วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมาถือเป็นการเริ่มกฎหมาย e-Service อย่างเป็นทางการ ต้องบอกก่อนว่าเป็นกฎหมายที่ผมรู้สึกภูมิใจ เพราะคิดว่าตัวเองมีส่วนช่วยผลักดันกฎหมายประเภทนี้มานานมาก ผมคุยเรื่องนี้มา 5 ปีกว่าแล้ว เพราะเห็นว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ต ใช้บริการออนไลน์มากขึ้น และเราจ่ายเงินให้กับผู้ให้บริการจากต่างประเทศ เช่น Google, Facebook Ad, บริการคลาวด์, Apple ฯลฯ เราจ่ายเงินเต็มไปหมด แต่บรรดาผู้บริการต่างประเทศไม่เคยเสียอะไรให้ประเทศไทยเลย 

เมื่อ 5 ปีก่อนที่ผมพยายามเดินเรื่องกับบรรดาภาครัฐ กระทรวงพาณิชย์  คุยกับ ETDA กรมสรรพากร พยายามผลักดันทุกวิถีทาง ทั้งในนามส่วนตัวและรวมถึงสมาคมอีคอมเมิร์ซซึ่งตอนนั้นผมเป็นนายกสมาคม พยายามผลักดันเรื่องพวกนี้อย่างมากเพราะเรารู้สึกว่าไม่เป็นธรรม และถ้าเราปล่อยไว้แบบนั้นต่อไปต่างประเทศจะบุกเข้ามาในประเทศไทยและโกยเงินจากประเทศไทยออกไปหมด 

ง่าย ๆ ภาษีอีเซอร์วิส คือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับบรรดาผู้ให้บริการที่ทำธุรกิจทางด้านออนไลน์จากต่างประเทศ กฎหมายตัวนี้จะเห็นชัดมากว่า ใครก็ตามที่ทำธุรกิจอะไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ประเทศไหน แต่หากคุณมีรายได้กับคนไทยเกินปีละ 1.8 ล้านบาท คุณต้องมาเข้าระบบ ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย 

ซึ่งทางกรมสรรพากรเองก็มีการพัฒนาเรื่องกฎหมายนี้ออกมาเยอะมาก มีการทำหน้าเว็บไซต์และหน้าข้อมูลหลาย ๆ อย่าง เช่น มีหน้าเว็บไซต์ที่บริษัทใหญ่ ๆ จะเข้ามาแล้วสามารถมาสมัครทางออนไลน์ได้โดยไม่จำเป็นจะต้องมาที่ประเทศไทย เรียกว่า VES (Value-added tax on electronic services for non-residents) พูดง่าย ๆ คือการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นประชากรไทยหรือธุรกิจไทย 

ใครสนใจเข้าไปดูได้นะครับที่ https://eservice.rd.go.th สามารถรู้ได้เลยว่าปัจจุบันมีบริษัทไหนบ้างที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมสรรพากร ตอนที่ผมดูมีอยู่ 73 บริษัท จากหลายประเทศทั่วโลก เช่น Amazon, Alibaba, Tencent, Microsoft, Netflix, Linkedin, Google ที่เจ๋งมากคือ OnlyFans ก็มา DigitalOcean, Walt Disney, Slack, Facebook มาทีมาแบบ 3-4 บริษัทเลย นอกจากนี้ยังมี Zoom, Spotify, Agoda, Huawei, Airbnb, TikTok, LINE, Twitter ฯลฯ จะเห็นว่าเป็นชื่อบริษัทต่าง ๆ ที่เราคุ้นเคย เขาได้เงินเขาได้จากเราไปเยอะเลยทีเดียว 

ผมแบ่งเป็นประเทศ ๆ ต้นทางของบริษัทเหล่านั้นส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทจากอเมริกาประมาณ 20% จากสิงคโปร์ประมาณ 20% แต่อันดับ 3 คนทั่วไปคงงงเพราะเป็นบริษัทที่มาจากประเทศไอร์แลนด์อยู่ในฝั่งยุโรปนั่นเพราะเป็นฐานทัพของบริษัทระดับโลกในการตั้งบริษัทที่นั่นเพื่อได้สิทธิพิเศษทางภาษี ฉะนั้นจะมีหลายประเทศที่เริ่มเข้ามาในกฎหมายตัวนี้แล้ว 

ผมมีโอกาสคุยไลฟ์กับ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร และคุณหนุ่ย แบไต๋ คุยกันก็ทราบว่าทางกรมสรรพากรเองคาดหวังเป้าหมายของรายได้ที่จะเกิดขึ้นจากบริษัทข้ามชาติเหล่านี้ประมาณการไว้ที่ประมาณ 500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรูปแบบง่าย ๆ เช่น เมื่อก่อนเราเคยจ่ายเฟซบุ๊ก 100 บาท การจัดการก็แล้วแต่ว่าผู้ให้บริการเหล่านั้น ซึ่งตอนนี้จะมี 2 แบบ คือ 1.เขาอาจจะผลักภาระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับผู้บริโภค หรือ 2.บางบริการที่ผมเห็นบางตัว เช่น Spotify ก็ให้จ่ายเท่าเดิมแต่เขาจะรับภาษีนี้เอง แบบนี้ภาระจะไม่ตกอยู่ที่ผู้บริโภค 

ข้อดีของภาษีนี้คือจะเหมาะกับธุรกิจต่าง ๆ ที่ซื้อโฆษณา Facebook หรือ Google ฯลฯ เมื่อก่อนไม่เคยหักภาษีได้ ตอนนี้สามารถเอาภาษีนั้นไปหักได้ ทำให้เข้าสู่ระบบครบมากขึ้นกับคนที่ทำธุรกิจ แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาอาจมีภาระขึ้นเล็กน้อยในแง่ 7% ที่เกิดขึ้น หากมองภาพรวมข้อดีคือ เราเริ่มเก็บภาษีได้แล้ว แต่ในนั้นจะมีทั้ง 2 อย่างคือ 1. บางอย่างอาจจะถูกผลักภาระไปที่ผู้บริโภคคนไทยรับ 7% ไป หรือ 2.บางส่วนคือบริษัทต่าง ๆ เป็นคนรับไป 

แต่สิ่งที่ผมสนใจมากจากคุยกับท่านอธิบดีกรมสรรพากร และผมสนใจและเฝ้าดูมาตลอด 5-6 ปีนี้คือ ผมอยากรู้ว่าประเทศไทย คนไทยจ่ายเงินออกไปยังผู้บริการออนไลน์ทั้งหมดเท่าไหร่ กี่บาท เราไม่เคยมีตัวเลขนี้เลย ประเทศไทยเราขาดดุลการค้าดิจิทัลปีหนึ่งกี่หมื่นล้านบาท ไม่ว่าจะเป็น Facebook Ad ซื้อโฆษณา ซื้อพื้นที่ Google พื้นที่ iPhone มี iCloud ฯลฯ เราจ่ายกันไปเท่าไหร่ หาก 1 แสนคนเราจ่ายไปคนละ 100 บาท/ปี ก็เเท่ากับ 10 ล้านบาทแล้ว แต่ผมว่ามันเยอะกว่านั้นะ 

การที่มีภาษีอีเซอร์วิสนี้เกิดขึ้น ในมุมหนึ่งที่ผมคาดหวังมากก็คือ เราจะเริ่มเห็นตัวเลขจริง ๆ แล้ว เพราะต่อไปเขาต้องมาชี้แจงเรื่องภาษีที่เก็บไปจากคนไทย 7% เราจะเริ่มรู้ตัวเลขจริงจังว่าบริษัทต่างชาติทั้งหลายเขาเอาเงินจากเมืองไทยไปเท่าไหร่ ซึ่งตรงนี้ไม่เคยมีมาก่อน 

นี่เป็นจุดเริ่มต้นจุดแรกที่จะพาไปสู่จุดต่อไป เมื่อก่อนเราไม่เคยเอาตัวเลขการขาดทุนทางดิจิทัลเข้าไปรวมอยู่ในตัวเลข GDP หรือตัวเลขของภาครัฐเลย มันควรถูกนำไปรวมให้เห็นว่าการขาดทุนของประเทศไทยน่าจะมากกว่าที่เห็น ท่านอธิบดีเองก็ได้บอกว่ามันไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น ในกลุ่มประเทศผู้นำโลก กลุ่ม G7 ก็เริ่มมีการพูดคุยกันถึงเรื่องการเก็บภาษีตรงนี้ว่าต้องมีการเอาภาษีกลับมาลงในประเทศที่ไปทำรายได้ด้วยเหมือนกัน ประเทศไทยก็ถือว่าเราทำงานล่วงหน้าในระดับหนึ่งเลยทีเดียว 

เมื่อตัวเลขนี้เปิดออกมาแล้ว นอกเหนือจากสิ่งที่พูดไปแล้ว ข้อมูลตัวเลขเหล่านี้จะทำให้มองเห็นว่า หนึ่ง คนไทยจ่ายอะไรออกไปบ้าง ตรงนี้คือโอกาสให้เอกชนหรือภาครัฐได้เห็นว่า บริการพวกนี้ในแง่เอกชนทำไมเราไม่ทำแข่งในบริการที่ทำได้ ทำไมเราไม่ทำแพลตฟอร์มมาอุดช่องว่างตรงนี้ เราปล่อยให้เงินไหลออกไปทำไมในเมื่อบางอย่างเรามีความได้เปรียบที่จะเข้าไปทำบริการในลักษณะเดียวกัน เพื่อทำให้เงินมันยังอยู่ในประเทศ

สอง เมื่อรัฐเห็นว่าเงินไหลออกไปเยอะ อาจจะเริ่มมีการพูดคุยหรือจับมือร่วมกับหน่วยงานเอกชนไทย เช่น คุยกับหอการค้าเกี่ยวกับเรื่องสภาดิจิทัล ลองติดต่อทำความร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใญ่เหล่านั้นว่ามาตั้งบริษัทในไทย มาจ้างคนในประเทศไทย เมื่อมีการตั้งบริษัท

1.จะเกิดการจ้างคนในประเทศ การเชิญจากรัฐบาลผมว่ามันจะมีน้ำหนักมากขึ้น

2.เมื่อมีการจ้างคนเงินก็จะหมุนเวียนอยู่ในประเทศ

3.เราจะได้ Knowledge Transfer  หากมีบริษัทเก่ง ๆ เข้ามาแล้วคนไทยไปทำงานกับเขา ได้ความรู้ ได้ know how คนไทยอาจจะออกมาเปิดเอง มาทำเอง เราก็จะมีคนเก่งในแวดวงพวกนี้มากขึ้นได้ 

ภาษีอีเซอร์วิสเป็นก้าวแรกที่ทำให้เราตัวเลขการขาดดุลทางการค้าด้านดิจิทัลชัด ๆ ผมเชื่อว่าต่อ ๆ ไปเราจะมีมาตรการหลาย ๆ อย่างตามออกมา อาจจะดูว่าเมื่อกฎหมายนี้ออกมาภาระบางส่วนจะมาอยู่ที่ผู้บริโภค แต่ก้าวต่อไปผมเชื่อว่าเมื่อตัวเลขมันขึ้นมาแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเกิดขึ้น

ตัวอย่างบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติที่น่าสนใจที่ตั้งอยู่ในไทยนานแล้วก็คือ บริษัท LINE ประเทศไทย ผู้บริหารสมัยแรกเป็นคนไทยก็คือคุณบี๋ อริยะ พนมยงค์ LINE ประเทศไทยเป็นบริษัทรายแรก ๆ ที่นำรายได้มาลงประเทศไทย และไลน์ประเทศไทยมีการจ้างคนไทยหลายร้อยคนเลยทีเดียว เป็นตัวอย่างบริษัทข้ามชาติที่มาตั้งในไทย มีผู้บริหารคนไทย มีการเสียภาษีให้คนไทยอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ซึ่งผมอยากให้ Facebook, Google, Microsoft, Apple ฯลฯ ทำแบบนี้ในประเทศไทยมากขึ้น 

ผมฝากท่านที่มีโอกาสได้เป็นผู้บริหารบริษัทข้ามชาติ ถ้าสามารถต่อสู้เพื่อชาติไทยให้รายได้บางอย่างที่สามารถมาบันทึกลงในประเทศไทยได้ ให้เกิดการจ้างงาน หรือบางทีบริษัทข้ามชาติมีพนักงานแต่ใช้วิธีการจ่ายเงินเดือนจากบริษัทต่างชาติ พนักงานเหล่านั้นจะไม่ถูกคำนวณภาษีหรือเสียภาษีเงินได้ให้ประเทศไทยเลย นั่นคือความน่ากังวล

ถ้าท่านใดมีโอกาสผมอยากให้ทำตามอย่างอย่างผู้บริหาร LINE ประเทศไทย ที่พยายามต่อสู้เพื่อเอาเม็ดเงินลงมาในประเทศไทย การจัดจ้างในประเทศไทย การเช่าออฟฟิศสำนักงานในประเทศไทย ตรงนี้แหละครับมันจะทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศโดยมากขึ้นด้วยเช่นกัน