e-commerce หรือ ธุรกรรมพาณิชย์ อีเล็คทรอนิกส์
คือ การดำเนินกิจการการค้าขาย ที่ใช้เครื่องมือหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วย อาทิเช่น อินเทอร์เน็ต, โทรศัพท์, วิทยุ, โทรทัศน์, แฟกซ์ เป็นต้น ทั้งในรูปแบบ ข้อความ ภาพและเสียง รวมถึงการค้าขายสินค้าและบริการ การขนส่งผลิตภัณฑ์หรือการผลิตที่เป็นเนื้อหาข้อมูลแบบดิจิตอล เพื่อมาจำหน่ายเป็นต้น
ซึ่งการทำธุรกรรมผ่านอีเล็คทรอนิกส์ มาตั้งแต่ยุค ATM ซึ่งแค่มีบัตร ATM ไปกดตู้ก็สามารถโอนเงินไปที่ต่างๆเพื่อชำระสินค้าบริการต่างๆ หรือสื่อโทรทัศน์ ที่มาโฆษณาโปรโมตสินค้าทางหน้าจอทีวี ให้เราสนใจอยากมาจับจ่ายซื้อสินค้า ซึ่งมีหลายช่องทางคือ ไปซื้อที่ร้านสะดวกซื้อ , ทางธนาณัติ , โทรสั่งซื้อสินค้าซึ่งมีบริการส่งสินค้าถึงบ้าน ในปัจจุบันนี้มีการชำระเงินผ่านบัตรเงินสด บัตรเครดิต หรือชำระเงินทางโทรศัพท์มือถือ ฯลฯ
และ ที่กำลังนิยมมากในขณะนี้คือการซื้อขายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ตนั่นเอง เพราะ การขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต เป็นประตูการขายสู่คนทั่วโลกภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว คนซื้อที่ใช้ผ่านทางออนไลน์มีอำนาจในการเลือกตัดสินใจซื้อสินค้า และแทบไม่ต้องเดินทางไปไหน แค่อยู่กับบ้านก็สามารถซื้อ-ขายกันได้ ทำให้การดำเนินการซื้อขายอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อให้เกิดรายได้ในระยะเวลาอันสั้น
E-commerce เริ่มขึ้นบนโลกครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2513 ซึ่งได้มีการเริ่มใช้ระบบโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์หรืออีเอฟที (EFT = Electronic Fund Transfer) ขณะนั้นมีเพียงบริษัทขนาดใหญ่และสถาบันการเงินที่ได้ใช้งาน ต่อมามีระบบการส่งเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อีดีไอ (EDI = Electronic Data Interchange) สามารถช่วยขยายการส่งข้อมูลจากเดิมที่เป็นข้อมูลทางการเงินอย่างเดียว เป็นการส่งข้อมูลแบบอื่นเพิ่มขึ้น เช่น การส่งข้อมูลระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ผลิต หรือผู้ค้าส่งกับผู้ค้าปลีก จากนั้น ก็มีการซื้อขายหุ้นจนไปถึงระบบที่ช่วยในการสำรองที่พัก และจนมาถึง พ.ศ.2533 เป็นปีที่เริ่มใช้อินเตอร์เน็ตเพราะคนส่วนใหญ่เริ่มใช้อินเตอร์เน็ตในการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นและเริ่มแพร่หลายจนถึงปัจจุบันนี้
คุณป้อม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ @pawoot อุปนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์ไทย สรุปสถานการณ์ e-commerce ในไทยว่า “แม้จะยังมีมูลค่าซื้อขายไม่มากนัก แต่ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก และยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ค้าอยู่”

จากสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย 2553 โดย NECTEC เกี่ยวกับการซื้อสินค้าผ่านเน็ต ในปี2553 มีการซื้อสินค้าและบริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตในสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ประโยชน์ของ e-commerce
ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้าเทียบราคาได้ง่าย ราคาถูกกว่าทั่วไป สามารถซื้อสินค้าได้ทั่วโลก สำหรับเพลงหรือหนังแบบดิจิตอลรับสินค้าได้ทันที สินค้าส่วนใหญ่จะบริการส่งถึงบ้านโดยผู้สั่งซื้อไม่ต้องออกจากบ้าน ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น ผู้ขายสามารถเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ลดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการบริหารร้านค้า จึงทำให้สามารถขายสินค้าได้ราคาถูกกว่า และยังเป็นช่องทางที่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้โดยตรง สามารถให้บริการหลังการขายให้คำปรึกษาเรื่องผลิตภัณฑ์ หรือการแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว สำรวจความต้องการของลูกค้าและการตลาดได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ผู้ขายที่อยู่ในท้องถิ่นก็สามารถขายสินค้าไปสู่เมืองใหญ่หรือทั่วโลกโดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน และเมื่อเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นเติบโต ก็ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมระดับประเทศ ประเทศก็พัฒนาไปด้วย
สินค้าแทบจะทุกอย่างสามารถขายโดย e-comerce ได้ แต่สินค้าที่เหมาะกับการขายบนธุรกิจ e-commerce เป็นพิเศษได้แก่
1. สินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด
หากคุณสามารถหาแหล่งสินค้าราคาถูกกว่าท้องตลาด นั้นหมายถึงความได้เปรียบการขาย เพราะด้วยราคาที่ถูกกว่า นั้นจะช่วยทำให้ผู้ซื้อสนใจและจดจำร้านค้าคุณได้ รวมถึงการบอกต่อไปยังคนอื่นๆ ได้อีกด้วย แต่หากคุณขายสินค้าผ่านอินเทอรเน็ตหรือเว็บไซต์เป็นหลัก คุณก็สามารถลดต้นทุนไปได้มาก
2. สินค้าเฉพาะกลุ่ม
เช่น สินค้าสำหรับคนอ้วน, สินค้าสำหรับคนท้อง, สินค้าสำหรับแม่, สินค้าสำหรับเจ้าสาว-คู่แต่งงาน, สินค้าสำหรับเกย์ หรือกระเทย เป็นต้น การจับกลุ่มลูกค้าโดยเฉพาะกลุ่ม จะทำให้เราสามารถเจาะและเข้าถึงลูกค้าเฉพาะได้ง่ายมาก โอกาสการขายก็มีมากกว่าการที่เราไปเปิดเว็บไซต์ขายของเหมือน คนทั่วไป
3. สินค้า “ไม่” ยอดนิยม
ลองหาสินค้า ที่ “ไม่ค่อยนิยม” ลองมาขายดู เช่น เปิดเว็บไซต์ ขายเทปเพลงเก่า พระเครื่อง รุ่นที่ไม่ค่อยมีคนนิยม ก็จะทำให้เว็บไซต์ ของคุณเด่น แปลก เป็นที่รู้จักได้ง่าย
4. สินค้าไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน
สินค้าบางอย่างผู้ซื้อไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน เพราะอาจจะมีความอาย หรือไม่ต้องให้ผู้ขายรู้จักหรือเห็นหน้า ดังนั้นการซื้อผ่านเว็บไซต์ หรืออินเทอร์เน็ต ดูจะเป็นช่องทางที่หลายๆ คนเลือกใช้ ในการซื้อสินค้าลักษณะนี้ เช่น ถุงยางอนามัย, อุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ, ชุดชั้นใน Sexy เป็นต้น
5. สินค้ามีสไตล์เฉพาะตัว (Unique)
เสื้อผ้า ลายผ้า ที่มีดีไซน์เฉพาะตัว, สินค้า Handmade ประเภทต่างๆ แต่ต้องสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ว่าสินค้าของเราเป็นของดี มีคุณภาพ เพราะสินค้าลักษณะนี้ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะไม่รู้จักมาก่อน หรือไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน ควรให้รายละเอียดสินค้าที่เพียงพอ ครบถ้วน
6. สินค้าที่มีน้ำหนักเบา
การขายสินค้าที่มีน้ำหนักเบา จะได้มีความได้เปรียบ ในด้านการส่งสินค้าให้ลูกค้า เพราะจะส่งได้ง่ายกว่า ประหยัดกว่า เช่น ขายสแตมป์เป็นชุด บางชุดมีราคาหลายพันบาท ส่งง่ายเพราะแค่สอดเข้าซองจดหมายก็ส่งได้แล้ว ดังนั้นสินค้าบางอย่างที่มีน้ำหนักเบา มีราคาสูง ก็อาจจะช่วยทำให้การค้าขายมีกำไรได้มาก แต่ต้องให้ความสำคัญกับการขนส่งสินค้าที่มีการลงทะเบียนช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อด้วย
7. สินค้าที่มีเรื่องราว
สินค้าหรือของที่มีเรื่องราว มีประวัติประกอบด้วย จะทำให้สินค้าชิ้นนั้นๆ มีความน่าสนใจมากขึ้น เช่น เครื่องปั้นดินเผา แต่ให้ข้อมูลและประวัติของ เครื่องปั้นดินเผาแต่ละชุดที่ขาย ซึ่งจะทำให้ เครื่องปั้นดินเผาอันนี้มีมูลค่ามากกว่า เครื่องปั้นดินเผาธรรมดาๆ ที่ขายอยู่ทั่วไป
8. สินค้าที่หายาก
เช่น พระเครื่องเก่าๆ, ของเก่า-ของสะสม เหรียญเก่าๆ หนังสือพิมพ์เก่า นิตยสารเก่า ประเภทต่างๆ เป็นต้น
จากการสำรวจกลุ่มผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย ประจำปี 2553 ในเรื่องการซื้อสินค้าและบริการที่สั่งซื้อผ่านทางอินเตอร์เน็ต ปรากฎว่ามีการสั่งหนังสือผ่านทางออนไลน์มากสูงถึง 34.7% ในขณะที่การสั่งจองบริการเป็นที่นิยมมากเช่น เช่าโฮส เช่าเนื้อที่เก็บภาพ ทั้งในและต่างประเทศ มีคนสั่งมากถึง 31.3% มีการสั่งซื้อเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกาย ถึง 26.7% นอกจากนี้ยังมีสินค้าที่สั่งซื้อทางออนไลน์เพิ่มขึ้น หลายรายการเช่น เครื่องสำอาง ยาบำรุง วิตามิน การประมูลออนไลน์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ของเล่น เป็นต้น
ข้อมูลจาก – pawoot.com