<![CDATA[
ชุมชนบนโลกไซเบอร์ (Cybercommunity)
เมืองเก่ากำลังเปลี่ยนเป็นเมืองดิจิตัล (Old City VS City of Bits)
วิลเลี่ยม มิชเชล แห่ง MIT ได้กล่าวไว้ในหนังสือ City of Bits ของเขาว่า
“เป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคตจะไม่มีสำนักงานให้คนเดินทางไปทำงานอีกต่อไป” ร้านหน้งสือ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด ห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย ธนาคาร จะเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นสถานที่เสมือนบนอินเทอร์เน็ต; ระยะทางในการเดินทางอาจไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป หากความเร็วในการต่อเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตเพื่อส่งและรับข้อมูลกลับกลายเป็นปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง; การสื่อสารโดยการเห็นหน้ากัน (Face-to-Face) อาจไม่สำคัญเท่ากับการออกแบบหน้าจอส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ (User Interface) ให้ตอบสนองพฤติกรรมของผู้ใช้; คนอาจจะต้องการ Broadband ที่มีความเร็วสูงมากกว่าถนนหนทางใหญ่โต หรือการที่ต้องไปยังสถานที่นั้นๆเพื่อรับรู้หรือเรียนรู้ข้อมูลที่สำคัญอาจเปลี่ยนวิธีการมาอยู่บนอินเทอร์เน็ตเป็นส่วนใหญ่;
การปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลของคนกับอินเทอร์เน็ตมีจำนวนมากขึ้นและกลายเป็นพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Cybercommunity คืออะไร
ชุมชนที่เกิดขึ้นในอดีตมักจะเกิดจากการรวมตัวของผู้คนในสังคมที่ใกล้ชิดในด้านกายภาพทางภูมิศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นระดับหมู่บ้าน เมือง หรือภูมิภาค โดยมีวัถุประสงค์หลักในการสร้างสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนนั้นๆ
ในปัจจุบันหากจะกล่าวถึงชุมชนที่เปิดโอกาสให้สมาชิกแวะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ 365x24x60x60 (356 วัน 24 ชั่วโมง 60 นาที 60 วินาที) แล้วคงต้องบอกว่ามีแต่ชุมชนบนโลกไซเบอร์ (Cybercommunity) เท่านั้น ซึ่งหมายรวมถึงชุมชนทั้งบนอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ต ชุมชุนเสมือน (Virtual Communities) คือกลุ่มคนที่มีส่วนร่วมในด้านใดด้านหนึ่งร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงระยะทางกายภาพ ชุมชนไซเบอร์ถือได้ว่าเป็นชุมชนเสมือนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ โดยติดต่อกันออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ตหรืออินทราเน็ตด้วยศักยภาพของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ชุมชนเหล่านี้อาจมีขนาดและวัตถุประสงค์แตกต่างกัน ตั้งแต่ระดับชมรม ระดับองค์กร ไปจนถึงระดับประเทศ แต่มีแนวคิดในการสร้างหรือกำเนิดที่คล้ายคลึงกัน
แนวคิดของชุมชน (Concept of Community)
การที่กลุ่มคนเข้ามาอยู่ร่วมกันในชุมชนหนึ่งนั้น อาจเนื่องด้วยเหตุผลต่างๆกัน ตัวอย่างเช่น
– มีความสนใจร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
– มีความเชื่อหรือมีประสบการณ์ในเรื่องที่เหมือนกัน
– ความต้องการในด้านการสร้างเครือข่ายคนรู้จัก
– ความต้องการที่จะมีส่วนร่วมในชุมชนนั้นๆ
– มีความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม มีที่ยึดเหนี่ยว
– ต้องการร่วมพัฒนาและใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่เกิดขึ้นในชุมชน
ชุมชนบนโลกไซเบอร์จึงเป็นชุมชนที่มีรากฐานเพื่อสนองความต้องการและการสื่อสารแลกเปลี่ยนระหว่างสมาชิก ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วจะต้องใช้เวลาในการสร้างและเติบโตเพื่อให้เป็นชุมชนที่แข็งแกร่ง อาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่ดึงดูดให้สมาชิกเข้ามามีส่วนร่วมในชุมชนนั้นมากที่สุดขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของสมาชิกในชุมชนนั้นๆเองเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ของสมาคมวิชาชีพ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตอบคำถามสมาชิกอย่างสม่ำเสมอ ผู้เชี่ยวชาญบางคนอาจได้รับความนิยมอย่างมากกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้สมาชิกแวะเวียนเข้ามาบ่อยครั้ง หรือเว็บไซต์ของแฟนคลับต่างๆก็มักจะมีสมาชิกเข้ามาอย่างหนาแน่นและต่อเนื่องเพื่อได้รับข้อมูลข่าวสารที่จัดเตรียมไว้เฉพาะสำหรับสมาชิกและสื่อสารกับสมาชิกอื่นๆ
ชุมชนเสมือนที่สร้างขึ้นสำหรับผู้บริโภคมีลักษณะแตกต่างกันหลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการสร้างชุมชนนั้นๆ ดังจะเห็นได้จากอินเตอร์เน็ตไซต์และเว็บท่าที่มีอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นชุมชนที่เอื้อในการซื่อขายสินค้าและบริการ ชุมชนที่มีความสนใจร่วมกันเฉพาะเรื่อง ชุมชนที่ให้ผู้บริโภคสามารถสร้างสิ่งแวดล้อมและเรื่องราวที่แตกต่างจากตัวตนจริง เช่นการเล่นเกมส์ออนไลน์ หรือชุมชนที่สนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกและองค์กรหรือระหว่างองค์กร
คุณค่าของชุมชนไซเบอร์ต่อธุรกิจ (Value of Cybercommunity to Business)
คุณค่าของการสร้างชุมชนไซเบอร์ที่มีต่อธุรกิจอาจเป็นสิ่งที่เราทั้งหลายยังไม่ได้คำนึงถึงอย่างจริงจังนัก หากพิจารณาอย่างรอบคอบจะเห็นว่าการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าและสร้างกิจกรรมที่สนับสนุนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะส่งผลให้กับธุรกิจในระยะยาว ตัวอย่างประโยชน์ของชุมชนที่มีต่อธุรกิจคือ
– เป็นเครือข่ายในการสนับสนุนด้านเ
คนิค (Technical Support) สามารถให้รายละเอียดหรือคำตอบเบื้องต้นในด้านเทคนิคได้ด้วยระบบค้นหาด้วยตนเอง
– เป็นเครือข่ายในการส่งเสริมการสื่อสารระหว่างลูกค้าด้วยกัน ทำให้เกิดการแนะนำบอกต่อเป็นการทำตลาดแบบ ‘ปากต่อปาก’ ซึ่งถือว่าเป็นการตลาดที่มีพลังมาก เนื่องจากการแนะนำจากบุคคลที่เชื่อถือได้จะทำให้การตัดสินใจเกิดขึ้นได้เร็ว
– เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงและส่งเสริมด้านลูกค้าสัมพันธ์ สามารถให้บริการและรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าได้ตลอดเวลา ทำให้สามารถสร้างกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความภักดีในแบรนด์และผลิตภัณฑ์ได้อย่างต่อเนื่อง
– เป็นเครือข่ายในการสื่อสารระหว่างพนักงานในองค์กร ทุกวันนี้ผู้บริหารระดับสูงมักให้ความสำคัญกับการพัฒนาอินทราเน็ตในองค์กร เพื่อสนับสนุนการสื่อสารภายในให้มีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบางส่วน สนับสนุนการพัฒนาและเรียนรู้ออนไลน์ รวมถึงการบริหารจัดการองค์ความรู้ เนื่องจากอินเทอร์เน็ตและอินทราเน็ตเป็นเครื่องมือในการสร้าง จัดเก็บ และกระจายองค์ความรู้อย่างมีระบบ
– เป็นเครื่องมือในการทดสอบความนิยมในผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรือเก็บข้อมูลเพื่อการออกแบบพัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ในอนาคต
– เป็นเครื่องมือในการบันทึกข้อมูลที่มีประโยชน์ในด้านการตลาด โดยเฉพาะการตลาดแบบตัวต่อตัว (One-to-one marketing) ทำให้สามารถเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการได้ตรงความต้องการของลูกค้าแต่ละราย
อินเตอร์เน็ตเป็นมากกว่าสื่อ (Internet as a Place)
วันนี้อินเทอร์เน็ตไม่ได้มีความหมายแค่เป็นสื่อสมัยใหม่อีกประเภทหนึ่งอีกต่อไปแล้ว หากแต่ว่าต้องมองอินเทอร์เน็ตเป็นสถานที่ ถึงแม้จะเป็นสถานที่เสมือนแต่พฤติกรรมของผู้ใช้มีความใกล้เคียงและแตกต่างจากโลกกายภาพในหลายๆด้าน ในด้านที่ใกล้เคียงคงเป็นที่ยอมรับกันว่าอินเทอร์เน็ตได้กลายเป็นที่สังสรร สร้างสังคม สันทนาการ หาความรู้ ออกความคิดเห็น สร้างกลุ่มเฉพาะ ทำงานวิจัยร่วมกัน เปรียบเสมือนสถานที่สาธารณะที่มีขนาดใหญ่มากและผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงส่วนต่างๆของสถานที่นี้ได้ ทดแทนในอดีตที่ผู้คนมักจะรวมตัวกันในหมู่บ้าน ตลาด ร้านค้า เพื่อพบปะสนทนาแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ ขณะเดียวกันอินเทอร์เน็ตก็สร้างความแตกต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการสืบค้นข้อมูลจำนวนมหาศาลได้จากปลายนิ้วสัมผัส การติดต่อประสานงานกันได้ตลอดเวลา การทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จนถึงความสะดวกรวดเร็วในการกระจายข้อมูลและการสื่อสาร นักการตลาดสมัยใหม่จะต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมาก เนื่องจากผู้บริโภคหรือลูกค้ามีอิสระในการเลือกบริโภคข้อมูล เปรียบเทียบ และตัดสินใจได้มากกว่าเดิม
บทส่งท้าย
วันนี้หากจะสร้างชุมชนไซเบอร์ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นบนอินเทอร์เน็ตสำหรับลูกค้า ชุมชนคนเล่นเกมส์ออนไลน์ หรืออินทราเน็ตสำหรับการสื่อสารภายในองค์กร คงจะต้องเป็นนโยบายจากผู้บริหารระดับสูง มีการวางกลยุทธ์อย่างรอบคอบ และตอบคำถามเบื้องต้นต่อไปนี้ให้ได้
-เป้าหมายของชุมชนคืออะไร มีความชัดเจนในวัตถุประสงค์มากน้อยแค่ไหน
– ใครคือกล่มสมาชิกเป้าหมายและมีพฤติกรรมอย่างไร
– อะไรคือสิ่งที่จะดึงดูดสมาชิกในชุมชน เพื่อให้มีการเข้ามามีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง
– เทคโนโลยีและระบบสนับสนุนมีเพียงพอหรือไม่
– การเลือกที่ปรึกษาในการวางก
ยุทธ์ของไซต์จะเลือกอย่างไร
– หากเป็นชุมชนบนอินทราเน็ต จะมีการควบคุมอย่างไร ใครจะเป็นผู้ดูแลหรือเกี่ยวข้องในการดำเนินงานให้ชุมชนนี้สามารถเติบโตไปตามนโยบายขององค์กร
– อะไรคือตัววัดผลความสำเร็จหรือความคุมค่าของการสร้างชุมชนไซเบอร์ (Return On Investment – ROI)
บทความจาก นิตยสาร E-Commerce
http://www.ecommerce-magazine.com
]]>