกค้ารู้จักเว็บไซต์ของเรา (ซึ่งใช้เวลา-ค่าใช้จ่าย)
เราสามารถแบ่งรูปแบบของการมีเว็บไซต์เป็นของตัวเองออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ
2.1. ใช้เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำเร็จรูป
เป็นบริการจัดทำเว็บไซต์ที่เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมสรรพสำหรับ การค้าขายผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะคุณสามารถจัดทำและบริหารเว็บไซต์นี้ได้ทันที โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาษาต่างๆ ในการทำเว็บไซต์เลย เพราะทุกอย่างได้เตรียมพร้อมไว้ให้คุณสามารถจัดการเว็บไซต์ได้อย่างง่ายดาย เพียงเข้าไปในระบบ และกรอกข้อมูลสินค้า, ราคา รูปภาพ และรายละเอียดเว็บไซต์ที่คุณต้องการลงไป คลิ๊กๆ ไปตามขั้นตอน เพียงไม่กี่นาทีคุณก็จะได้เว็บไซต์ของคุณเอง ที่พร้อมทำการค้ากับทั่วโลกได้ทันที นับว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการจัดทำเว็บไซต์ และสะดวกสำหรับผู้ที่ไม่ความรู้ด้านการทำเว็บไซต์เลย โดย รูปแบบของเว็บไซต์ลักษณะนี้ มีหลายรูปแบบ ได้แก่
– เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำเร็จรูปออนไลน์พร้อมใช้ทันที
เป็นรูปแบบเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำเร็จรูป ที่ระบบทั้งหมดอยู่บนเว็บไซต์แล้ว คุณสามารถสมัครใช้บริการผ่านเว็บไซต์ได้ทันที และสามารถบริหารข้อมูลสินค้าภายในร้านค้า หรือข้อมูลร้านค้าผ่านเว็บไซต์ได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมีการติดตั้ง ซอฟแวร์อะไรพิเศษลงไปในเครื่องของคุณเลย ก็สามารถเริ่มต้นมีเว็บไซต์ได้ทันที บางแห่งมีให้บริการแบบฟรี.! เช่น บริการของเว็บไซต์ www.TARADQuickWeb.com หรือบริการแบบเสียเงิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของบริการที่คุณต้องการใช้
– เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำเร็จรูปที่ต้องนำมาติดตั้งก่อนใช้
เป็นรูปแบบซอฟแวร์ที่คุณต้องมีการนำมาติดตั้งในเว็บไซต์คุณก่อน ถึงจะสามารถใช้งานและบริหารเว็บไซต์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะต้องการ ความรู้ในการติดตั้งซอฟแวร์และระบบฐานข้อมูล (Database) เพื่อเก็บข้อมูลสินค้าต่างๆ ลงในโปรแกรม บางโปรแกรมอาจจะต้องมีการติดตั้งเพื่อเชื่อมโยงกับพื้นที่ๆ เก็บข้อมูลเว็บไซต์ของคุณ (Hosting) มีทั้งในรูปแบบของซอฟแวร์ฟรี เช่น OS commerce (www.oscommerce.com) และซอฟแวร์เสียค่าใช้จ่ายในการนำมาใช้
เว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำเร็จรูปเหมาะสำหรับ
– ผู้ที่ต้องการเริ่มต้น หรือต้องการความสะดวกสะบายในการมีเว็บไซต์
– ผู้ที่ต้องการจัดการบริหารเว็บไซต์ด้วยตัวเอง
– มีเวลาทำจัดทำและบริหารเว็บไซต์
ข้อดี ของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำเร็จรูป.
– มีค่าใช้จ่ายต่ำ หรือบางแห่งฟรี.! (http://www.TARAD.com)
– มีทุกอย่างพร้อมสำหรับการเริ่มต้นทำ E-Commerce เพราะส่วนใหญ่ได้เตรียมบริการทุกอย่างที่จำเป็นในการเริ่มต้นทำอีคอมเมิร์ซไว้ให้พร้อมทุกอย่างแล้ว
– สามารถบริหารจัดการร้านค้าได้จากทุกแห่งทั่วโลก ด้วยตัวเอง ขอแค่มีเพียงอินเทอร์เน็ตก็สามารถทำได้ทันที
– สร้างโอกาสการขายสินค้าได้สูง เพราะเหมือนกับไปเปิดร้านค้าไว้ในห้างขนาดใหญ่ เพราะผู้ให้บริการบางแห่ง เป็นตลาดนัดกลางขนาดใหญ่ (E-Marketplace หรือ E-Shopping Mall) อยู่แล้ว และซึ่งหากคุณเปิดบริการด้วยแล้ว สินค้าในร้านค้าของคุณจะเข้าไปแสดงในตลาดกลาง ซึ่งมีคนเข้ามาจับจ่ายซื้อของเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว
ข้อเสีย ของเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซสำเร็จรูป.
– มีค่าใช้จ่าย ในการจัดทำ (ยกเว้นบางแห่งให้บริการฟรี.!)
– ปรับรูปแบบเว็บไซต์ให้ตรงกับความต้องการของคุณ 100% ไม่ได้ เพราะเป็นรูปแบบที่มีการทำเตรียมพร้อมไว้สำเร็จรูปแล้ว
2.2. การจัดทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซโดยพัฒนาขึ้นมาใหม่
เป็นรูปแบบการทำเว็บไซต์ที่มีรูปแบบเป็นไปตามความต้องการของคุณเองเลย เพราะจัดทำเว็บไซต์คุณสามารถควบคุมหรือกำหนดได้ตามความต้องการของคุณทุกประการ ซึ่งคุณสามารถเพิ่มเนื้อหาหรือบริการใหม่ๆ แปลก ที่คุณอาจจะคิดขึ้นมาใหม่ หรือไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน มาอยู่ในเว็บไซต์คุณได้
วิธีการจัดทำเว็บไซต์โดยพัฒนาขึ้นมาใหม่มีหลายวิธีได้แก่
1. พัฒนาด้วยตัวคุณเองหรือคนในองค์กรของคุณ
คุณสามารถพัฒนาเว็บไซต์ด้วยตัวเองได้อย่างง่ายดายเพราะเดียวนี้ มีเครื่องมือและซอฟแวร์ต่างๆ ที่ช่วยทำให้การทำเว็บไซต์ของคุณเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้น รวมถึงความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำเว็บไซต์มากมาย ที่คุณสามารถหาศึกษาได้อย่างง่ายดายรอบตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็น หนังสือเกี่ยวกับการทำเว็บไซต์ ที่ซึ่งมีอยู่เต็มไปหมดในร้านหนังสือ หรือ ซีดี ที่สอนเกี่ยวกับการทำเว็บไซต์ โดยเป็นวีดีโอสอนการทำเว็บทีละขั้นตอน ซึ่งคุณสามารถเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการทำจริงๆ ได้เลย หรือ แม้แต่ในเว็บไซต์หลายๆ แห่งก็มี ข้อมูลและวิธีสอนการทำเว็บไซต์ อยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต ที่คุณสามารถหาอ่านได้อย่างฟรีๆ ตัวอย่างเว็บไซต์ที่มีข้อมูลการสอนการทำเว็บไซต์ www.ThaiDev.com, www.Sansukhtml.com, www.twebmaster.com เป็นต้น
สำหรบบางบริษัทหรือองค์กร อาจจะมีการจัดให้เจ้าหน้าที่ในองค์กรที่พอจะมีความรู้ในการทำเว็บไซต์ รับหน้าที่ในการดูแลและจัดทำเว็บไซต์ให้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการจัดการและบริหารเว็บไซต์ของคุณก็สามารถทำได้
2. จ้างผู้เชี่ยวชาญ หรือบริษัทมาพัฒนาให้
หากท่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับการทำเว็บ หรือไม่มีเวลามาคอยนั่งพัฒนาเว็บไซต์ให้ได้ตรงกับความต้องการของคุณ คุณก็สามารถ ใช้วิธีหาผู้เชียวชาญหรือบริษัทที่รับทำเว็บไซต์ มาพัฒนาเว็บไซต์ให้กับคุณได้ โดยผู้เชี่ยวชาญหรือบริษัทส่วนใหญ่จะมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเว็บไซต์อยู่แล้ว ซึ่งรูปแบบของผู้รับพัฒนาเว็บไซต์มีหลายรูปแบบ ได้แก่
a. นักเรียนหรือนักศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ (Student)
เดียวนี้นักเรียนหรือนักศึกษาบางคน เริ่มมีความรู้ความสามารถในการทำเว็บไซต์ตั้งแต่เด็กๆ ท่านสามารถให้นักศึกษาและนักเรียนเป็นผู้พัฒนาเว็บไซต์ให้กับคุณได้ แต่ด้วยการที่ให้เด็กเป็นผู้พัฒนา คุณอาจจะต้องพอมีความรู้ในการพัฒนาเว็บไซต์อยู่บ้าง และต้องพยายามควบคุมเวลาในการพัฒนาเว็บไซต์ด้วยตัวคุณเองอย่างใกล้ชิด
ข้อดี ของการให้นักศึกษามาพัฒนาให้
– ค่าใช้จ่ายในการรับพัฒนามีราคาไม่แพงมากนัก
– สามารถหานักเรียนนักศึกษาได้ง่าย อาจจะหาจากสถาบันการศึกษาใกล้บ้าน หรือญาติพี่น้องใกล้ตัว
ข้อเสีย ของการให้นักศึกษามาพัฒนาให้
– รูปแบบของเว็บไซต์อาจจะดูไม่เป็นโปรเฟสชั่นนอลมากนัก
– ประสบการณ์ในการทำงานและการแก้ปัญหาน้อย
– อาจมีการบอกเลิกการทำงานหรือการหนีงานเกิดขึ้น (เพราะมีความรับผิดชอบไม่มาก)
B. นักพัฒนาอิสระ (Freelancer)
ท่านสามารถหานักพัฒนาอิสระมาช่วยพัฒนาเว็บไซต์ให้กับคุณได้ โดยลักษณะของนักพัฒนาอิสระหรือฟรีแลนซ์ จะมีความเชี่ยวชาญ ในการพัฒนา แต่อาจจะทำงานอิสระหรือทำงานอยู่ในองค์กรอื่นๆ แต่ใช้เวลานอกการทำงาน มารับพัฒนาเว็บไซต์ให้กับคุณ ซึ่งคุณสามารถหาฟรีแลนซ์ได้ตามเว็บไซต์ต่างๆ เหล่านี้ เช่น www.Rookienet.com, www.Webmaster.or.th, www.ThaiFreelanceBid.com เป็นต้น
วิธีการคัดเลือกฟรีแลนซ์มาพัฒนาเว็บไซต์ให้กับคุณ
1. พยายามหาฟรีแลนซ์หลายๆ เพื่อมาเปรียบเทียบราคาและ รูปแบบของผลงาน
2. ดูผลงานที่ฟรีแลนซ์ เคยทำมาว่ามีความเชี่ยวชาญตรงกับเว็บไซต์ที่คุณจะให้ทำหรือไม่
3. ศึกษารูปแบบและเวลาในการทำงานว่าตรงกับความต้องการของคุณหรือไม่?
4. อาจจะให้ฟรีแลนซ์ ลองร่างคอนเซป์(Concept) หรือ รูปแบบของเว็บไซต์ ที่จะทำให้คุณเห็นก่อน
5. กำหนดราคาในการจัดทำและการดูแลเว็บไซต์หลังจากส่งมอบงานแล้ว
6. อาจจะมีการร่างสัญญาในการทำงานเพื่อที่จะเป็นข้อตกลงร่วมกันในการทำงาน
ข้อดี ของการให้นักพัฒนาอิสระเป็นผู้พัฒนาให้
– มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเว็บ
– ผลงานที่ออกมามีความเป็นโปรเฟสชั่นนอล (ไม่ทุกคนนะครับ ต้องเลือกดูดีๆ ก่อน)
– ราคาสามารถเลือกได้ตามควรต้องการ
ข้อเสีย ของการให้นักพัฒนาอิสระเป็นผู้พัฒนาให้
– บางครั้งอาจจะเกิดการหนีงานเกิดขึ้นได้ (ต้องพยายามดูให้ดี)
– การแก้ใขงานในครั้งต่อไป อาจจะมีการคิดค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม (หากไม่ได้ตกลงกันไว้ตั้งแต่แรก)
– ต้องดูความเชี่ยวชาญของแต่คนว่ามีความถนัดด้านใด เพราะหาคนทำไม่ตรงกับงานที่คุณต้องการ อาจจะทำให้งานออกมาไม่ดี
C. บริษัทรับจัดทำเว็บไซต์ (Web Development Company)
หากท่านต้องการเว็บไซต์ที่ออกแบบด้วยมืออาชีพ ทั้งในรูปแบบและการให้บริการ ท่านควรจะเลือกใช้บริการกับ บริษัทที่ให้บริการจัดทำเว็บไซต์ เพราะบริษัทเหล่านี้จะมีผู้เชี่ยวชาญ ในการทำเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะ ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการทำ อีคอมเมิร์ซอย่างเต็มรูปแบบและจริงๆ จัง หรือผู้ที่เป็นลักษณะรูปแบบองค์กรขนาดใหญ่ เพราะบริษัทเหล่านี้สามารถ รับทำเว็บไซต์ตามความของคุณได้ทุกรูปแบบ และความต้องการของคุณ พร้อมด้วยประสบการณ์ในการทำงาน ของคุณมีคุณภาพและยังมีความน่าเชื่อถือมากกว่าแบบอื่นๆ เพราะด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นบริษัท
ข้อดี ของการให้บริษัทรับจัดทำเว็บไซต์ให้
– มีความสวยงามตามความต้องการอย่างไร สามารถทำได้ตามความต้องการของคุณ (แต่คนทำต้องทำได้ด้วยนะครับ)
– สามารถทำงานที่มีความซับซ้อนได้ เช่นการมีโปรแกรมจัดการต่างๆ
– มีความน่าเชื่อถือและสามารถติดตามงานได้ เพราะมีตัวตนที่แน่นอน
ข้อเสีย ของการให้บริษัทรับจัดทำเว็บไซต์ให้
– มีค่าใช้จ่ายสูง ในจัดทำ หรือดูแลเว็บไซต์
– ทำการแก้ใขข้อมูลในเว็บไซต์ทำได้ยากและลำบาก เพราะการแก้ไขอาจจะต้องให้บริษัทเป็นผู้แก้ไขให้ ซ
่งอาจจะมีค่าใช้จ่ายอาจมีขั้นตอนที่มากกว่า และอาจจะใช้เวลามาก
สรุป
สำหรับท่านที่อยากจะเริ่มต้นทำอีคอมเมิร์ซ ในการขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต อาจเริ่มต้นจาก การนำสินค้าหรือบริการของตนไปประกาศขายในเว็บไซต์ประกาศซื้อ-ขาย ในช่วงเริ่มต้นเพราะไม่ต้องลงทุนและมีค่าใช้จ่ายอะไรเลย พอเริ่มมีลูกค้าสั่งซื้อสินค้าเข้ามามากขึ้น และเริ่มมีสินค้ามากขึ้น การเริ่มขยับไปสู่การมีเว็บไซต์เป็นของตนเอง ในการค้าขาย ซึ่งอาจจะเลือกเป็นแบบเว็บไซต์สำเร็จรูป หรือเว็บที่สร้างขึ้นมาใหม่ เพราะจะสามารถรองรับลูกค้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ในการทำการค้าผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต
** บทความทั้งหมดนี้ มีลิขสิทธ์ของ นาย ภาวุธ พงษ์วทยภานุ นะครับ หากสนใจรายละเอียด สามารถดูได้ในหนังสือ "E-Commerce สุดยอดช่องทางรวย ทุนน้อย ทำง่าย สร้างรายได้ 24 ชั่วโมง"
]]>
like
ถูกใจถูกใจ