<![CDATA[หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้เวลานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานๆและวันละหลายๆ ชั่วโมง แล้วพอเมื่อเวลาที่คุณไม่ได้ใช้อินเทอร์เน็ต คุณจะรู้สึกหงุดหงิดหรืออยากและต้องการที่จะเข้าสู่อินเทอร์เน็ตละก็ ระวัง ! คุณกำลังจะเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ต !

 

ผมเชื่อว่าหลายๆ คนที่อ่านบทความด้านนี้อยู่ คงจะมีโอกาสต้องทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เกือบตลอดทั้งวัน คงอยากจะรู้ว่าตัวเองเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตรึเปล่า? เรามาดูกันว่า โรคติดอินเทอร์เน็ตคืออะไร? และคุณเป็นโรคนี้รึเปล่า?

 

โรคติดอินเทอร์เน็ต?  (Internet Addiction Disorder หรือ IAD) เป็นกลุ่มอาการทางจิตอย่างหนึ่ง “ซึ่งเกิดจากการใช้อินเทอร์เน็ตในการเสพข้อมูลหรือข่าวสารมากเกินไป” และหากเปรียบเทียบกับการติดดูโทรทัศน์หรือการติดอย่างอื่นๆ แล้ว อินเทอร์เน็ตจะมีข้อแตกต่างกับสื่ออื่นๆ ก็คือ ความสามารถโต้ตอบ (interact) กับผู้ที่เข้ามาใช้คนอื่นๆ ได้ทันที (Real Time) ซึ่งทำโลกของอินเทอร์เน็ตมีความเสมือนเป็นเหมือนโลกอีกโลกหนึ่งที่ผู้ใช้สามารถมีตัวตนในโลกนั้นได้ โดยปราศจากกฎเกณฑ์ และไร้ขอบเขตในการเดินทาง และสร้างตัวตนในโลกอินเทอร์เน็ตตามที่ตัวเองต้องการได้ ซึ่งหากผู้ใช้ยึดติดกับสังคมในโลกของอินเทอร์เน็ต จนแยกไม่ออกว่าโลกของความจริงและโลกเสมือนจะนำมาซึ่งสาเหตุของเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตได้ ตัวอย่างของบริการอินเทอร์เน็ตที่มีลักษณะการสร้างเป็นสังคมเสมือน (Virtual -Community)  ได้แก่ ห้องแช๊ตรูม เว็บบอร์ด หรือแม้กระทั่ง เกมส์ออนไลน์ ที่เด็กๆนิยมเข้าไปเล่นกันมากมาย ซึ่งโรคติดอินเทอร์เน็ตนั้นก็คล้ายๆ กับการติดสิ่งเสพติดต่างที่สร้าง ปัญหาให้เกิดกับ ระบบร่างกาย ทั้งการกิน การขับถ่าย และกระทบต่อการเรียน สภาพสังคมของคนๆ นั้น

ลองมาดูกันว่า อะไรเป็นสิ่งที่บอกว่าคุณเป็นโรคติดอินเทอร์เน็ตหรือไม่ นักจิตวิทยาชื่อ Kimberly S Young จากUniversity of Pittsburgh Medical School ได้วิเคราะห์ว่า บุคคลใดที่มีอาการดังต่อไปนี้ อย่างน้อย 4 ประการ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี แสดงว่าเป็นอาการติดอินเทอร์เน็ต

  • มีความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานขึ้นอยู่เรื่อยๆ
  • รู้สึกหมกมุ่นกับอินเทอร์เน็ต แม้ในเวลาที่ไม่ได้ต่อเข้าระบบอินเทอร์เน็ต
  • ไม่สามารถควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตได้
  • รู้สึกหงุดหงิดเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตน้อยลง หรือหยุดใช้
  • คิดว่าเมื่อใช้อินเทอร์เน็ตแล้ว ทำให้ตนเองรู้สึกดีขึ้น
  • ใช้เป็นอินเทอร์เน็ตในการหลีกเลี่ยงปัญหา
  • หลอกคนในครอบครัว หรือเพื่อน เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตของตนเอง
  • มีอาการผิดปกติเมื่อเลิกใช้อินเทอร์เน็ต เช่น หดหู่ กระวนกระวาย

และนอกจากนี้ เราสามารถจำแนกรูปแบบและลักษณะของการติดอินเทอร์เน็ตออกได้หลายรูปแบบตามตารางข้างล่างนี้ หรือหากคุณต้องการทดสอบว่าคุณติดอินเทอร์เน็ตในระดับไหนก็สามารถเข้าไปได้ที่ http://www.netaddiction.com/resources/iaindex.htm

 

รูปแบบและลักษณะของการติดอินเทอร์เน็ต

1. Cyber Sexual Addiction การติดเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางเพศ เช่นการดูเว็บโป๊
2. Cyber-Relationship Addiction การคบเพื่อนจากห้องแช๊ตรูม,เว็บบอร์ด นำมาทดแทนเพื่อนหรือครอบครัวในชีวิตจริง
3. Net Compulsion การติดการพนัน, การประมูล สินค้า, การซื้อ-ขายทางอินเทอร์เน็ต
4. Information Overload การติดการรับข้อมูลข่าวสาร จนไม่สามารถยั้บยั้งได้
5. Computer Addition การใช้คอมพิวเตอร์ ในลักษณะที่ไม่สามารถยับยั้งใจได้ เช่น การเล่นเกมส์ออนไลน์

 

 

วิธีการป้องกันและรักษาจากโรคติดอินเทอร์เน็ต

หลายๆ คนคิดว่าการรักษาโรคติดอินเทอร์เน็ต ก็เพียงแค่ดึงปลั๊กคอมพิวเตอร์และถอดสายโทรศัพท์ออกจากโมเด็ม แต่ Ivan Goldberg จิตแพทย์ผู้ค้นพบโรคติดอินเทอร์เน็ต ได้ให้คำแนะนำในการป้องกันและช่วยเหลือกับผู้ที่คิดว่าตัวเองเป็นหรือกำลังจะเป็นโรคนี้ว่า ก่อนอื่นต้องรู้ว่าตัวคุณเองใช้อินเทอร์เน็ตมากเกินไปหรือไม่ ในระดับไหน และรูปแบบลักษณะของการใช้ไปในรูปแบบใด จากนั้นก็ทำการวิเคราะห์จากพื้นฐานของปัญหาจริงๆ ว่าเกิดจากอะไร ทำไมถึงคุณถึงได้ใช้อินเทอร์เน็ตมากขนาดนั้น ซึ่งทั้งหมดอาจจะเกิดจากตัวคุณเอง หรือสังคมที่อยู่รอบข้างตัวคุณ  ขั้นตอนที่สามคือการวางแผนการที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้น มากกว่าที่จะหลีกหนี หรือละเลยมันไป การหลีกหนีจากปัญหาจากโลกแห่งความจริง เข้ามาสู่โลกของอินเทอร์เน็ตไม่ได้ทำให้ปัญหาเหล่านั้นหายไป ลองปรึกษาคนรอบข้าง หาเพื่อนและเข้าสังคมมากขึ้น

 

จริงอยู่ อินเทอร์เน็ตกำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาสังคม เพิ่มความสะดวกสบายมาสู่การดำเนินชีวิตมากขึ้น นอกจากนั้น อินเทอร์เน็ตยังช่วยเปิดโลกทัศน์และสังคมของผู้คนให้กว้างขึ้นด้วย ในทางกลับกัน ผู้คนมีสิทธิที่จะเลือกใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย สร้างความบันเทิง และใช้อินเทอร์เน็ตในการรู้จักโลกให้กว้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน เลือกที่จะออกไปเห็นโลก สังคม และผู้คนจริงๆ ซึ่งอาจจะสนุกและน่าสนใจกว่า (หรือไม่ก็ตาม) มากกว่าการที่จะรู้จักโลกในทุกมุมมองผ่านทางอินเทอร์เน็ต

 

มาถึงตรงนี้แล้ว ลองดูสิว่าคุณเป็นติดอินเทอร์เน็ตรึเปล่า?

 

Pawoot P. 8/8/03

 

บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หากต้องการนำไปใช้ที่อื่นๆ แจ้งนิดนึงนะครับที่ pawoot@tarad.com]]>