<![CDATA[ถ้าท่านเป็นผู้หนึ่ง ที่สนใจ และติดตามข่าวเกี่ยวกับ e-commerce หรือพาณิชย์อิเลกทรอนิกส์ หรืออิเลกทรอนิกส์วณิชย์ แล้วแต่จะเรียก ท่านจะพบข่าวหนึ่งในเรื่องนี้คือ ข่าวเกี่ยวกับการร่างกฎหมาย e-commerce รายละเอียดเป็นอย่างไร ผมขออนุญาตยังไม่กล่าวถึงในตอนนี้ ประเด็นแรกที่ผมจะพูดถึงในบทความนี้ก็คือ ถ้าไม่มีกฎหมาย e-commerce แล้ว เราจะค้าขายกันบนสื่ออิเลกทรอนิกส์ หรือค้าขายกันบนอินเทอร์เนตไม่ได้หรือ ความเป็นจริงแล้วถึงไม่มีกฎหมาย e-commerce เราก็ค้าขายกันได้ แล้วก็มีคนค้าขายอยู่แล้วบนอินเทอร์เนตนี่แหละ ถึงแม้บางส่วนจะไม่ครบวงจร แต่ก็ถือว่าเริ่มมีกิจกรรมการค้าบนอินเทอร์เนตแล้ว ลองไล่ดูนะครับว่าเขาขายอะไรกันบ้างบนอินเทอร์เนต ที่ผมเห็นของคนไทยเราก็มี ขายพิซซา ขายตั๋วเครื่องบิน ขายหนังสือ ขายวีดิโอโป๊และไม่โป๊ ขายแผ่นซีดีทั้งเพลงและ software ส่วนใหญ่ก็จะอยู่บนอินเทอร์เนตเฉพาะ ขั้นตอนเสนอและสนอง จะมีก็แต่การซื้อตั๋วเครื่องบิน ที่มีรวมขั้นตอนชำระเงินไปด้วย
ก็ขอทบทวนบทความเก่า เล็กน้อย ขั้นตอนในการซื้อขายแบ่งเป็นสี่ขั้นใหญ่ๆคือ ผู้ขายเสนอขายสินค้า ผู้ซื้อสนองตอบตกลงซื้อสินค้า ผู้ขายส่งมอบสินค้าแก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อชำระเงินแก่ผู้ขาย หรือเขียนย่อๆว่า เสนอ สนอง ส่งมอบของ ชำระเงิน ขั้นตอนเสนอนั้นต้องมาก่อนสนองแน่นอน ส่วนส่งมอบของกับชำระเงินนั้น อะไรก่อนหลังหรือจะพร้อมกันก็ได้ แล้วแต่จะตกลงกัน การซื้อขายถือว่าเกิดขึ้นเมื่อผู้ซื้อตอบสนองตกลงซื้อ เมื่อมีผู้ขายและมีผู้ซื้อทั้งสองฝ่ายตกลงซื้อขายกัน ก็เกิดเป็นสัญญาซื้อขาย ตามกฎหมายไทยในปัจจุบันนั้น การซื้อขายไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือ พูดกันปากเปล่าตกลงซื้อขาย ก็เป็นสัญญาซื้อขายที่สมบูรณ์แล้ว ยกเว้นซื้อขายพวกอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่บ้านที่ดินที่จะต้องทำเป็นหนังสือ และจดทะเบียนที่สำนักงานที่ดินด้วย ลองดูตัวอย่างการซื้อขายธรรมดาสักกรณีหนึ่ง มีแม่ค้าขายแตงโมอยู่ริมถนน ติดป้ายไว้ว่าแตงโมหวานอร่อยลูกละ 50 บาท ป้ายนี้ก็ถือเป็นคำเสนอขาย หรือการที่เราไปถามแม่ค้าว่าลูกละเท่าไหร่ แม่ค้าตอบว่าลูกละ 50 บาท นี่ก็เป็นคำเสนออย่างหนึ่งเหมือนกัน ถ้าเราบอกว่าเอาสองลูก หรือชี้มือบอกว่าเอาลูกนี้แล้วกัน กรณีนี้ก็หมายถึงเราตอบสนองตกลงซื้อ มาถึงขั้นตอนนี้ก็หมายถึงว่า สัญญาซื้อขายแตงโมระหว่างแม่ค้าแตงโมกับเรา ได้เกิดขึ้นแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นเรื่องส่งมอบ และชำระเงิน แม่ค้าก็อาจหยิบแตงโมใส่ถุงส่งให้เรา หรือเราอุ้มแตงโมลูกที่เราชี้ใส่ท้ายรถ ก็ถือว่าเป็นการส่งมอบของ และที่สำคัญเราก็ต้องควักเงิน 50 บาทจ่ายไป จะจ่ายก่อนรับของ รับของก่อนแล้วค่อยจ่าย หรือจะยื่นหมูยื่นแมวก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
กลับมาดูการซื้อขายบ นอินเทอร์เนตต่อ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าการซื้อการที่มีอยู่ เกือบทั้งหมดจะอยู่ในขั้นเสนอกับสนอง การเสนอก็ง่ายๆแค่ทำโฮมเพจโฆษณา ว่ามีอะไรขายคุณสมบัติดีแค่ไหน ภาพชัดหรือไม่นางเอกสวยไหม แล้วที่สำคัญคือราคาเท่าไหร่ ถ้าไม่บอกราคาเสียแล้ว คงจะตกลงซื้อยาก แล้วส่วนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต้องบอกวิธีซื้อด้วย ไม่อย่างนั้นก็คงงงเหมือนกัน วิธีซื้อหรือวิธีสนองนั้นก็มีแบบสำคัญไม่กี่วิธี วิธีแรกก็คือ e-mail ไปบอกผู้ขายว่าจะซื้อ อีกวิธีที่ดูสมกับเป็น e-commerce หน่อยคือเลือกสินค้ากดปุ่มตกลงซื้อบน webpage ของผู้ขายนั่นแหละครับ ซึ่งปัจจุบันนี้น่าจะใช้การเลือกซื้อบน webpage กันทั้งนั้น ใครยังให้ e-mail ไปบอกอยู่อีกก็เชยแย่ เมื่อเรากดปุ่มตกลงเลือกซื้อสินค้า ข้อมูลส่งไปที่ server ของผู้ขาย ก็ถือว่าการซื้อขายได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะผู้ซื้อได้สนองคำเสนอของผู้ขายเรียบร้อยแล้ว การส่งมอบและการชำระเงิน ก็เป็นขั้นตอนที่ตามมา การส่งของนั้นคงมีสินค้าเพียงไม่กี่ชนิด ที่จะสามารถส่งของทางอินเทอร์เนตได้ เช่นเพลงในรูป digital โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รูปภาพสวยๆงามๆในรูป digital หนังสือในรูป digital ถ้าเป็นอย่างอื่นที่ไม่ได้อยู่ในรูป digital ก็คงต้องส่งของด้วยวิธีการอื่น ซึ่งการส่งของด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่อิเลกทรอนิกส์ ก็คงจะไม่พูดถึงในบทความนี้ ก็เหลือการชำระเงิน ที่จะชำระกันทันทีตัดยอดบัตรเครดิต หรือหักบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งถือว่าเป็นการชำระเงินแบบอิเลกทรอนิกส์ ยอดปรารถนาสมกับเป็น e-commerce แต่กระบวนการยังยุ่งยากอยู่ เลยให้ชำระเงินผ่านบัตรเครดิต แบบไม่อัตโนมัติแต่อัตโนมือไปพลางๆก่อน เช่นบริการของศูนย์บริการบัตรเครดิต ธนาคารไทยพาณิชย์ ถึงจะไม่อิเลกทรอนิกส์อย่างใจเสียทีเดียว แต่ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี น่าสนับสนุน จะมีอัตโนมัติตัดบัญชีิก็แต่ชนิดที่ธนาคารเป็นเจ้ามือเอง คือธนาคารเป็นคนขายเอง อย่างเช่นธนาคารกรุงไทย ขายตั๋วเครื่องบินภายในประเทศให้การบินไทย แล้วเก็บเงินทันทีจากบัตรเครดิตของธนาคารกรุงไทย ที่เรียกว่าโครงการ ThaiTouch นั่นแหละครับ ที่ทำได้ก็เพราะ ธนาคารขายเองเก็บเงินเอง มันก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่จะให้คนอื่นมาขายแล้วตัดเงินจากธนาคาร แบบนี้คงต้องคุยกันนานหน่อย มีแต่ประเภทให้ผู้ขายรับความเสี่ยงไปเต็มๆ ผู้ขายเลยต้องคิดหนัก เมื่อคุยกันลำบากนัก ตอนนี้ก็เลย นิยมการชำระเงินแบบไม่อิเลกทรอนิกส์ ไปพลางๆก่อนเช่น ให้พนักงานที่ไปส่งของนั่นแหละเก็บเงิน หรือให้ลูกค้าโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ใช้วิธีส่งพัสดุเก็บเงินปลายทาง และวิธีเก็บเงินแบบอื่นๆที่ทำให้ได้รับเงินแน่นอน โดยผู้ซื้อไม่อาจเอาสินค้าไปใช้ได้ฟรีๆ แต่ผู้ซื้อไม่ค่อยจะมีโอกาส ตรวจดูคุณภาพของสินค้าสักเท่าไหร่ เลยได้ยินเสียงบ่น "ว้า! ไม่เห็นดีอย่างที่คุยเลย สีก็ตก ภาพก็ไม่ชัด" ผู้ซื้อก็เสียเปรียบอีกตามเคย แม้จะเป็นการซื้อบน Internet
จากที่เขียนไปทั้งหม ดข้างต้น จะเห็นได้ว่า เราสามารถซื้อขายผ่าน Internet โดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายเพิ่มเติมแต่อย่างใด แต่หยุดก่อนท่านทั้งหลาย ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการซื้อขาย ที่เรียบร้อยไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง ถึงแม้ผู้ซื้อจะได้สินค้าไม่ดีก็ยอมทนรับสภาพ แต่ในชีวิตจริงมันจะเรียบร้อยเช่นนี้เสมอไปหรือ ผู้ซื้อไม่ใช่เป็นหมูทุกรายไป บางรายไม่ยอมรับของที่ไม่ได้คุณภาพ ถ้าผู้ขายไม่เปลี่ยนสินค้าให้ แต่จ่ายเงินไปแล้วก็ต้องฟ้องร้องกันบ้าง หรืออย่างบริษัท ก. สั่งซื้อวัตถุดิบจากบริษัท ข. โดยสั่งผ่าน Internet หลังจากสั่งไปแล้วยังไม่ได้รับของ บริษัท ก. ประสบปัญหาทำให้ไม่ต้องการวัตถุดิบนั้น เมื่อบริษัท ข. มาส่ง บริษัท ก. ก็ปฏิเสธว่าไม่เคยสั่ง บริษัท ข. เสียหายเพราะของที่เอามาส่งนั้น ทำให้เฉพาะกับบริษัท ก. จะเอาไปขายใครก็ไม่ได้ บริษัท ข. จึงต้องฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัท ก. บริษัท ก. ก็บอกว่าไม่เคยสั่งน่ะจะมาเอาค่าเสียหายได้ไง ที่ว่าสั่งน่ะมีหลักฐานไหม ทนายบริษัท ข. ก็หยิบดิสเกตขึ้นมาโชว์ต่อศาล นี่ไงครับหลักฐานมี e-mail ติดต่อระหว่างเรา มี record ที่บริษัท ก. สั่ง ทนายบริษัท ก. ก็หัวเราะฮ่าๆ คุณทำเอาเองหรือเปล่า แบบนี้ใครๆก็ทำได้ มีลายเซนต์ของผู้มีอำนาจของบริษัท ก. อยู่ตรงไหนในดิสเกตมิทราบ e-mail กับ record ที่คุณว่า ที่บริษัท ก. ก็ไม่มีสักหน่อย ผมบอกให้ลบไปหมดแล้ว ข้าแต่ศาลที่เคารพบริษัท ข. ขี้ตู่สร้างขึ้นมาเองทั้งนั้นครับ ถ้าท่านเป็นศาลท่านจะเวียนหัวแค่ไหน แล้วที่สำคัญกฎหมายยังบอกอีกว่า สัญญาซื้อขายสินค้าที่มีราคาตั้งแต่ 500 บาทขึ้นไป ถ้าไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด จะไปฟ้องร้องต่อศาลไม่ได้ นอกจากได้วางมัดจำ หรือได้ชาระหนี้ไปบางส่วนแล้ว จึงจะฟ้องร้องต่อศาลได้ ตามตัวอย่างบริษัท ก. กับบริษัท ข. มีสัญญาเป็นหนังสือหรือไม่ แค่นี้ก็น่าคิดแล้ว มองดูก็เหมือนเป็นหนังสือนะ เพราะอ่านได้มองอีกทีก็ไม่ใช่ เพราะมันทำขึ้นใหม่ได้และทำลายได้โดยไร้ร่องรอย จับมือใครดมไม่ได้แล้วก็ไม่มีการลงลายมือชื่อแน่นอน ดังนั้นฟ้องไม่ได้ เมื่อฟ้องไม่ได้แล้วจะทำยังไงล่ะ ปล่อยให้ไปตั้งศาลเตี้ยกันเองก็คงไม่ได้ อย่ากระนั้นเลยเรามาออกกฎหมาย ให้ครอบคลุมทุกประเด็นดีกว่า เวลามีข้อขัดแย้งกันจะได้มีหลักฐาน มีวิธีการให้ศาลสามารถตัดสินข้อขัดแย้งได้
สรุปว่าเราต้องมีกฎห มาย เพื่อให้การค้าขายผ่านอิเลกทรอนิกส์ เป็นไปอย่างเรียบร้อย และทำให้คู่ค้าสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ กฎหมายที่ต้องมีอย่างแรกก็คือ กฎหมายที่จะรองรับว่าข้อมูลดิจิตอลแบบไหน จึงจะถือว่าเป็นหนังสือหรือสามารถใช้เป็นหลักฐานในศาลได้ แล้วก็ต้องมีกฎหมายที่รับรองว่า แบบไหนจึงจะถือว่าเป็นลายเซนต์ ลายเซนต์ที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นของใคร ปลอมแปลงไม่ได้ ซึ่งนี่ก็คือประเด็นกำหมายหลักๆ ที่ต้องมี แต่ยังมีประเด็นอื่นๆอีกซึ่งผมไม่ได้ยกตัวอย่างไว้ เช่นเรื่องของการบอกว่า อันไหนเป็นต้นฉบับอันไหนเป็นสำเนา เรื่องเกี่ยวกับการชำระเงิน ทางอิเลกทรอนิกส์เป็นต้น
สุรชัย ดียิ่ง
ผู้อำนวยการ ศูนย์บริการคอมพิวเตอร์
มหาวิทยาลัยรังสิต
25 พฤศจิกายน 2541
ข้อมูลจาก http://itnet.rsu.ac.th/surachai/ecommerce2.html
]]>